บึงกุ่มยกต้นแบบคัดแยกขยะไอพีดีแพคเกจจิ้ง คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างชีวาทัย ฮอลล์มาร์ค เอกมัย-รามอินทรา ตัดริบบิ้นเปิดสวนสำนักงานเขต พร้อมปลูกต้นกุ่มบกริมรั้ว จัดสรรงบฯ ปรับปรุงอาคารสงเคราะห์บึงกุ่ม

(3 มี.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบึงกุ่ม ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท ไอพีดี แพคเกจจิ้ง จำกัด ซอยนวมินทร์ 135 เป็นบริษัทผลิต ส่งออก ขายส่ง สินค้าประเภทกล่องพลาสติกบรรจุอัญมณี ปากกา นาฬิกา และอื่นๆ พื้นที่ 10 ไร่ มีบุคลากร 1,400 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังขยะรองรับเศษอาหาร ซึ่งร้านค้าในบริษัทฯ จะคัดแยกเศษอาหาร นำไปเทในถังขยะ เพื่อรอรับเกษตรกรมารับไปเลี้ยงหมู เป็นประจำทุกวัน โดยมีจุดพักอยู่บริเวณโรงอาหาร 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งจุดรองรับขวดพลาสติก บริจาคให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อไปจัดทำเป็นเสื้อกันหนาวให้เด็กในโครงการ Green office โดยให้พนักงานของไอพีดี ได้มีส่วนรวมในโครงการโดยการคัดแยกขวดน้ำดื่ม 1 เดือน/ครั้ง โดยมีจุดพักอยู่บริเวณโรงอาหาร มีห้องพักขยะรีไซเคิล เป็นขยะที่สามารถคัดแยกรีไซเคิลได้ เช่น กระดาษ เศษเหล็ก เศษพลาสติก จำหน่ายให้บริษัท วงษ์พาณิชย์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 12 ครั้ง/เดือน 3.ขยะทั่วไป เป็นขยะที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค เช่น ถุงอาหาร ถุงขนม แก้วน้ำ โดยตั้งวางถังขยะตามจุดที่บริษัทกำหนด จัดเก็บทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น มีถังขยะแบบอัด ที่เขตฯติดตั้งไว้ เขตฯ จัดเก็บ 1 ครั้ง/สัปดาห์ 4.ขยะจากกระบวนการผลิต เป็นขยะที่เกิดในกระบวนการผลิต เช่น เศษกระดาษ เศษผ้า เศษฟองน้ำ ที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ส่งกำจัดตามกฎหมายการจัดการสิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้ว กับทางบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน โดยส่งกำจัด 6-7 เที่ยว/เดือน (ส่งรวมกับขยะอันตราย) 5.ขยะอันตราย เป็นขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิต ที่มีการปนเปื้อนสารเคมี ปนเปื้อนกาว ภาชนะปนเปื้อน กระป๋องสเปรย์ ตะกอนกาว ส่งกำจัดตามกฎหมายการจัดการสิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้ว กับทางบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน โดยส่งกำจัด 6-7 เที่ยว/เดือน (ส่งรวมกับขยะจากกระบวนการผลิต) 6.ขยะติดเชื้อ ตั้งวางถังขยะรองรับขยะติดเชื้อ โดยคัดแยกนำไปทิ้งในถังที่เตรียมไว้สำหรับขยะติดเชื้อ จัดเก็บโดยศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองกาญจนวาส สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดเก็บ 1 ครั้ง/สัปดาห์ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 190 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 800 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะจากกระบวนการผลิตก่อนคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 700 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0.0667 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.0667 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการชีวาทัย ฮอลล์มาร์ค เอกมัย-รามอินทรา โดยมี บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ค.ส.ล. ความสูง 1 ชั้น จำนวน 3 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษหินดินทรายตกค้าง ตรวจสอบพื้นทางเข้าออกด้านหน้าโครงการไม่ให้มีเศษดินโคลน ล้างล้อรถบรรทุกก่อนออกโครงการ จัดทำรั้วทึบโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเปิดตลอดเวลาการทำงาน ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 บริเวณด้านหน้าทางเข้าออกโครงการให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณสำนักงานเขตบึงกุ่ม ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ว่างด้านหน้าริมรั้วข้างประตูทางเข้าสำนักงานเขต ปูหญ้า วางแผ่นหินทางเดิน ปลูกไม้พุ่ม แขวนกระถางไม้ประดับริมรั้ว ตั้งวางม้านั่ง ปรับปรุงน้ำตก รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน เช่น ต้นกุ่ม ต้นศรีตรัง ต้นพระเจ้าห้าพระองค์ ต้นสัก ต้นรวงผึ้ง ต้นปีบ ต้นปาล์มน้ำมัน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตัดริบบิ้นเปิดสวนสำนักงานเขตบึงกุ่ม จากนั้นปลูกต้นกุ่มบก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอย พื้นที่ 6 ไร่ 2.