กทม. ประสานสมาคมวิศวกรฯ วิเคราะห์สาเหตุทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงผลการตรวจสอบสาเหตุโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่มว่า สนย. ได้ขอความอนุเคราะห์สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ตรวจสอบวิเคราะห์สาเหตุโครงสร้างสะพานอ่อนนุช-ลาดกระบังเกิดการวิบัติ โดยคาดการณ์สาเหตุที่อาจนำไปสู่การวิบัติของโครงสร้างที่เป็นรูปแบบต่อเนื่องนั้น จุดตั้งต้นของการวิบัติเริ่มเกิดขึ้นเมื่อคอนกรีต Wet Joint อัดแตก ขณะที่ดึงลวดอัดแรง ซึ่งอยู่ในการดำเนินการของผู้รับจ้างและผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการฯ ตามรูปแบบสัญญาจ้างเสาตอม่อที่เดิมจะตั้งอยู่ในคลองหัวตะเข้ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน (ชป.) สนย. ได้ประสาน ชป. อย่างต่อเนื่อง และมีความเห็นจาก ชป. ว่าควรย้ายตำแหน่งเสาตอม่อดังกล่าวให้พ้นจากทางน้ำ จึงได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งของเสาตอม่อดังกล่าวให้อยู่นอกเขื่อนกันตลิ่งของคลองหัวตะเข้ พร้อมทั้งได้ส่งรูปแบบให้ ชป. พิจารณาแล้ว
กทม. รุดกวดขันจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้างมั่วสุมดื่มสุรา เพิ่มความปลอดภัยคนกรุงฯ
นางสาวเกศจริน สามิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างจับกลุ่มมั่วสุมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หน้าอาคาร Ocean Tower ถ.รัชดาภิเษกว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบและสอบถามข้อเท็จจริงตามที่ระบุพบพฤติกรรมมั่วสุมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะรอรับ-ส่งผู้โดยสารจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะวินโอเชี่ยน 1 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 67 เวลา 13.00 น. โดยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะได้ยอมรับว่าดื่มสุราในบริเวณสถานที่ตั้งวินรถจักรยานยนต์สาธารณะจริง จึงได้ดำเนินการว่ากล่าวตักเตือน เพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำ พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการประชาสัมพันธ์วินรถจักรยานยนต์สาธารณะอื่น ๆ ในพื้นที่ให้รับทราบบทลงโทษของการกระทำความผิด นอกจากนี้ ได้จัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่ โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร ผ่านการจัดประชุมอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร (เขตคลองเตย) เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะให้ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า ตามประกาศคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 31 ม.ค. 63 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 29 ส.ค. 66 ข้อ 13 (5) กำหนดให้คณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานครในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบพิจารณาถอดชื่อผู้ได้รับหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ออกจากบัญชีรายชื่อในสถานที่ตั้งวินที่ผู้นั้นขับรถอยู่ เมื่อปรากฏว่าบุคคลนั้นฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อ 12 หรือมีเหตุประพฤติตนไม่เหมาะสม หรือกระทำผิดอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ เช่น เสพสุรา หรือเล่นการพนันบริเวณสถานที่ตั้งวิน กระทำอนาจาร หรือลวนลาม หรือทำร้ายร่างกายต่อผู้ใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือมีผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะตามที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อของวินนั้นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งร้องขอต่อคณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร โดยคณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้อำนวยการเขตเป็นประธาน มีสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ ผู้อำนวยการขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานครฝ่ายทหาร เป็นคณะอนุกรรมการ และมีหัวหน้าฝ่ายเทศกิจเป็นฝ่ายเลขานุการ โดย สนท. ได้ประสานสำนักงานเขตพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นอกจากนี้ สนท. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในการออกตรวจพื้นที่ เพื่อกวดขันและจัดระเบียบวินจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยร่วมลงพื้นที่เขตจตุจักร เขตปทุมวัน และเขตห้วยขวาง พบผู้กระทำความผิด ซึ่งได้ว่ากล่าวตักเตือนการกระทำผิดที่เล็กน้อยและดำเนินคดีกรณีที่เป็นความผิดตามกฎหมายนั้น ๆ และจะบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป
กทม. เตรียมพร้อมด้านการแพทย์-Sandbox ด่านชุมชนจากอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมบริการทางการแพทย์ของ กทม. และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ภายหลังคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติมีมติขยายเวลาเฝ้าระวังอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่เป็น 10 วันอันตรายตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 67 – 5 ม.ค. 68 ว่า สนพ. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งถนนสายหลักและสายรอง ควบคู่กับการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ร้านค้าผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ขับขี่ยานพาหนะ
