ทีมข่าวเฉพาะกิจ
เรียกได้ว่าถกถี่ ไม่หนีห่างปัญหาในเมืองใหญ่ สำหรับ สภากรุงเทพมหานคร ที่ฟาดเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนต้อนรับ วันเด็กเมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมา ต่อด้วยประเด็นหลอดไฟติดๆ ดับๆ ทำให้มหานครเสมือนอยู่ในหนังหลอน
ก่อนอีก 1 สัปดาห์ให้หลัง หลอดไฟทยอยถูกเปลี่ยนในพริบตา แต่ปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้าไม่ได้จบแค่นี้ วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภา กทม.จึงเรียกถกเข้มรอบที่ 3 แห่งปี 2566 เปิดพื้นที่ให้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) รุมขยี้นานาปัญหาอันสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตประชาชนในภาพกว้าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นั่งเก็บรายละเอียดอยู่ข้างๆ ทีมผู้บริหาร สะกิดรองผู้ว่าฯให้ลุกแจงข้อข้องใจเป็นระยะ
หนึ่งในเรื่องที่เรียกว่า อึ้ง! ทึ่งแล้วทึ่งอีก คือ สายไฟรุงรัง ที่ชวนรำคาญตา ห้อยหราให้เห็นกันอยู่ทุกมุมเมือง ในฐานะผู้แทนเขตที่คนกรุงฯเลือกมา ส.ก.อาสาปะฉะดะกลางสภา เพื่อให้แก้ปัญหาด่วนที่สุด!
เพราะนี่เป็นช่วงเทศกาลที่นักท่องเที่ยวทะลักเข้ามา จะปล่อยให้ พาดหน้าพาดตาชาวต่างชาติ ไม่ได้!
เจอแคปจวกวันเว้นวัน อายฝรั่ง’สายไฟสื่อสารรุงรัง’ไวรัลทวิตเตอร์
เพราะเรื่องนี้ยังคงถูกร้องเรียนเข้ามาไม่หยุดหย่อน วิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก พรรคเพื่อไทย ไม่รีรอเสนอญัตติขอให้ผู้ว่าฯรีบสั่งจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่
ชี้ว่าใน กทม.มีสายที่รอการแก้ไขอยู่หลายจุดมาก จากที่เดินสำรวจถนนเส้นสุรวงศ์-สี่พระยา เห็นได้ชัดว่าต้องซ่อมด่วน
“เมื่อปีที่แล้วมีดาราฮอลลีวู้ดท่านหนึ่งมาเที่ยวกรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความและภาพสายสื่อสาร ซึ่งดังและเป็นไวรัลในทวิตเตอร์ชั่วข้ามคืน ทำให้โลกเห็นภาพในอีกมุมหนึ่งของ กทม.” ส.ก.วิพุธจี้จุดที่น่าเขิน
ยังไม่รวมเหตุอัคคีภัยหลายเหตุการณ์ เกิดทั้งที่สำเพ็ง ทั้งเขตปทุมวันก็ดี และอีกหลายครั้งที่ยกมาเล่าไม่ไหว
“การจัดระเบียบโดยการรวบมัดไว้เป็นกระจุกเดียวกัน เวลาเกิดไฟไหม้ ไหม้ไวกว่าเดิมหรือไม่?” วิพุธฝากให้หาคำตอบนี้
คนเขตบางรักยังคงทักเข้ามาทุกวันว่า จริงๆ แล้วคืบหน้าไปถึงไหน สะท้อนแล้วว่าประชาชนมีความพึงพอใจแค่ไหนกับภาพสายสื่อสารขวางเมืองในปัจจุบัน
วิพุธเห็นว่าถ้าจะแก้ไขให้จบในระยะยาว ให้ กทม.เป็นสมาร์ทซิตี้เต็มตัวได้ การนำสายสื่อสาร สายไฟ กระทั่งหม้อแปลงไฟฟ้า ลงดิน เป็นเรื่องจำเป็น
พูดถึงข้อดีจากที่ได้ไปดูงาน สยามสแควร์ก็ดึงเอกชนมาร่วมนำหม้อแปลงไฟฟ้าลงดิน ทำให้ ‘ระบบไฟฟ้าเสถียร’ จ่ายไฟได้มากกว่าเดิม ที่สำคัญพอไฟเสถียร ค่าไฟประชาชนลดลง ‘ทัศนียภาพสวยงาม’ ทั้งยัง ‘ปลอดภัยจากไฟไหม้’ ช่วย ‘ส่งเสริมการท่องเที่ยว’ และ ‘รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังโควิด’ ซ้ำช่วงนี้ยังเหมาะนำมาดำเนินการต่อเพื่อ ‘ลดค่าใช้จ่าย’ ในการตัดต้นไม้และ ‘ลดคาร์บอนไดออกไซด์’
