ผู้ว่าฯ ชัชชาติ บุกเขตดอนเมือง สำรวจชุมชนต้นแบบคัดแยกขยะ ปลุกคนกรุงฯ รีบลงทะเบียน “บ้านนี้ไม่เทรวม“ ก่อนดีเดย์ขึ้นค่าเก็บขยะ ต.ค. 68 ไม่แยกจ่ายเพิ่ม 3 เท่า

 

 

(5 ก.ค. 68) เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการบ้านนี้ไม่เทรวม ณ สำนักงานเขตดอนเมือง โดยมี นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง กล่าวถึงความร่วมมือของชุมชนในการแยกขยะจากต้นทาง นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง นำชมบูทกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย บริการลงทะเบียน BKK WASTE PAY เล่นเกมจับคู่แยกขยะแยกเศษอาหาร ชมผลิตภัณฑ์จากชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะ เรียนรู้ขั้นตอนการทำสบู่อเนกประสงค์จากน้ำมันพืช และถังหมัก OK โดยชุมชนศิริสุข การทำปุ๋ยน้ำจากเศษอาหารครัวเรือน น้ำยาอเนกประสงค์จากเปลือกสับปะรด EM Ball โดยชุมชนบูรพา 18 กิจกรรม Workshop Upcycling Plastic Bags มาแปลงร่างพลาสติกเป็นกระเป๋า รับบริจาคเสื้อผ้าหรือของใช้ที่ไม่ใช้แล้วมาบริจาคให้กับมูลนิธิกระจกเงา และร่วมสนับสนุนการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนไร้บ้านหรือผู้สูงอายุ ในโครงการ ชรารีไซเคิล โดยมูลนิธิกระจกเงา ร่วมทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิลกับสำนักงานเขตดอนเมือง โดยนำขยะขวดน้ำพลาสติก 10 ขวดมาแลกรับน้ำหมักชีวภาพ 1 ขวด เปลี่ยนขยะรีไซเคิลให้เป็นเงินกับ Waste Buy เพียงนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกไว้แล้ว นำมาขายให้กับ Waste Buy ซึ่งจะมีรถมารับซื้อขยะถึงหน้างาน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในชุมชน 

 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เมืองจะพัฒนาได้ ก็เพราะเราทุกคนช่วยกัน การคัดเเยกขยะก็อาจจะเหนื่อยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย แต่จะช่วยเมืองได้อีกมาก แล้วเป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกเรื่องของกรุงเทพมหานครก็คือ ตอนนี้เราปลูกต้นไม้ครบ 2 ล้านต้นแล้ว จากเดิมทีตั้งเป้าไว้แค่ 1 ล้านต้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราคัดแยกขยะ เราก็จะได้ปุ๋ย แล้วปุ๋ยเราก็จะนำมาบำรุงต้นไม้ที่เราปลูกกันนี่แหละ ก็อยากให้พวกเราทุกคนช่วยกันคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ซึ่งเกิดประโยชน์หลายต่อ และเมืองก็จะสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการทางแอป BKK WASTE PAY สำหรับบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะอยู่ที่ 20 บาทต่อเดือน โดยจะต้องทำตามกฎคือ ลงทะเบียนแล้วต้องแยกขยะอย่างจริงจัง ขั้นพื้นฐานคือการแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป เศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคทั้งหมด แยกส่วนน้ำออก เทใส่เฉพาะกากที่แห้งแล้วในถุงขยะสีเขียว หากไม่มีสามารถใช้ถุงพลาสติกทั่วไป ติดป้ายหรือเขียนที่ถุงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นเศษอาหาร เวลาทิ้งนำไปวางไว้ข้างๆ ถังขยะ เพื่อเจ้าหน้าที่เก็บขยะจะสังเกตได้โดยง่าย ส่วนในถังขยะให้ทิ้งเฉพาะขยะทั่วไป เพียงเท่านี้ก็ถือว่าปฏิบัติถูกต้องตามกฎเกณฑ์แล้ว แต่หากบ้านไหนที่ไม่ได้ลงทะเบียนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะที่ 60 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มอัตราค่าธรรมเนียมใหม่เดือนตุลาคม 2568 นี้

——————

#แยก20ไม่แยก60 #บ้านนี้ไม่เทรวม #bkkwastepay #แยกขยะ #แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200