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนทีมด้านการแพทย์ในสถานที่ที่จัดงานเทศกาลปีใหม่ 2568 และทีมอาสาสมัครกู้ชีพจากมูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล สนับสนุนให้บริการประชาชนตามเส้นทางขาออกจากกรุงเทพฯ และจุดจอดรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงของศูนย์เอราวัณ โดยศูนย์เอราวัณรับแจ้งเหตุทางสายด่วน 1669 และสั่งการรถปฏิบัติการฉุกเฉินในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ออกให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งภาวะปกติและสาธารณภัย หรือประชาชนสามารถใช้บริการผ่าน LINE Official : BangkokEMS สะดวก รวดเร็ว แจ้งพิกัดเกิดเหตุ ช่วยเหลือทันที บริการฟรี 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณรวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วง 10 วันอันตราย รายงานผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ได้จัดบริการทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ น้ำมันเชื้อเพลิง สำรองเตียง เลือด ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อรองรับกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จัดเตรียมรถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉิน (Motorlance) กระจาย 7 กลุ่มโซน ครอบคลุม 50 เขต สามารถเข้าถึงพื้นที่แออัด เข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วพร้อมอุปกรณ์ประเมินอาการเบื้องต้น สามารถประเมินอาการและให้การช่วยเหลือช่วยชีวิตอย่างทันท่วงที พร้อมส่งข้อมูลกลับมายังศูนย์สั่งการแบบ Real Time ผ่านกล้องติดตามตัวผู้ขับขี่ ซึ่งทีมแพทย์จะทราบข้อมูลผู้ป่วยและให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนในสถานการณ์ไม่ฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยอยู่ในภาวะพึ่งพิงไม่มั่นใจว่าเป็นอาการฉุกเฉินหรือไม่ การเดินทางมายังโรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก รถ Motorlance จะทำงานร่วมกับศูนย์ UMSC ซึ่งเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อให้การเข้าถึงบริการเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดการเดินทาง และประสานมูลนิธิต่าง ๆ ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. ร่วมกับหน่วยงานของสำนักงานเขตต่าง ๆ ประจำในจุดบริการประชาชนตามเส้นทางออกจากกรุงเทพฯ โดยหากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนฉุกเฉินทางการแพทย์ โทร.1669 บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้กำหนดแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ของ กทม. ตามมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดอุบัติเหตุจราจร การสนับสนุนความร่วมมือในการตั้งด่านชุมชน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนควบคุมเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภายใต้แนวคิดรณรงค์ #ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการขับเคลื่อนแบบบูรณาการและร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยบูรณาการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดให้การจัดงาน/กิจกรรมปีใหม่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่รับและไม่สนับสนุนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2) มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าผู้ประกอบการและประชาชนปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และผู้ที่มึนเมาจนครองสติไม่ได้ โดยเด็ดขาด ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกประเภท (โปรโมชั่นลด แลก แจก แถม) ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายกำหนด (11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.) เป็นต้น 3) มาตรการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน สนับสนุนให้ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ร่วมเฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อป้องกันการเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาทและการสูญเสียอื่นๆ และ 4) มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ กทม. ได้ริเริ่มดำเนินการ Sandbox ด่านชุมชน ในพื้นที่เขตหลักสี่และเขตบึงกุ่ม เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจมีสาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับในพื้นที่ เป็นการเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน ขับขี่ยานพาหนะออกสู่ถนนสายหลัก ซึ่งอาจเกิดการบาดเจ็บและความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น ลักษณะเป็นด่านหวังดีที่ตั้งในชุมชน เน้นมาตรการเชิงบวก การตักเตือน แสดงความห่วงใย การประชาสัมพันธ์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” โดยบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่และภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานเขต สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักอนามัย สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ชุมชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน โดยกำหนดจุดตั้งด่านกระจายคลอบคุลมในพื้นที่ เขตละ 10 จุด ดำเนินการระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 67 – 1 ม.ค. 68
กทม. ตั้งศูนย์บริการประชาชน อำนวยความสะดวกช่วงเทศกาลปีใหม่-เร่งเพิ่มมาตรการความปลอดภัยการเดินทาง
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวถึงมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ว่า สนท. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมการขนส่งทางบก สถานีตำรวจนครบาล หน่วยงานความมั่นคง อาสาสมัคร หน่วยงานทางการแพทย์ หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น โดยกำหนดแผนการดำเนินการระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 67 – 2 ม.ค. 68 จัดตั้งศูนย์บริการประชาชน เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวก อำนวยการจราจร ประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยในการเดินทาง ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ การให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนที่เดินทางไปต่างจังหวัดในเส้นทางหลักและเส้นทางรองที่มีความสำคัญ หรือเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรในการเดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมทั้งนำข้อมูลทั้งหมดสรุปรายงานอุบัติเหตุและนำเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขระยะเร่งด่วน และระยะยาว เพื่อดำเนินการแก้ไขจุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุในระยะเร่งด่วนต่อไป
ทั้งนี้ กำหนดจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ หมอชิต สายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) และเอกมัย จุดบริการประชาชน ได้แก่ สถานีรถไฟดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสำนักงานเขตลาดกระบัง ถนนลาดกระบัง ใต้สะพานข้ามแยกตัดพุทธมณฑลสาย 3 ถนนบรมราชชนนี สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถนนพระรามที่ 2 กม.12 และใต้สะพานต่างระดับข้ามแยกกาญจนาภิเษก ตัดถนนเอกชัย
นอกจากนี้ ได้ประสานความร่วมมือสถานีตำรวจนครบาลตั้งจุดตรวจความมั่นคงและความปลอดภัย ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เพื่อดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยง รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว สายตรวจเทศกิจ เตรียมพร้อมเข้าให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ลาดตระเวนพื้นที่ และประชาสัมพันธ์รณรงค์ความปลอดภัยบนเส้นทางเสี่ยงอันตราย จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจเยี่ยมและอำนวยความสะดวกประชาชนในชุมชน ส่วนพื้นที่จัดกิจกรรมจะจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกการจราจรให้กับประชาชนที่มาร่วมงาน ตลอดจนจัดให้มีสายตรวจทางน้ำจัดชุดเรือตรวจการเทศกิจดูแลความปลอดภัยแม่น้ำเจ้าพระยา
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า สจส. ได้เพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางอย่างเข้มข้น อาทิ การแก้ไขบริเวณจุดเสี่ยงอุบัติเหตุจราจรและจุดอันตรายต่าง ๆ การปรับปรุงถนน ผิวจราจร และสภาพแวดล้อมทางข้ามให้มีความปลอดภัย การวิเคราะห์ปรับปรุง/ติดตั้งป้ายจราจร สัญญาณไฟจราจร การวิเคราะห์ปรับปรุง/ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางถนนต่าง ๆ การวิเคราะห์/ปรับปรุงทางแยกและทางข้าม เพื่อความปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้า
ขณะเดียวกัน ยังได้ตรวจสอบดูแลความเรียบร้อยของท่าเทียบเรือ ศาลาที่พักผู้โดยสาร รถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) รถ Feeder เรือโดยสารในคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยประสานผู้รับสัมปทานตรวจสอบความพร้อมและเพิ่มมาตรการระบบรักษาความปลอดภัยในระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีทอง ในจุดที่มีการจัดงาน โดยเฉพาะบริเวณที่มีประชาชนเดินทางจำนวนมากและมีการขยายการให้บริการถึงเวลา 02.00 น. ในวันที่ 1 ม.ค. 68 รวมทั้งตรวจสอบระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ตลอดจนจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะ พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และจัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ของ กทม. โดยจัดหน่วยซ่อมแซมเร่งด่วน จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง หรือเมื่อได้รับการร้องขอจากหน่วยงานอื่น รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย เมาไม่ขับ การจัดให้มีสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