“สายสื่อสารเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนประจำ ภาพถนนที่โผล่ตามโซเชียล ต่างๆ ถูกแคปมาด่าวันเว้นวัน นั่นคือถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนเส้นแรกของประเทศ ก็ถูกโจมตี ซึ่งถนนเส้นนี้ผ่านหลายเขต ตั้งแต่บางคอแหลม สาทร บางรัก สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ไปจนถึงพระนคร ทั้งที่เป็นถนนเศรษฐกิจ ประกอบด้วยโรงแรมชั้นนำต่างๆ มากมาย รองรับผู้นำจากต่างประเทศ ย้อนไปช่วงเอเปค ผู้นำประเทศใหญ่ๆ ก็มาพักริมถนนเส้นนี้ ผมก็อาย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้” วิพุธวอนให้ซ่อนลงดิน
แม้เข้าใจดีว่าหน้าที่ทั้งมวลไม่ได้อยู่กับ กทม.เพียงผู้เดียว แต่ กทม.ในฐานะเป็นเจ้าบ้าน เป็นผู้อำนวยความสะดวก ย่อมเป็นหัวใจของเรื่องนี้
“เราควรมาคุยกับเอกชนกันว่าพร้อมที่จะมาลงทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ ในรูปแบบไหน จะได้รีเทิร์นอย่างไร เพราะเรื่องนี้อยู่กับเรามา 40 ปีแล้ว ส่งผลกับประชาชนโดยตรง ผมเชื่อว่าการแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ควรหยุดเพียงแค่นำสายสื่อสารไปมัดรวมกันเป็นกระจุก” ส.ก.บางรักปิดท้าย
อึ้ง ทึ่ง เสียว’สายไฟล้อมบ้าน’ขอร้องกลางสภา มาดูแล้วแก้ด้วย
ไม่ได้คิดไปเอง … ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นยืนยันว่าเห็นด้วยกับญัตติของ ส.ก.วิพุธ แม้จะเข้าใจฝ่ายบริหารว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก เพราะเกี่ยวโยงหลายหน่วยงาน แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะ ประชาชนทุกข์ใจ
“ในเขตบางซื่อประเด็นหลักๆ คือสายไฟและสายสื่อสารเข้าไปชิดตัวอาคารของประชาชน จนเข้าไปติดกับกำแพงบ้าน เช่น ในชุมชนสุขสันต์ 2 เสาไฟฟ้าชิดตัวบ้านทำให้สายไฟฟ้าแรงสูงต่างๆ ติดอยู่กับตัวตึก เป็นอันตรายต่อการเกิดอัคคีภัยมากๆ ได้แจ้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการมาลงพื้นที่แต่ไม่ดำเนินการอะไรต่อ อยากฝากฝ่ายบริหารหาทางออกดู ยังไงก็ต้องแก้ไข” ส.ก.บางซื่อย้ำ
ก่อนเปิดภาพที่แยกบางโพ ทำเอาตะลึงกับสายไฟที่โยงไปถึงอาคาร สายไฟทองแดงที่ถูกตัดและทิ้งปลายคาไว้อยู่หน้าบ้านเรือนพี่น้อง ยังไม่รวมภาพสายไฟพันอ้อมเสาบนสกายวอล์ก ที่ห้างแห่งหนึ่งซึ่งยังพันกับตัวตึกอีกที ทำให้ ส.ก.เนอส รู้สึกว่าเราไม่ควรจะอยู่กันแบบนี้
“ขอร้องให้ท่านหาทางออกกับเรื่องนี้ และอยากให้มีการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องอีก เราจะได้ไม่ต้องมาคุยกันแบบนี้อีก”
ไอเดียใหม่แก้ได้แน่ ‘เก็บภาษีสายรุงรัง’
ในตอนหนึ่ง สมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน พรรคประชาธิปัตย์ โชว์ภาพเด็ด คือสายไฟและสายสื่อสาร ‘ตรอกราชาวดี’ ที่ชาวบ้านแจ้งมาว่า อยากได้ป้ายใหม่ติดตรงเสาทางเข้าตรอก เพราะคนที่อื่นมาแล้วหาไม่เจอ
“พอคนเข้ามาอยู่เยอะๆ สายไฟพันกันอย่างนี้ ผมเคยดูข่าวก็ท้อแท้ใจ ที่สำเพ็งก็เกิดในลักษณะเช่นนี้ หวังว่าจะไม่เกิดซ้ำในเขตผม แต่หลังจากที่ทำหนังสือไปที่สำนักการโยธา ก็ได้รับการแก้ไขแบบที่ ส.ก.หลายท่านกังวลว่าไฟจะไม่ลัดวงจรหรือ เพราะเอาไปรัดม้วนพันกัน