สวนหมู่บ้านเสริมมิตร พื้นที่ 79 ตารางวา 3.อุทยานบึงบัวบึงกุ่ม พื้นที่ 11 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนโรงเรียนวัดนวลจันทร์ พื้นที่ 450 ตารางเมตร 2.สวนหมู่บ้านทวีสุข-นาริสา ด้านหน้าทางเข้าสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก พื้นที่ 216 ตารางเมตร 3.สวนริมคลองลำพังพวย ซอยนวมินทร์ 53 (หน้าร้านนิตยาไก่ย่าง) พื้นที่ 550 ตารางเมตร 4.สวนสำนักงานเขตบึงกุ่ม พื้นที่ 760 ตารางเมตร 5.สวนริมบึงพังพวย พื้นที่ 666 ตารางเมตร 6.สวนโพธิ์แก้ว พื้นที่ 166 ตารางเมตร 7.สวนริมคลองบางเตย (หลังวัดบางเตย) ซอยนวมินทร์ 58 พื้นที่ 190 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในพื้นที่ และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

ติดตามการดำเนินการปรับปรุงอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร (บึงกุ่ม) สำหรับแผนการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารสงเคราะห์ ดังนี้ ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2567 สำนักงานการเจ้าหน้าที่จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงและซ่อมแซม โดยโอนงบประมาณให้สำนักการโยธาและสำนักงานเขต จากนั้นประชุมและลงพื้นที่อาคารสงเคราะห์ร่วมกับสำนักการโยธาและสำนักงานเขต เพื่อกำหนดรายละเอียดในการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารสงเคราะห์ ช่วงเดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 สำนักการการเจ้าหน้าที่ สำนักการโยธาและสำนักงานเขต ประชุมชี้แจงแนวทางการปรับปรุงอาคารสงเคราะห์ เพื่อให้ผู้พักอาศัยทราบ เตรียมการขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของ ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2568 ผู้พักอาศัยขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของออกจากห้องพักอาศัย จากนั้นสำนักงานการเจ้าหน้าที่ ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักการโยธาและสำนักงานเขต ดำเนินการปรับปรุง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม 2568 สำนักการโยธาและสำนักงานเขต เข้าดำเนินการปรับปรุงอาคารสงเคราะห์ ปัจจุบันเขตฯ อยู่ระหว่างปรับรูปแบบและแผนการปรับปรุงอาคารสงเคราะห์บึงกุ่ม เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในอาคารสูง ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ส่วนสำนักการโยธา ดูแลเรื่องระบบดับเพลิง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีหนังสือยินยอมการรับโอนงบประมาณในการปรับปรุงอาคารสงเคราะห์บึงกุ่ม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดทำข้อมูลรายละเอียดในการปรับปรุงอาคารสงเคราะห์บึงกุ่ม ได้แก่ ท่อน้ำดี ท่อน้ำเสีย ทาสีอาคาร ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสุขาภิบาล พื้นด้านนอกอาคาร พื้นด้านในอาคาร โดยแบ่งเป็นส่วนเดิมที่ยังสามารถใช้งานได้อยู่ กับส่วนใหม่ที่รื้อออกและเปลี่ยนใหม่ โดยนำเข้าที่ประชุมพิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความปลอดภัยแก่ผู้พักอาศัยในอาคารสงเคราะห์ดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 84 ราย ได้แก่ 1.ซอยนวลจันทร์ 18-64 ถนนนวลจันทร์ ผู้ค้า 34 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.หน้าตลาดอินทรารักษ์ ซอยนวมินทร์ 73-77 ถนนนวมินทร์ ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-23.00 น. 3.ซอยเสรีไทย 9-11 ถนนเสรีไทย ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-23.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยประเสริฐมนูกิจ 33, 36, 42 ถนนประเสริฐมนูกิจ ผู้ค้า 10 ราย ยกเลิกวันที่ 25 สิงหาคม 2567 2.หน้าบริษัทสยามกีฬา ซอยรามอินทรา 40 ผู้ค้า 12 ราย ยกเลิกวันที่ 30 เมษายน 2567 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ในการนี้มี นางสาวเบญจพร ศักดิ์เรืองแมน ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบึงกุ่ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200