
(1 มี.ค. 68) เวลา 08.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจความคืบหน้าการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าถนนพระรามที่ 6 ถนนจารุเมือง บริเวณลานใต้ทางด่วนและทางเท้าถนนพระรามที่ 6 เขตปทุมวัน โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายอิทธิพล อิงประสาร ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า ในช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าถนนพระรามที่ 6 ถนนจารุเมือง บริเวณลานใต้ทางด่วนและทางเท้าถนนพระรามที่ 6 เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ต่อเนื่องจากวันที่ 21 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านทาง Traffy Fondue ถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีรถเข็นจอดขายอาหารตามสั่งและขายก๋วยเตี๋ยว ตั้งวางโต๊ะเก้าอี้บนทางเท้าถนนพระรามที่ 6 มีการประกอบอาหารซึ่งก่อให้เกิดความสกปรกจากคราบน้ำมันและเศษอาหาร รวมถึงก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์บนพื้นทางเท้า มีการล้างทำความสะอาดภาชนะประกอบอาหาร จานชาม แก้วน้ำ และเทน้ำทิ้งลงในท่อระบายน้ำริมถนนพระรามที่ 6 ซึ่งเขตฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้ารับทราบถึงหลักเกณฑ์ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า พื้นที่ดังกล่าวมีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 39 ราย ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันออก 35 ราย ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันตก 4 ราย แบ่งเป็นผู้ค้ากลางวัน 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. ผู้ค้ากลางคืน 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-02.00 น. จากการตรวจสอบพื้นที่ทำการค้าดังกล่าวไม่ตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าที่กำหนด เขตฯ ได้พิจารณายกเลิกพื้นที่ทำการค้าถนนพระรามที่ 6 ทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้า 39 ราย ภายในเดือนเมษายน 2568 โดยกำหนดระยะเวลา 2 เดือน เพื่อให้ผู้ค้าย้ายไปทำการค้าในตลาดนัดเอกชนหรือพื้นที่ทำการค้าใกล้เคียงต่อไป
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้บริเวณลานใต้ทางด่วน ตั้งแต่แยกพงษ์พระรามถึงแยกมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้เปิดพื้นที่ให้เช่าเพื่อประกอบกิจการและให้ส่วนราชการได้ใช้ประโยชน์ ตามแนวใต้ทางด่วนที่ทับซ้อน ถนนพระรามที่ 6 เขตปทุมวัน ระยะทางประมาณ 850 เมตร จำนวน 34 ล็อค เป็นจุดจอดรถบัสของผู้ประกอบการเดินรถรับส่งนักท่องเที่ยว และรถขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการจะนำแผ่นเหล็กมาทำทางลาดสำหรับให้รถบัสและรถขนส่งขึ้นลงบนทางเท้า เพื่อเข้าไปยังลานจอดรถใต้ทางด่วน จากการตรวจสอบพบว่าพื้นทางเท้าเกิดการชำรุดแตกร้าว คันหินทางเท้าได้รับความเสียหาย อีกทั้งพื้นทางเท้าเป็นรอยจากการลากแผ่นเหล็กขึ้นลงบนทางเท้า ที่ผ่านมาเขตฯ ได้พิจารณาดำเนินการตามพ.ร.บ. จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ดังกล่าว ให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเขตฯ ได้ดำเนินการเปรียบเทียบคดีเป็นพินัย ตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ดังนี้ ตามมาตรา 20 (1) จำหน่ายสินค้าบนถนน จำนวน 21 คดี เป็นเงิน 15,500 บาท ตามมาตรา 39 ติด ตั้ง ตาก วางสิ่งใด ๆ บนถนน จำนวน 25 คดี เป็นเงิน 27,500 บาท ตามมาตรา 17 (2) ขับขี่รถยนต์/รถจักรยานยนต์บนทางเท้า จำนวน 5 คดี เป็นเงิน 3,000 บาท รวมทั้งสิ้น 51 คดี เป็นเงิน 46,000 บาท รวมถึงได้ตรวจสอบและส่งดำเนินคดีตามพ.ร.บ.สาธารณสุขฯ ดังนี้ ประกอบกิจการสถานที่จำหน่ายอาหาร จำนวน 10 ราย ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จำนวน 9 ราย รวมทั้งหมด 19 ราย
ปัจจุบันเขตปทุมวัน มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 13 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 222 ราย ดังนี้ 1.ซอยร่วมฤดี ผู้ค้า 5 ราย 2.ซอยปลูกจิต ผู้ค้า 24 ราย 3.ซอยโปโล ผู้ค้า 3 ราย 4.สะพานหัวช้าง ถนนพระรามที่ 1 ผู้ค้า 6 ราย 5.ข้างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ผู้ค้า 99 ราย 6.ซอยเกษมสันต์ 3 ผู้ค้า 3 ราย 7.ซอยจุฬาลงกรณ์ 4 ผู้ค้า 7 ราย 8.ซอยเกษมสันต์ 1 ผู้ค้า 6 ราย 9.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันออก ผู้ค้า 35 ราย 10.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันตก ผู้ค้า 4 ราย 11.ถนนพระรามที่ 6 หน้าส.โบตั๋น ผู้ค้า 6 ราย 12.ถนนจรัสเมือง ตรงข้ามสีตบุตร ผู้ค้า 16 ราย 13.ถนนจรัสเมือง หน้าแฟลตรถไฟ ผู้ค้า 8 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือหน้าวัดดวงแข ผู้ค้า 38 ราย นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดประตู 5 สวนลุมฯ ผู้ค้า 108 ราย 2.ตลาดหัวมุมแยกราชดำริ ผู้ค้า 14 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนรองเมือง (ริมรั้วรถไฟ) ผู้ค้า 4 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2567 2.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 24 ราย ยกเลิกวันที่ 30 เมษายน 2567 ในปี 2568 ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยต้นสน ผู้ค้า 17 ราย 2. หน้าห้างสยามสเคป ถนนพญาไท ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 ส่วนรอบศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ ผู้ค้า 3 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการยกเลิก รวมถึงยกเลิกพื้นที่รอประกาศให้เป็นพื้นที่ทำการค้า จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.บริเวณตลาดโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ ผู้ค้า 20 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2567 2.ถนนสารสิน ผู้ค้า 25 ราย ยกเลิกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 3.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 34 ราย ยกเลิกวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ในปี 2568 เขตฯ จะยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันออก ผู้ค้า 35 ราย 2.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันตก ผู้ค้า 4 ราย กำหนดยกเลิกเดือนเมษายน 2568
#เศรษฐกิจดี #เดินทางดี #ปลอดภัยดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)