พี่น้องประชาชนและ ส.ก.หลายท่านที่ยื่นญัตติ ได้โชว์ประติมากรรมที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง เต็มไปหมด แต่สิ่งหนึ่งคือการปรับภูมิทัศน์ของ กทม.จะปรับเรื่องสายสื่อสารเมื่อไหร่” สมชายห่วงใย ขอให้ กทม.เร่งประสาน พร้อมทวงผลลัพธ์จากงบภาษีประชาชน ส.ก.ท่านนี้ยังแนะให้คิดใหม่ทำใหม่ หาวิธีออกกฎหมาย ‘เก็บภาษีสายสื่อสาร’ เป็นค่าล่วงล้ำที่สาธารณะ แบบที่กรมเจ้าท่าเข้าไปเก็บค่าล่วงล้ำลำน้ำ
“ลองหาวิธีดู ถ้าเป็นไปได้ขอเก็บพ่วง คล้ายค่าบำบัดน้ำเสียหรืออะไรก็ได้ แต่อย่าไปใช้กฎหมายเดิมที่บอกว่าเราสามารถเก็บได้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่คุ้ม ไหนๆ ต้องเสียเงินปรับภูมิทัศน์แล้ว เราเปลี่ยนมุมมองเป็น ‘เก็บภาษีสายสื่อสาร’ ทำให้ได้ แล้วสายสื่อสารเหล่านี้ก็จะไม่พันกันยุ่ง” สมชายแนะทางแก้
เพราะแน่ใจว่ามีหลายสายที่ใช้การไม่ได้แล้วแต่ยังไม่ถูก ‘กำจัด’
รุมจี้ผู้ว่าฯ แก้มลภาวะสายตาคุย กฟน.จริงจัง’โละสายตาย’
ในวันนั้นผู้แทนเขตอื่นก็ต่างอัดอั้น ขอแจมอภิปรายกันด้วยหลายท่าน นภัสสร พละระวีพงศ์ ส.ก.เขตบางกะปิ พรรคเพื่อไทย เห็นด้วย ทุกความเห็น อย่างในเขตบางกะปิเอง ก็มีสายไฟที่ห้อยลงมา หนำซ้ำยังมีลูกบ้านชนสายสื่อสารพวกนี้จนเกิดอุบัติเหตุ ตอนนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ
ส.ก.บางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ วิรัช คงคาเขตร ยกมือซัดต่อ ยกให้เป็นหนึ่งใน ‘มลภาวะทางสายตา’ เจ้าหน้าที่สำนักการโยธา แม้กระทั่งเขตเองก็ยังบอกว่า สายไฟบางเส้นมีอายุ 20 ปี เนื่องจาก กฟน.ไม่ได้เคลียร์เส้นเก่าออก ถ้าเกิดเคลียร์ออก จะเหลือเฉพาะสายไฟที่ใช้จริง
“รัฐวิสาหกิจเขาไม่ฟังหรอก เขาไม่ค่อยเชื่อเรา ถามว่า กทม.ได้อะไรจากการที่ กฟน.ปักเสา อาจจะได้แสงสว่างบริการประชาชนชาวกรุงเทพฯ แต่สายสื่อสารที่เขาพาด เหมือนเรามองดูรายได้ของ กฟน.ที่เขาได้จากบริษัทสื่อสารทั้งหลาย ถามว่าเป็นความผิดของ กทม.ไหม ไม่ใช่ แต่เป็นหน้าที่ในฐานะผู้ว่าฯ ข้าราชการ กทม.และ ส.ก.ที่จะแก้ปัญหาเรื่องมลภาวะทางสายตานี้ได้ ที่สำคัญคือเราต้องคุยกับ กฟน.ให้ชัดเจน” ส.ก.รุ่นใหญ่แห่งบางกอกใหญ่ ขอกำชับบ้าง
ส่วน สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือ ดร.จอห์น ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย มองดูงบแล้วขอเห็นค้าน ว่าไม่ควรเอาสายไฟลงดิน แต่ควรเอา ‘สายตาย’ ที่ไม่ได้ใช้งานออก หรือสร้างกระเปาะเพื่อส่งสัญญาณถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการลงทุนที่ไม่มากและไม่เพิ่มภาระให้เขา
เพราะหากจะมุดลงดิน ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่จะมาเช่าท่อร้อยสายลงดิน ต้องเสียเงินให้กับกรุงเทพธนาคมเพิ่มขึ้น
“จากสายไฟที่พาดอยู่ข้างบน ประมาณ 1 กม.ต่อ 1,000 บาท ก็จะเพิ่มเป็น 8 เท่า 8,000 กว่าบาท จึงขอคิดต่าง ไม่ควรนำสายไฟฟ้าลงดิน เนื่องจากงบประมาณและสถานการณ์ตอนนี้ของ กทม.”
