
(5 ก.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร (รอบ 2)” ครั้งที่ 20 ณ พื้นที่เขตดอนเมือง เพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ การดำเนินงานของโครงการต่าง ๆ พร้อมทั้งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนในชุมชน รับฟังปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เขตดอนเมืองเป็นเขตที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจของเมือง อีกทั้งยังเป็นเขตที่มีการเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบิน ซึ่งปัญหาทางกายภาพส่วนใหญ่ของเขตดอนเมือง คือเมืองที่มีถนนขนาดใหญ่ล้อมชุมชนอยู่ แต่ถนนย่อยสำหรับสัญจรภายในเขตกลับมีน้อย ทำให้มีความยากลำบากในการเดินทางเข้าพื้นที่ด้านใน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีถนนกำแพงเพชร 6 ที่เป็นส่วนหนึ่งของถนนโลคัลโรด (Local Road) ที่วิ่งเลียบทางรถไฟสายเหนือ ใต้รถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟ มีปัญหาถนนเป็นคลื่น รถเล็กหรือรถจักรยานยนต์อาจเกิดอันตรายได้ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องไฟส่องสว่างที่ไม่ติดบ่อยครั้ง คาดว่าในสัปดาห์หน้ากรุงเทพมหานครจะสามารถลงนามความร่วมมือร่วมกับการรถไฟเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสัญญาดังกล่าวจะเป็นการมอบอำนาจให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงถนนและไฟส่องสว่างในบริเวณดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้เตรียมงบประมาณสำหรับการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้แล้วประมาณ 77 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการจัดทำสวนสาธารณะ รูปแบบสวน 15 นาที ในบริเวณพื้นที่รกร้างที่ไม่มีการใช้งานริมถนนดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนมีสวนสำหรับพักผ่อน และทางเท้าในการเดินสัญจรได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังได้กล่าวถึงการจัดการปัญหาแบริเออร์เก่าตลอดถนนกำแพงเพชร 6 ปรับปรุงพื้นที่รกร้างเป็นสวน 15 นาทีแห่งใหม่ ช่วงหน้าบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบิน กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ (BAFS) รวมความยาวประมาณ 350 เมตร เพื่อทุกคนสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ โดยสำนักงานเขตดอนเมือง และคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตดอนเมือง (คคพ.เขตดอนเมือง) ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณใต้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ถนนกำแพงเพชร 6 ให้สวยงาม ปลอดภัย ลดจุดเสี่ยงอาชญากรรม และประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง จัดการพื้นที่รกร้างบริเวณดังกล่าว โดยเริ่มจากการประสานแขวงทางหลวงกรุงเทพ สำนักงานทางหลวงที่ 13 กรมทางหลวง ดำเนินการขนย้ายแท่งปูนแบริเออร์เก่าโครงการก่อสร้างโฮปเวลล์ หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ที่ตั้งวางมายาวนานกว่า 30 ปี ออกจากพื้นที่ บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ตลอดสาย รวมถึงถนนเชิดวุฒากาศ ทั้งนี้ แขวงทางหลวงกรุงเทพฯ ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาขนย้ายแบริเออร์เก่าขนาดใหญ่บนถนนกำแพงเพชร 6 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงข้ามคลองสะพานวัดหลักสี่ บริเวณหน้าแปลน ฟอร์ คิดส์ และ Enco (ศูนย์ลูกเรือเก่า) หน้าบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และถนนเชิดวุฒากาศ เขตดอนเมือง รวมจำนวน 900 แท่ง ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ถึงมีนาคม 2568 และยังได้ขยายการดำเนินการไปยังพื้นที่เขตหลักสี่ เพื่อเป้าหมายที่จะร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดถนนกำแพงเพชร 6 ต่อไป สำหรับพื้นที่เขตดอนเมือง ปลูกต้นไม้แล้วทั้งหมด 16,795 ต้น โดยในวันนี้ ผู้ว่าฯ ได้ปลูกต้นเสลา เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ร่วมจองปลูกต้นไม้ จำนวนทั้งสิ้น 1,641,310 ต้น ปลูกแล้ว 2,004,984 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ค. 68 เวลา 16.00 น.) สำหรับประชาชนผู้สนใจสามารถติดตามความก้าวหน้าหรือร่วมบันทึกปลูกต้นไม้ได้ที่ เว็บไซต์ https://tree.bangkok.go.th/
