กทม. เร่งสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียคลองหลอดวัดราชบพิธ-วัดราชนัดดา
นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตโครงการบำบัดน้ำเสียคลองหลอดวัดราชบพิธไม่ได้เปิดใช้งาน ทำให้น้ำเริ่มเน่าเสียว่า สนน. ได้ตรวจสอบคลองหลอดวัดราชบพิธจากปัญหาน้ำเน่าเสียและคลองมีความสกปรก โดยสำรวจท่อน้ำเสียของชุมชนริมคลองพบว่า บ้านเรือนประชาชนปล่อยน้ำเสียลงคลองสาธารณะโดยตรงประมาณ 80 จุด ซึ่งส่งผลให้คุณภาพน้ำในคลองลดต่ำลง จนเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย คลองสกปรก และส่งกลิ่นรบกวน สนน. จึงได้ดำเนินการแก้ไขโดยก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียบริเวณคลองหลอดวัดราชนัดดาและคลองหลอดวัดราชบพิธ ซึ่งอยู่ในพื้นที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ ลักษณะเป็นท่อรวบรวมน้ำเสียรอง HDPE ขนาด 315 มิลลิเมตร จะรวบรวมน้ำเสียจากบ้านเรือนประชาชนที่ถูกปล่อยลงคลองหลอดวัดราชบพิธเข้าสู่กระบวนการบำบัดน้ำเสียที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างในคลองหลอดวัดราชบพิธแล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยให้น้ำในคลองบริเวณดังกล่าวมีคุณภาพดีขึ้นตามลำดับ
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียคลองหลอดบริเวณหลังวัดราชนัดดาและวัดราชบพิธ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระหว่างดำเนินการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย ซึ่งจำเป็นต้องลดระดับน้ำจนถึงระดับท้องคลองและจะปิดกั้นน้ำในช่วงที่ดำเนินการก่อสร้างเพียงช่วงเดียวเท่านั้น พร้อมทั้งจะสูบ by pass น้ำ เพื่อให้น้ำในช่วงอื่น ๆ ของคลองสามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ซึ่งประชาชนอาจได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการส่งกลิ่นเหม็นจากดินเลนและสิ่งปฏิกูลที่มีอยู่เดิมในช่วงเวลากลางวัน ระหว่างเวลา 08.00 น. – 18.00 น. หลังจากนั้นจะเปิดทางน้ำให้น้ำไหลปกติในช่วงเวลากลางคืน ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในระยะยาว จากปัญหาน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงคลองโดยตรงจะไหลเข้าสู่โรงควบคุมคุณภาพน้ำ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่คลอง รวมทั้งมีการถ่ายเทไหลเวียนน้ำ เพื่อให้คุณภาพน้ำดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ จะมีมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะ เศษอาหาร สิ่งปฏิกูล หรือปล่อยน้ำเสียลงท่อระบายน้ำ หรือแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป
กทม. เข้มจัดระเบียบขอทาน-คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ย้ำ “หยุดให้ = หยุดขอทาน”
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวถึงการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบขอทานและคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนท. ให้ความสำคัญและไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาขอทานและคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจ มีการจ้างงานและอาชีพจำนวนมาก จึงทำให้มีประชากรหนาแน่น นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนขอทานทั้งขอทานชาวไทยและขอทานต่างชาติ การแก้ไขปัญหาให้บรรลุผลจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และใช้ระยะเวลา จึงได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เป็นต้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในระยะยาว
ส่วนการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ สนท. ได้จัดทำโครงการปฏิบัติการสำรวจตรวจตราคนไร้บ้านและขอทานเมือง โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ สังกัด สนท. และสังกัดฝ่ายเทศกิจของทุกสำนักงานเขต ออกสำรวจตรวจตราทั้งคนไร้บ้านและคนขอทานในพื้นที่รับผิดชอบเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งขอทานจะเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 มาตรา 13 มีโทษตามมาตรา 19 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 มาตรา 15 กำหนดแนวทางการปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่เทศกิจซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายส่งตัวผู้ฝ่าฝืนทำการขอทานไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต (ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร บ้านมิตรไมตรี) เพื่อคัดกรองขอทานที่เป็นเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการ หรือทุพพลภาพ ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะ แต่หากพบว่าไม่ใช่บุคคลตามมาตรา 15 แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดู หรืออยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้บุคคลดังกล่าวได้รับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตทันที ทั้งนี้ หากผู้ฝ่าฝืนทำการขอทานยอมปฏิบัติตามขั้นตอนดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการยินยอมให้ดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะ หรือยอมอยู่ในสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต มาตรา 18 ระบุว่า ให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดตามมาตรา 19
นอกจากนี้ เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ฝ่าฝืนทำการขอทานในพื้นที่กรุงเทพฯ สนท. ได้จัดทำแผนการตรวจพื้นที่เป็นประจำทุกเดือน โดยมอบหมายส่วนตรวจและบังคับการ 1 – 3 สำนักงานตรวจและบังคับการ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) ถนนสุขุมวิท (เขตวัฒนา เขตพระโขนง และเขตบางนา) (2) ถนนสุขุมวิทและถนนพระรามที่ 4 (เขตคลองเตย) และ (3) ถนนสีลมและถนนสุรวงศ์ (เขตบางรัก) และถนนเพลินจิต (ใต้ด่วน) เขตปทุมวัน)
นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส. ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงาน กทม. และหน่วยงานภายนอก ในรูปของคณะทำงานด้านคนไร้บ้านและขอทาน ตามคำสั่ง พม. เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาการขอทาน ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น และเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการทำงาน เมื่อได้รับการประสานแจ้ง หรือตรวจพบผู้ทำการขอทานจะแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน เพื่อเชิญตัวผู้ทำการขอทานไปยังสถานีตำรวจ เนื่องจากฝ่าฝืนมาตรา 13 หากคัดกรองพบว่า ผู้ทำการขอทานไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือคนที่อยู่ในภาวะยากลำบาก (ตามมาตรา 15 และ 16) แล้วยินยอมเข้ารับการคุ้มครอง จะส่งตัวไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน กรณีเจ็บป่วย ส่งตัวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ตามสิทธิการรักษาพยาบาล ดำเนินการฟื้นฟูสภาพทางร่างกายและจิตใจ หากประสงค์จะฝึกอาชีพจะดำเนินการฝึกอาชีพและบริการจัดหางานตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ จะส่งต่อสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชาย ธัญบุรี และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิง ธัญบุรี หากเป็นขอทานที่ไม่ใช่กลุ่มคนตามมาตรา 15 และ 16 ต้องดำเนินคดีตามมาตรา 19 โดยพนักงานสอบสวนจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ หรือส่งฟ้อง แล้วแต่กรณี หากเป็นกรณีขอทานต่างด้าวจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ หรือส่งฟ้องตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 แล้ว หากพบว่าหลบหนีเข้าเมืองจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และส่งตัวไปยัง สตม. เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทางต่อไป หากเป็นคู่แม่ลูกต้องดำเนินการตรวจพิสูจน์ DNA โดยพักคอยที่สถานคุ้มครองของ พม. ก่อนนำส่งกลับประเทศต้นทาง
ทั้งนี้ กทม. ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในย่านแหล่งท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรม ย่านธุรกิจการค้า หน้าห้างสรรพสินค้า แหล่งชุมชน สถานีรถไฟฟ้า สะพานลอย งดการให้เงินขอทาน ตามแนวคิด “หยุดให้ = หยุดขอทาน” และให้ทราบว่าการขอทานเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559
กทม. ตรวจเข้มสถานที่ประกอบ-จำหน่ายอาหาร เน้นมาตรการด้านสุขลักษณะ
นางสาวเกศจริน สามิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวตามที่สื่อสังคมออนไลน์วิจารณ์ร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งในตลาดคลองเตยสกปรกและไม่ถูกสุขลักษณะนั้น สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารเลขที่ 31/53 ซอยตลาดคลองเตย 3 ถนนสุนทรโกษา ลักษณะอาคารเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น เปิดเป็นร้านอาหารจีน พบพนักงานประกอบปรุงอาหารอยู่ในร้านและมีไรเดอร์รอรับอาหารบริเวณหน้าร้าน จากการตรวจสอบพบบริเวณหน้าร้านมีเศษอาหารและพื้นสกปรก สอบถามพนักงานในร้าน ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้และไม่สามารถติดต่อเจ้าของร้านได้ เบื้องต้นได้แนะนำด้วยภาษาแปล โดยกำชับทำความสะอาดร้านให้สะอาด ถูกสุขลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2565 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะได้ตรวจสอบ ควบคุม กำกับ อย่างเคร่งครัด พร้อมประสานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อสอบถามข้อมูลผู้เช่าอาคารต่อไป
นางกฤติมา นิ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตร้านอาหารบริเวณริมถนนจรัญสนิทวงศ์บางร้านนำถังน้ำมาวางริมทางเท้า เพื่อล้างภาชนะว่า สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินโครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัย โดยตรวจประเมินสถานที่จำหน่ายอาหารในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุม กำกับ และให้คำแนะนำผู้ประกอบกิจการในการดูแลการประกอบปรุงและจำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัย ครอบคลุมทั้งด้านสุขลักษณะของสถานที่ คุณภาพอาหาร ภาชนะอุปกรณ์ และสุขอนามัยส่วนบุคคล ตลอดจนประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ เรื่องการประกอบกิจการร้านอาหารอย่างถูกต้องด้านสุขลักษณะ รวมทั้งส่งเสริมความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหารแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหาร
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ร่วมกับ 50 สำนักงานเขต ดำเนินการโครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดทำคู่มือการดำเนินงานสุขาภิบาลอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารพื้นที่กรุงเทพฯ เผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2565 รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เรื่องการประกอบกิจการร้านอาหารอย่างถูกต้องกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์ และส่งเสริมความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหารแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ตามหลักสูตรที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประกาศกำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร มีความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหาร ขณะเดียวกัน ยังติดตามการพัฒนางานสุขาภิบาลอาหาร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานเขตในการควบคุม กำกับ สถานที่จำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะและจำหน่ายอาหารที่สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค