(10 ก.พ. 68) เวลา 13.15 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตหลักสี่ ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกขนส่งยาคูลท์ โดยเขตฯ ร่วมกับบริษัทฯ ได้ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียง ระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกขนส่งตามรอบที่กำหนดเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สถานประกอบการ/โรงงาน 2 แห่ง แพลนท์ปูน 1 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 3 แห่ง ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (สำนักงานใหญ่) พนักงาน 2,000 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหารจำหน่ายให้เกษตรกร เปลือกผลไม้นำมาทำน้ำหมักชีวภาพ กิ่งไม้ใบไม้แห้งนำมาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกรีไซเคิล เก็บรวบรวมนำไปขาย บางส่วนส่งมอบให้วัดจากแดง 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 2 ครั้ง 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย แจ้งเขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั้งหมดก่อนคัดแยก 35,383 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 18,155 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 16,010 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 1,170 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 48 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
พัฒนาสวน 15 นาที สวนมีสุข ซอยแจ้งวัฒนะ 10 แยก 9-1-2 ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่พัฒนาให้เป็นสวน 15 นาที จัดทำทางเดินรอบสวน จัดวางม้านั่ง ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสาธารณะทุ่งสองห้อง พื้นที่ 8 ไร่ 10.60 ตารางวา 2.สวนสาธารณะบึงสีกัน พื้นที่ 11 ไร่ 3.สวนหย่อมเคหะชุมชนบางบัว พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหมู่บ้านจัดสรรรถไฟ พื้นที่ 330 ตารางเมตร 2.สวนหมู่บ้านเจริญทรัพย์ พื้นที่ 142.5 ตารางเมตร 3.สวนซอยวิภาวดีรังสิต 62 พื้นที่ 900 ตารางเมตร 4.สวนหน้าสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง พื้นที่ 800 ตารางเมตร 5.สวนเคหะชุมชนท่าทราย พื้นที่ 700 ตารางเมตร 6.สวน 100th รวมใจ@หลักสี่ พื้นที่ 528 ตารางเมตร 7.สวนซอยวิภาวดีรังสิต 58 พื้นที่ 110 ตารางเมตร 8.สวนรักษ์หลักสี่ พื้นที่ 160 ตารางเมตร 9.สวนมีสุข พื้นที่ 840 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 10.สวนหมู่บ้านรุ่งอรุณนคร พื้นที่ 228 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 11.สวนหมู่บ้านบัวบาน พื้นที่ 800 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ
พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 114 ราย ได้แก่ 1.ตลาดท่าทราย ตั้งแต่โรงเรียนการเคหะท่าทราย ถึงศูนย์เยาวชนท่าทราย ผู้ค้า 57 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 2.ตลาดเคหะทุ่งสองห้อง ถนนกำแพงเพชร 6 ซอย 7 ตั้งแต่หน้าตลาดด้านซ้าย ถึงหน้าตลาดด้านขวา ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 3.ซอยวิภาวดี 64 ตั้งแต่ปากซอยวิภาวดีรังสิต 64 ถึงท้ายซอยวิภาวดีรังสิต 64 ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยงามวงศ์วาน 47 ผู้ค้า 23 ราย 2.ฝั่งตรงข้ามวัดหลักสี่ ผู้ค้า 12 ราย ยกเลิกเดือนมีนาคม 2567 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 1 แห่ง บริเวณซอยงามวงศ์วาน 43 ผู้ค้า 19 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67
ในการนี้มี นายอัมรินทร์ จารุตามระ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหลักสี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)