กทม. ชี้แจงข่าวประจำวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567

กทม. พร้อมรับสถานการณ์ฝน-ตรวจสอบจุดก่อสร้างที่มีผลกระทบกับการระบายน้ำ

 

นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันที่อาจส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายในศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โดยติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังสภาพอากาศตามการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาและตรวจสอบติดตามกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม. พร้อมควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำของ กทม. อาทิ อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และบ่อสูบน้ำที่ระบายน้ำภายในท่อ 376 แห่ง รวมถึงลดระดับน้ำในแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะหน้าตะแกรงช่องรับน้ำฝน ขยะหน้าตะแกรงหน้าสถานีสูบน้ำ จัดเก็บขยะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำตามคูคลอง เพื่อให้ไหลได้สะดวกรวดเร็ว จัดเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำและบ่อสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อติดตั้งตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ การจัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 

 

ขณะเดียวกัน สนน. ได้ตรวจสอบจุดก่อสร้างที่จะมีผลกระทบกับการระบายน้ำ พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ระบบไฟฟ้าสถานีสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ เจ้าหน้าที่หน่วยบริการเร่งด่วน (หน่วย BEST) 34 หน่วย เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตกพร้อมตรวจสอบเร่งระบายน้ำตามจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังและบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ ตลอดจนให้สำนักงานเขตจัดหน่วย BEST 50 หน่วยเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์พร้อมเข้าแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ในทันที รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยเหลือประชาชนอำนวยความสะดวกด้านการจราจร หากเกิดปัญหาน้ำท่วมในถนนสายรอง หรือถนนซอยมีระดับสูง

 

นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย สนน. ได้ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ สนน. เป็นประจำทุกเดือน ตลอดจนตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำจะประสานแจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม. ต่อไป

 

ทั้งนี้ กทม. ได้เปิดช่องทางการแจ้งเตือนเพื่อให้ประชาชนติดตามการพยากรณ์อากาศ กลุ่มฝน จุดที่มีปัญหาน้ำท่วมและข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางเว็บไซต์ https://dds.bangkok.go.th https://pr-bangkok.com หรือเพจเฟซบุ๊ก “@BKK.BEST” “สำนักงานประชาสัมพันธ์” หรือเอกซ์ (ทวิตเตอร์) @BKK_BEST รวมถึงช่องทางแจ้งเหตุเพื่อขอรับความช่วยเหลือ หากประชาชนประสบเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่มีระดับสูง การสัญจรไม่สะดวกได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue 

 

 

 

กทม. นำระบบจองคิวออนไลน์รองรับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้อง 

นางละไม อัศวเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน (สปท.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้บริหารจัดการทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวให้แก่แรงงานต่างด้าวและบุตรที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขต เป็นผู้ช่วยนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่และสามารถดำเนินการจัดทำ หรือปรับปรุงทะเบียนประวัติฯ ให้แก่คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (แรงงานต่างด้าว) ได้ทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งได้นำระบบการจองคิวออนไลน์ (Online) เพื่อเพิ่มช่องทางการขอรับบริการและอำนวยความสะดวกนายจ้าง หรือคนซึ่งไม่มีสัญชาติ กำหนดการจองคิวเข้ารับบริการล่วงหน้า (Online) 30 ราย/วัน/เขต และให้บริการคิวที่ไม่ได้นัดหมาย (Walk-in) ตามความเหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้บริการรวมทุกสำนักงานเขตประมาณ 1,500 ราย/วัน

 

ขณะเดียวกัน ยังได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและหลักฐานที่ใช้ในการจัดทำ หรือปรับปรุงทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัว รวมทั้งค่าธรรมเนียม โดยในส่วนของกรมการจัดหางานจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้แก่สำนักงานจัดหางานพื้นทั้ง 10 แห่งในเขตกรุงเทพฯ นายจ้าง และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ส่วนสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตจะประชาสัมพันธ์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เขต นายจ้างและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์และช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ กทม.

 

 

 

กทม. เข้มตรวจสอบ-บังคับใช้กฎหมายร้านรับซื้อของเก่า 14 ราย ใน ซ.อ่อนนุช 86

นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม. กล่าวถึงมาตรการดำเนินการกับผู้ลักลอบประกอบกิจการรับซื้อของเก่าโดยไม่ได้รับอนุญาตในซอยอ่อนนุช 86 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแก้ไขตามอำนาจหน้าที่กับเจ้าของร้านค้าของเก่า 14 รายในซอยอ่อนนุช 86 แยก 2 แขวงและเขตประเวศ ฐานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น จึงได้ออกหนังสือแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ฐานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 “การสะสมวัตถุ หรือสิ่งของที่ชำรุดใช้ แล้ว หรือเหลือใช้” โดยให้ปรับปรุงแก้ไขสถานที่ให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นไม่ให้รบกวนผู้อยู่อาศัยข้างเคียง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์พาหะนำโรค และยื่นเอกสารขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการสะสมวัตถุ หรือสิ่งของใช้แล้ว หรือเหลือใช้

 

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า ร้านค้าของเก่าเข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการสะสมวัตถุ หรือสิ่งของที่ชำรุด ใช้แล้วหรือเหลือใช้ ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561 ซึ่งผู้ประกอบกิจการต้องขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ณ สำนักงานเขตที่สถานประกอบการตั้งอยู่ กรณีที่มีการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประกอบการร้านค้าของเก่าต้องจัดสถานที่ประกอบการและดำเนินการให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะตามที่กำหนดในข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561 และกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 เช่น มีกำแพงหรือรั้วรอบบริเวณสถานประกอบกิจการ อาคารมั่นคง แข็งแรง จัดพื้นที่สำหรับเก็บสะสมวัตถุหรือสิ่งของ เป็นสัดส่วนและเพียงพอ ไม่ปะปนกับที่อยู่อาศัย ดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ มีการระบายน้ำที่เหมาะสม ไม่มีน้ำท่วมขัง มีการป้องกัน ควบคุม กำจัดสัตว์และแมลงนำโรค มีมาตรการป้องกันเหตุรำคาญ ไม่ประกอบการนอกพื้นที่ และไม่ประกอบการในยามวิกาล ติดตั้งเครื่องดับเพลิงให้เหมาะสมและเพียงพอ พร้อมบันทึกการบำรุงรักษาทุก 6 เดือน 

 

ทั้งนี้ สนอ. ได้ขอความร่วมมือสำนักงานเขตดำเนินการตรวจสุขลักษณะร้านค้าของเก่าทั้งรายที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการสุขลักษณะ และกำกับดูแลให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200