จากนั้นสำนักงานเขตดอนเมือง ได้นำชมชุมชนต้นแบบการจัดการขยะบริเวณชุมชนศิริสุข ถนนช่างอากาศอุทิศ ซึ่งเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มีจำนวน 896 หลังคาเรือน โดยชุมชนศิริสุข เป็นชุมชนเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม และเป็นชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง Road To Zero Waste โดยมีกิจกรรมตลาดนัด เปลี่ยนขยะเป็นเงินโดยนัดรับซื้อขยะรีไซเคิลทุกสัปดาห์ รวมจำนวน 4 ครั้งต่อเดือน และมีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกครัวเรือนลงทะเบียน BKK Waste Pay และร่วมกันแยกขยะอย่างจริงจัง โดยผู้ว่าฯ กทม.ได้ติดสติ๊กเกอร์ “บ้านนี้ไม่เทรวม” ให้กับบ้านที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง ได้นำชมนวัตกรรมเครื่องสูบน้ำ บริเวณสี่แยกศิริสุข ถนนช่างอากาศ อุทิศ ซึ่งเป็นแนวคิดและผลงานของผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารมหานครระดับสูง รุ่นที่ 23 กลุ่มที่ 2 ในการ จัดการปัญหาน้ำท่วมด้วยการพัฒนาระบบควบคุมเครื่องสูบน้ำจากระยะไกล (Smart Sensor Water Pump) เพื่อแก้ไข ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ สามารถตรวจสอบและติดตามสถานะเครื่องสูบน้ำและระดับน้ำตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังควบคุมระบบเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติหรือผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ และแจ้งเตือนระดับน้ำมันหรือความจุแบตเตอรี่ตามค่าที่ตั้งไว้ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเดินทางไปยังจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และยังสามารถเห็นภาพรวมการทำงานของเครื่องสูบน้ำได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
สำหรับการปรับปรุงกายภาพระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ โดยจุดที่สำคัญคือ บริเวณถนนช่างอากาศ ถนนประชาอุทิศ ถนนโกสุมรวมใจ และถนนวัดเวฬุวนาราม ซึ่งทั้งหมดเป็นเส้นทางเชื่อมต่อเป็นโครงข่าย และได้รับผลกระทบจากลักษณะทางกายภาพที่เป็นพื้นที่ต่ำ อีกทั้งระบบการระบายน้ำของหมู่บ้านไม่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำหลัก รวมถึงระบบระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น สำนักงานเขตดอนเมือง จึงได้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาวในพื้นที่เขตดอนเมือง อาทิ โครงการปรับปรุงถนนช่างอากาศอุทิศ โครงการปรับปรุงถนนวัดเวฬุวนาราม โครงการปรับปรุงถนนประชาอุทิศ โครงการปรับปรุงซอยประชาอุทิศ 13 โครงการปรับปรุงถนนโกสุมรวมใจ โครงการสร้างบ่อสูบน้ำพื้นที่เขตดอนเมือง ทั้งนี้ บริเวณถนนช่างอากาศอุทิศ เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงช่วงที่ 2 จากแยกศิริสุขถึงสุดเขตทางสาธารณะ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่วยให้การระบายน้ำบริเวณดังกล่าวดีขึ้น จากเดิมใช้เวลาในการระบายน้ำ 2 วัน ลดลงเหลือ 3 ชั่วโมง
สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น ปกป้องเด็กจาก PM2.5 เติมอากาศสะอาดให้แก่เด็ก
ในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นปอ.ประจำพื้นที่สีกัน เป็นศูนย์ฯ ที่ได้ผ่านมาตรฐานของสำนักพัฒนาสังคม มีการเรียนการสอนที่ทันสมัย และสอดคล้องกับหลักสูตรของสำนักพัฒนาสังคม มีการสอนนอกห้องเรียนเป็นการปลูกผักปลอดสารพิษ สำหรับพื้นที่ตั้งศูนย์ฯ เป็นของหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก พื้นที่ 300 ตารางวา ได้จัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นปอ.ประจำพื้นที่สีกัน ในปี พ.ศ.2549 และอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ของชุมชน นปอ. มีห้องเรียน จำนวน 3 ห้อง (2 อาคาร) ประกอบด้วย ชั้นเตรียม 1 ชั้นเตรียม 2 และชั้นเตรียม 3 มีลานอเนกประสงค์ มีจำนวนเด็ก 110 คน ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ ได้ของบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพเขตดอนเมือง จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นสำหรับเด็กเล็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนปอ.ประจำพื้นที่สีกัน งบประมาณ 264,650 บาท รวมจำนวน 5 เครื่องใน 3 ห้องเรียน ตามขนาดของพื้นที่ห้อง เพื่อปกป้องเด็กจาก PM2.5 เติมอากาศสะอาด ลดปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร
ส่งเสริมชุมชนแห่งการเรียนรู้ การออกกำลังกาย และนวัตกรรมเดลิเวอรี่รักการอ่านถึงบ้าน
จากนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้เดินทางไปพบปะประชาชนชุมชนปิ่นเจริญ 4 ซอยนาวงประชาพัฒนา 17 ซึ่งเป็นชุมชนเมือง จำนวน 451 หลังคาเรือน เป็นชุมชนที่มีศาลาอเนกประสงค์เพื่อทำกิจกรรมของชุมชน มีลานกีฬา มีบ้านหนังสือ และมีกลุ่มสุขภาพและชมรมผู้สูงอายุ ในส่วนของลานกีฬานั้น เป็นลานกีฬาชุมชนประเภท C ขนาดพื้นที่ 200 ตารางวา โดยมีผู้ใช้บริการ จำนวน 30-50 คนต่อวัน มีกิจกรรมด้านกีฬา ลานแอโรบิค บาสเก็ตบอล แบดมินตัน พิคเกิ้ลบอล และเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง ทั้งนี้ ลานกีฬาได้ดำเนินการปรับปรุง โดยความร่วมมือของสมาชิกชุมชนปิ่นเจริญ 4 อาทิ การทาสีเพื่อตีเส้นสนามแบดมินตัน ทาสีกำแพง เพื่อทำให้เกิดความสวยงาม สร้างบรรยากาศที่ดีและสร้างแรงดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการลานกีฬา นอกจากนี้เป็นลานกีฬาต่อต้านยาเสพติด มีการส่งเสริมเยาวชนเล่นบาสเก็ตบอลในชุมชน ซึ่งกีฬาที่โดดเด่น Street Basket ball และกลุ่มแอโรบิคในชุมชนด้วย สำหรับบ้านหนังสือชุมชนปิ่นเจริญ 4 จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2555 บ้านหนังสือมีลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 2 ตู้ ตั้งอยู่ติดกัน เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) และมีอาสาสมัครบ้านหนังสือฯ จำนวน 2 คน ปัจจุบันบ้านหนังสือได้เปิดให้บริการด้านการส่งเสริมการอ่านแก่ประชาชน ทั้ง 3 วัย ได้แก่ เด็กและเยาวชน วัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุ มีหนังสือที่น่าสนใจ เช่น หนังสือทั่วไป หนังสือสำหรับเด็ก นวนิยาย หนังสือให้ความรู้ และหนังสือแสดงพระกรณียกิจ รวมถึงมีกิจกรรมครอบครัวรักการอ่าน 6 ครั้งต่อปี และกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชนในทุกช่วงวัย เช่น กิจกรรม DIY ประดิษฐ์ของเหลือใช้ กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น ในปีงบประมาณ 2568 ได้มีการพัฒนาบ้านหนังสือด้านกายภาพ โดยมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จำนวน 2 เครื่อง ติดตั้งครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง และติดตั้งโทรทัศน์ แอล อี ดี (LED TV) แบบ Smart TV จำนวน 1 เครื่อง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และใช้เป็นสื่อประกอบเรียนรู้ เพื่อจัดกิจกรรมของบ้านหนังสือ นอกจากนี้ บ้านหนังสือชุมชนปิ่นเจริญ 4 ได้มี “นวัตกรรมดอนเมืองบริการหนังสือทันทีทันใจ (Donmueang Delivery Service Book)” ให้บริการระบบยืมหนังสือ-คืนหนังสือ Delivery เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าใช้บริการ โดยผู้เข้าใช้บริการจะต้องดำเนินการแสกน QR CODE เพื่อกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบสมัครสมาชิกบ้านหนังสือ หลังจากนั้นสามารถค้นหาหนังสือที่สนใจเพื่อตรวจสอบสถานะของหนังสือ แจ้งยืมหนังสือผ่านระบบดังกล่าว และอาสาสมัครบ้านหนังสือจะดำเนินการอัพเดทสถานะของหนังสือและจัดส่งหนังสือตามลำดับ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของบ้านหนังสือ เพื่อส่งเสริมเรียนรู้และรักการอ่านถึงบ้าน
เขื่อนคลองบ้านใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสียเขตดอนเมือง
สำนักการระบายน้ำ กทม. ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองบ้านใหม่ จากคลองเปรมประชากรถึงบริเวณซอยเทิดราชัน 17 ซึ่งปัจจุบันผู้รับจ้างสามารถดำเนินการก่อสร้างเขื่อนได้แล้วกว่า 27% (ข้อมูล ณ เดือนพ.ค.68) โดยมีความยาวคลองทั้งหมด 2,320 เมตร รวมทั้งสองฝั่งความยาวรวม 4,640 เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองบ้านใหม่ จะทำให้สามารถขุดลอกคลองได้ลึกมากขึ้น รองรับปริมาณน้ำได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ในส่วนของพื้นที่บริเวณซอยเทิดราชัน 27 นั้น เป็นโครงการก่อสร้างระยะต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการเพื่อใช้ประโชน์แนวเขตคลองให้เป็นพื้นที่สีเขียวและที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สอยร่วมกัน รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับแนวเขตคลองให้ชัดเจน
ในการนี้มี นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารเขตดอนเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #ปลอดภัยดี #เดินทางดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—–