(25 ก.พ. 68) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตห้วยขวาง ประกอบด้วย

ติดตามการจัดทำ Hawker Center บริเวณอาคารปรีชาคอมเพล็กซ์ ซอยรุ่งเรือง ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเขตฯ ได้ประสานพื้นที่เอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center สามารถรองรับผู้ค้าได้ 25 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด โดยเปิดทำการค้าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ที่ผ่านมา เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดนัดกลางซอย 6 ถนนพระราม 9 รองรับผู้ค้าได้ 80 ราย 2.ตลาดเมืองไทยภัทร ถนนรัดาภิเษก รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย 3.ตลาด 9 Yards ถนนจตุรทิศ รองรับผู้ค้าได้ 160 ราย 4.อาคารปรีชาคอมเพล็กซ์ ซอยรุ่งเรือง ถนนรัชดาภิเษก รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย ซึ่งทั้ง 4 แห่งเป็นพื้นที่เอกชน จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 76 ราย ดังนี้ 1.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร/ซอยอุดมสุข ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-22.00 น. 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา/เมืองไทยภัทร ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 3.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) หน้าเบสเฮ้าส์อพาร์ทเม้นต์ ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-22.00 น. 4.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) หน้าศูนย์โตโยต้า ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 5.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคารสหพัฒน์/อาบอบนวด ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 6.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) ซอยเพชรบุรี 38 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 7.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) วัดใหม่ช่องลม/อิตัลไทย ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. ที่ผ่านมา เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 6 จุด ได้แก่ 1.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT รัชดาภิเษก ผู้ค้า 6 ราย 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT ห้วยขวาง ผู้ค้า 11 ราย 3.ถนนพระราม 9 ซอย 5 ผู้ค้า 6 ราย 4.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคาร MSIG ผู้ค้า 5 ราย 5.ถนนเทียมร่วมมิตร (ขาออก) ผู้ค้า 7 ราย 6.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 8 ราย นอกจากนี้เขตฯ ได้ยุบรวมจุดทำการค้า 1 จุด คือถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร/ซอยอุดมสุข ผู้ค้า 30 ราย ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนประชาอุทิศ ซอยประชาอุทิศ 17 ผู้ค้า 12 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 2.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซอยรุ่งเรือง ผู้ค้า 10 ราย ยกเลิกวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 นอกจากนี้ เขตฯ จะพิจารณายกเลิกจุดทำการค้าที่มีจำนวนผู้ค้าน้อยรายอีก 5 จุด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท โออาร์ซีพรีเมียร์ จำกัด (ORC) ซอยรัชดาภิเษก 18 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำด้านหน้าทางเข้า-ออกแพลนท์ปูน และพื้นที่โดยรอบให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปรับปรุงบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนที่ผ่านเข้า-ออกแพลนท์ปูน รวมถึงทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษฝุ่นตกค้าง ปรับปรุงพื้นด้านให้ราบเรียบและมีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแอ่งน้ำขัง ตรวจสอบบ่อคายกากคอนกรีต บ่อตกตะกอน บ่อบำบัด ไม่ให้มีเศษปูนล้นออกมานอกบ่อ ตรวจวัดค่าควันดำรถโม่ปูนตามรอบที่กำหนดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ เขตฯ ได้ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทอู่พ่นสียานยนต์ 15 แห่ง ประเภทโรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ 2 แห่ง ประเภทผลิตเฟอร์นิเจอร์ 4 แห่ง ประเภทผลิตพลาสติก 9 แห่ง ประเภทเลื่อย ไส ซอยไม้ 1 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 13 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนราษฎร์บำเพ็ญ พื้นที่ 1 งาน 20 ตารางวา 2.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเทียนร่วมมิตร พื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา 3.สวนพรรณภิรมย์ พื้นที่ 13 ไร่ 25 ตารางวา 4.สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์ พื้นที่ 9 ไร่ 38 ตารางวา 5.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พื้นที่ 3 งาน 69 ตารางวา 6.สวนหย่อมประชาอุทิศ พื้นที่ 80 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนป่าใต้ทางด่วนพระราม 9 ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ 7 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา 2.สวนอยู่เจริญภิรมย์ พื้นที่ 2 งาน 42 ตารางวา 3.สวนหย่อมพระราม 9 แยก 11 พื้นที่ 3 งาน 4.สวนสบายใจข้างฝ่ายทะเบียนเขตห้วยขวาง พื้นที่ 22 ตารางวา 5.สวนหย่อมบ้านหนังสือชุมชนทับแก้ว พื้นที่ 1 งาน 91 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบสวน 6.สวนศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ พื้นที่ 1 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนหย่อมหลังไปรษณีย์ห้วยขวาง พื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 11 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบสวน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ ตลอดจนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดทำสวน 15 นาทีอย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนทับแก้ว พื้นที่ 8,354 ตารางเมตร ประชากร 650 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ โดยนำไปทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล กำหนดจุดรวมทิ้งขยะรีไซเคิล สำหรับประชาชนในชุมชน โดยจัดทำเป็นธนาคารขยะในชุมชน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บ 2 ครั้ง/สัปดาห์ 4.ขยะอันตราย กำหนดจุดรวมทิ้งขยะอันตรายของชุมชน แจ้งเขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 21,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 16,530 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,380 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 2,800 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
ในการนี้มี นายสมบัติ เครือกีรติธรรม ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)