นับถอยหลัง 17 มีนาคมนี้ ปิดฉากแผงค้าหน้าตลาดคลองเตย 1 ปรับโฉมทางเท้าจากถนนรัชดาภิเษก ถนนพระรามที่ 4 ถึงถนนสุนทรโกษา 

 

 

(1 มี.ค. 68) เวลา 09.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจความพร้อมเตรียมการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณหน้าตลาดคลองเตย 1 เขตคลองเตย และแผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าบริเวณถนนรัชดาภิเษก พร้อมทั้งเดินตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทางเท้าที่ปรับปรุงใหม่ ตั้งแต่หน้าศูนย์ฮอนด้า ถนนพระรามที่ 4 ผ่านทางเข้าตลาดคลองเตย จนถึงหน้าตลาดคลองเตย 2 โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาวเกศจริน สามิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตคลองเตย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

 

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ พร้อมด้วยรองปลัดฯ ศุภกฤต ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่บริเวณหน้าตลาดคลองเตย 1 เขตคลองเตย เพื่อตรวจความพร้อมเตรียมการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณดังกล่าว รวมถึงมอบหมายภารกิจของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบตามแผนปฏิบัติการรื้อถอนโครงสร้างหน้าตลาดคลองเตย 1 เพื่อดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าถนนรัชดาภิเษกต่อเนื่องถนนพระรามที่ 4 จนถึงถนนสุนทรโกษา ในวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2568 ปัจจุบันบริเวณหน้าตลาดคลองเตย 1 ตั้งแต่ศาลเจ้ามังกรเขียวถึงถนนพระรามที่ 4 ตัดถนนรัชดาภิเษก มีผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน เช่น เกาเหลาเลือดหมู ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ขนมหวาน ผักสด ผลไม้ ซึ่งร้านที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จจะมีการล้างวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร ล้างภาชนะถ้วยชาม แก้วน้ำ และเทน้ำทิ้งลงในท่อระบายน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาไขมันอุดตันในท่อระบายน้ำ บางร้านมีน้ำขังไหลเจิ่งนองออกมาบนพื้นที่ทางเท้า ก่อให้เกิดความสกปรกจากคราบน้ำมันและเศษอาหาร เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล อีกทั้งก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์แก่ประชาชนผู้ที่ใช้ทางเท้าในการสัญจร 

 

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ค้า เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้า และความจำเป็นในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ซึ่งกรุงเทพมหานครมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าหน้าตลาดคลองเตย 1 ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่สี่แยกคลองเตย จนถึงห้าแยก ณ ระนอง เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะร่วมกัน อีกทั้งเพื่อให้การปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเท้าต่อเนื่องกับตลาดลาว ถนนพระรามที่ 4 และหน้าตลาดคลองเตย 2 ถนนรัชดาภิเษก ที่ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเท้าเมื่อเดือนธันวาคม 2567 และเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยให้ผู้ค้าย้ายเข้าไปทำการค้าในตลาดคลองเตย 1 ตลาดคลองเตย 2 และตลาดใกล้เคียง ซึ่งผู้ค้าจะต้องเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและเคลื่อนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดออกจากตลาดให้แล้วเสร็จ ภายในวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2568 จากนั้นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย อาทิ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตคลองเตย จะเข้าพื้นที่ดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างหน้าตลาดคลองเตย 1 เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าให้เป็นระเบียบสวยงาม ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

 

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าบริเวณตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 เขตคลองเตย สำนักการโยธาได้ดำเนินแล้วเสร็จ โดยจัดทำทางเท้าใหม่ตั้งแต่ทางเข้าตลาดคลองเตยถึงหน้าตลาดคลองเตย 2 ความยาวต่อเนื่องพร้อมทั้งยกระดับพื้นทางเท้าครอบคลุมจุดเชื่อมต่อระบบระบายน้ำ ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้ปรับปรุงจุดเชื่อมต่อระบบระบายน้ำระหว่างคลองไผ่สิงโตกับคลองหัวลำโพงและก่อสร้างประตูระบายน้ำใหม่ นอกจากนี้สำนักการโยธาได้ปรับปรุงทางเท้าตั้งแต่ทางเข้าตลาดคลองเตยจนถึงหน้าศูนย์ฮอนด้า ถนนพระรามที่ 4 เพื่อให้การปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเท้าต่อเนื่องกับตลาดลาว ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าบริเวณหน้าตลาดคลองเตย 2 ถนนรัชดาภิเษก สำนักการโยธาดำเนินการแล้วเสร็จเช่นกัน จากการตรวจความเรียบร้อยของทางเท้าที่ได้ปรับปรุงใหม่ ได้กำชับให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า ตรวจสอบไม่ให้น้ำจากการประกอบกิจการ เช่น ร้านขายปลา ร้านขูดมะพร้าว ร้านขายผัก ร้านดอกไม้ ไหลนองลงมาในพื้นที่ทางเท้า 

 

ปัจจุบันเขตคลองเตย มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 96 ราย ดังนี้ 1.ถนนดวงพิทักษ์ ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 16 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.แยกกล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 4.ซอยสุขุมวิท 50 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 5.ปากซอยสุขุมวิท 4 ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 6.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่งขวา เอสโซ่) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 1 จุด คือตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ผู้ค้า 91 ราย ยกเลิกวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 42 ราย ดังนี้ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองเตย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 2.ซอยไผ่สิงโต ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 3.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่ง BMW) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 4.ปากซอยแสนสุข ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าทางเข้าห้างโลตัส ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย 2.หน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 5 ราย นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์อาหารถนอมมิตร ถนนพระรามที่ 4 รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 2.ศูนย์อาหารพระราม 4 พลาซ่า รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. และ 14.00-22.00 น. จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของตลาดกำหนด 

 

#เศรษฐกิจดี #เดินทางดี #ปลอดภัยดี

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200