กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตถึงการกำหนดคุณสมบัติโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน กทม. อาจไม่เหมาะสมกับปัจจุบันว่า สนศ. ได้ดำเนินการโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน กทม. ในยุคดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงินงบประมาณ 481,283,060 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูและนักเรียน กทม. มีเครื่องมือใช้จัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อและนวัตกรรมที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และมีแพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้ที่สามารถบริหารและควบคุมด้านปลอดภัยไซเบอร์ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนจัดทำร่างขอบเขตงาน โดยการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาจะต้องตอบสนองวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความแข็งแรง มีคุณภาพ มีราคาคุ้มค่าเหมาะสม และเปิดกว้างทางการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการให้ครูออกแบบและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับช่วงวัยนักเรียน ซึ่งนักเรียน กทม. ส่วนใหญ่อยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ คุณภาพของการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบปฏิบัติการ หรือ OS เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบจัดการชั้นเรียน มอบหมายงาน การติดตามความก้าวหน้า ผลการเรียน ระบบสร้างเอกสาร การสร้างเนื้อหาแบ่งปัน ตลอดจนเครื่องมือระดมความคิดและระบบควบคุมเครื่องต้องมีความปลอดภัย สามารถกำหนดนโยบายการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงชัดเจนว่า OS เป็นเพียงระบบปฏิบัติการพื้นฐานที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาทำงานได้ ดังนั้น โครงการนี้จึงไม่มีการระบุชื่อยี่ห้อ OS เป็นเฉพาะ หรือกำหนดคุณสมบัติใกล้เคียงยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง อีกทั้ง ตัวเครื่องมีแบรนด์ผู้ประกอบการที่จะเข้าแข่งขันโครงการนี้ได้ไม่น้อยกว่า 5 แบรนด์ (ยี่ห้อ) ซึ่งจะประกาศร่างขอบเขตของงานดังกล่าวให้สาธารณชนเสนอแนะและรับฟังคำวิจารณ์ต่อไป
สำหรับความคืบหน้าโครงการประกวดราคาซื้ออุปกรณ์ห้องเรียนดิจิทัล ตามรายการค่าใช้จ่ายในการพัฒนาห้องเรียนดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ กิจกรรมที่ 1 เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ประกาศประกวดราคาโดยกำหนดให้ยื่นเสนอราคาแบบแยกรายการพร้อมกันในประกาศเดียวกัน จำนวน 3 รายการ ได้แก่ (1) รายการโทรทัศน์ แอลอีดี (LED TV) แบบ Smart TV ขนาด 65 นิ้ว พร้อมขาแขวน 246 เครื่อง (2) รายการเครื่องเสียง 333 เครื่อง และ (3) รายการเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา 1,630 เครื่อง ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาผลเพียงชุดเดียวที่มีอำนาจพิจารณาตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอทุกบริษัท ทำให้ต้องใช้เวลาพิจารณาเอกสารที่มีจำนวนมากและต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่าง ๆ คณะกรรมการฯ จึงต้องพิจารณาด้วยความละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดย สนศ. จะเร่งรัดการพิจารณาการประกวดราคาฯ และประกาศผลผู้ชนะการประกวดราคาฯ อย่างรวดเร็วที่สุด
สจส. เร่งศึกษารูปแบบจัดการเดินเรือในคลอง-สนับสนุนเอกชนลงทุน-ใช้พลังงานสะอาด
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า ตามที่มีข้อสังเกตเรือในโครงการจ้างทดลองเดินเรือในคลองภาษีเจริญถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งานนั้น กทม. เริ่มจัดการเดินเรือโดยสารในคลองภาษีเจริญ ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 57 โดยจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ดำเนินการเส้นทางเริ่มต้นจากท่าเรือประตูน้ำภาษีเจริญถึงท่าเรือเพชรเกษม 69 ระยะทาง 11 กิโลเมตร ให้บริการด้วยเรือดีเซลขนาด 60 ที่นั่ง โดยไม่จัดเก็บค่าโดยสาร ต่อมา กทม. ได้ทำบันทึกข้อตกลงการมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของ กทม. (คลองภาษีเจริญ) ให้กับ KT ระยะเวลา 10 ปี เริ่มให้บริการวันที่ 17 มี.ค. 60 ถึงวันที่ 16 มี.ค. 70 โดย KT ได้จัดหาเรือมาให้บริการเป็นเรือไฟเบอร์กลาสดีเซล จำนวน 12 ลำ ขนาด 40 ที่นั่ง (เรือเป็นทรัพย์สินของ KT) อย่างไรก็ตาม KT ได้หยุดเดินเรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน ประกอบกับสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. ขอคืนพื้นที่บริเวณสวนยอดแขมที่เป็นศูนย์ซ่อมบำรุง ถังน้ำมันเชื้อเพลิง และจุดจอดเรือโดยสาร (ท่าเรือเพชรเกษม 69) เพราะต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำและปรับปรุงเขื่อนคลองทวีวัฒนา
ทั้งนี้ สจส. อยู่ระหว่างศึกษาและให้ผู้ประกอบการเดินเรือนำเสนอรูปแบบวิธีการจัดการเดินเรือในคลองต่าง ๆ ที่มีความเป็นไปได้ เนื่องจากคลองในกรุงเทพฯ มีข้อจำกัดทางกายภาพคลอง เช่น การรุกล้ำ ความสูงของสะพานข้ามคลอง ประตูระบายน้ำ รวมถึงระดับน้ำที่เหมาะสมในการเดินเรือของแต่ละคลอง โดย สจส. มีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนมาลงทุน เพื่อลดภาระด้านงบประมาณในการส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำของ กทม. และจะเน้นการนำเรือพลังงานสะอาดมาให้บริการต่อไป
เขตราชเทวีแจงเทศกิจกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าสะพานหัวช้าง กำชับปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส
นายสบโชค ณ ศรีโต ผู้อำนวยการเขตราชเทวี กทม. กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่เทศกิจนำโทรศัพท์ของผู้ค้ารถเข็นมาโอนเงินบริเวณทางเท้าสะพานหัวช้าง เขตราชเทวีว่า สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินตรวจสอบพฤติกรรมเจ้าหน้าที่เทศกิจเขตราชเทวีแล้ว พบว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 67 สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์จัดระเบียบการตั้งวางรถเข็นทำการค้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณสะพานหัวช้าง โดยได้พูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ค้าและประชาสัมพันธ์ให้เคลื่อนย้ายรถเข็นทำการค้า เพื่อให้เป็นไปตามประกาศฯ กทม. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ ข้อ 5 (2) ให้จัดแผงค้าได้เพียงฝั่งเดียว โดยชิดขอบถนน เพื่อให้มีระยะปลอดภัยด้านสัญจร ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาให้ผู้ค้าปรับปรุงเเก้ไขภายใน 1 สัปดาห์ โดยสำนักงานเขตฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง หากพบการตั้งวางกีดขวางทางสาธารณะจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และข้อกฎหมายต่อไป
ส่วนกรณีที่ระบุเจ้าหน้าที่เทศกิจนำโทรศัพท์ของผู้ค้ารถเข็นมาโอนเงินบริเวณทางเท้าสะพานหัวช้างนั้น เป็นการแจ้งเบาะแสความเท็จ โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจอยู่ระหว่างปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์การจัดระเบียบผู้ค้าตามอำนาจหน้าที่และไม่ได้นำโทรศัพท์ของผู้ค้ารถเข็นมาโอนเงิน เนื่องจากโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ โดยวันที่ 17 ธ.ค. 67 สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่จัดระเบียบรถเข็นการค้าบริเวณสะพานหัวช้าง หลังจากที่ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ค้าในการจัดระเบียบพื้นที่เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 67 เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดประชุมข้าราชการและบุคลากรเขตเป็นประจำทุกเดือน โดยเน้นย้ำการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์คุณธรรมและความโปร่งใส มีการประกาศเจตนารมณ์ตามนโยบาย No Gift Policy No (ไม่รับ – ไม่ให้) พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงตรวจพื้นที่และจัดระเบียบให้เป็นไปตามประกาศฯ กทม. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะ โดยลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน ทั้งการจัดระเบียบไม่ให้ตั้งวางสิ่งของเกินจุดที่กำหนด จัดเก็บสิ่งของเมื่อค้าขายเสร็จสิ้น ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำการดูแลรักษาความสะอาด ร่วมล้างทำความสะอาดพื้นที่ทุกวันจันทร์ที่ไม่มีการค้า และกำชับการทิ้งขยะภายในเวลาและจุดที่เขตกำหนด เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท. ได้สั่งการหัวหน้าฝ่ายเทศกิจกวดขันเจ้าหน้าที่เทศกิจให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ให้เกี่ยวข้องการกระทำความผิดในการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้งที่มีการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ผู้บริหาร สนท. และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต ซึ่งจัดประชุมเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ ได้มีหนังสือสั่งการและกำหนดมาตรการลงโทษการละเลย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จากปลัดกรุงเทพมหานครให้ทุกสำนักงานเขตถือปฏิบัติ ซึ่งเป็นมาตรการเสริมจากระเบียบแบบแผนและแนวทางที่กฎหมายกำหนดให้ข้าราชการต้องปฏิบัติ
เขตคลองเตยประสาน สน.ท้องที่ จัดสายตรวจดูแลความปลอดภัยผู้ใช้สะพานลอยแยกรัชดาฯ-คลองเตย
นางสาวเกศจริน สามิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนสะพานลอยคนข้ามบริเวณสี่แยกรัชดาฯ-คลองเตย มีกลุ่มคนมั่วสุมดื่มสุราว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อและ สน.ท่าเรือ จัดชุดสายตรวจตรวจสอบดูแลความปลอดภัยของประชาชน นักเรียน และกวดขันคนเร่ร่อนนั่งดื่มสุรา ดมกาว บนสะพานลอยคนข้ามสี่แยกคลองเตยและสะพานลอยคนข้ามตลาดคลองเตย 2 ไปยังหน้าโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยกำชับให้ดำเนินการกวดขันอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จะเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและนักเรียนที่สัญจรผ่านบริเวณสะพานลอยคนข้ามดังกล่าว โดยตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่างและกล้องวงจรปิด (CCTV) โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยง จุดอับ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมและแก้ไขอย่างเร่งด่วนต่อไป