“ผมเสนอแนวทางง่ายๆ อันดับแรกคือ เอาสายตายออก มาตรการที่ 2 คือ สร้างกระเปาะ หรือตัวรัดสายไฟ ตัวหนึ่งร้อยกว่าบาท แต่ตัวกระเปาะนี้จะมีสัญญาณ RFID ส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กทม., เขต หรือ กฟน. ลงทุนไม่เยอะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ และต้องขออนุญาตก่อนแกะกระเปาะนี้” ดร.จอห์นให้อีกทางเลือก
ลุกแจง กำลังรื้อ-รวมสายตั้งเป้าปี’70 จัดให้ได้ 1,000 กม.-มุดดิน 236 กม.
ส่องมุมผู้บริหาร วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ ในฐานะที่ดูด้านโยธา ชี้แจงแทนชัชชาติ เรื่องจัดระเบียบสายสื่อสารมีอยู่ 2 ลักษณะคือ 1.นำสายสื่อสารลงใต้ดิน และ 2.จัดระเบียบสายที่พาดอยู่บนเสาไฟ
ในการนำสายลงใต้ดิน กฟน.เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการสร้างท่อร้อยสาย และ กทม.จะอนุญาตให้ผู้ประกอบการเปิดพื้นที่ทางเท้าเพื่อก่อสร้าง ร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ซึ่งปัจจุบัน กฟน.มุดเสร็จไปแล้ว 62 กม. ส่วนปีนี้ กฟน.จะทำอีก 29 กม. และมีแผนจะทำต่อเนื่อง รวม 236 กม.ในปี 2570 เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัย
ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ปัจจุบันทาง กสทช.จัดไปแล้ว 37 เส้นทาง รวม 161 กม. และปีนี้จะมีแผนดำเนินการต่ออีก 442 กม. ขณะเดียวกัน กทม.ก็จะทำงานร่วมกับ กสทช.และ กฟน.อย่างใกล้ชิด ในการจัดระเบียบสายเพิ่มเติมให้ครบ 1,000 กม. ตามนโยบาย
“สำหรับแนวถนนซึ่งไม่อยู่ในแผน ทาง กฟน.และ กสทช.ได้ร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสา ด้วยการรื้อถอนออก ลดจำนวนสายโดยการใช้สายร่วมกันและเดินสายใหม่ พร้อมระบุเจ้าของสายสื่อสาร” รองฯวิศณุเผยความคืบหน้า
ก่อนจบประเด็นเดือดแห่งสัปดาห์ วิพุธ ส.ก.เขตบางรัก ในฐานะต้นคิดที่ยื่นเรื่องเข้าสภา กทม.ย้ำอีกทีว่า เราทนอยู่กันมานาน 40-50 ปี และนี่ไม่ใช่แค่เรื่องที่ต้องคิดทบทวนในมุมงบประมาณและความคุ้มค่า แต่ยังมีเรื่อง ‘มูลค่าของเวลา’ เพิ่มเข้ามาด้วย
“ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายยิ่งมากขึ้น ค่าความเสียหายที่เกิด ยิ่งมากขึ้น ที่สำคัญ ประโยชน์ต่างๆ ที่ประชาชนควรจะได้รับ ก็จะถูกยืดไปอีก” วิพุธทิ้งท้าย
บรรยายใต้ภาพ
สายไฟระโยง บดบังชื่อตรอก
วิพุธ ศรีวะอุไร เปิดภาพไฟไหม้ใน กทม. จากสายสื่อสารรุงรัง
นภัสสร พละระวีพงศ์
สุรจิตต์พงษ์ สิงห์วิทยา
สมชาย เต็มไพบูลย์กุล
วิศณุ ทรัพย์สมพล
วิรัช คงคาเขตร
ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2566 (กรอบบ่าย)