กทม. ชี้แจงข่าวประจำวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567

กทม. สั่งระงับใช้อาคารโรงงานผลิตถุงพลาสติก ซ.บางกระดี่ 32 หลังเกิดเพลิงไหม้ พร้อมเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตถุงพลาสติก ซอยบางกระดี่ 32 แขวงแสมดำว่า สปภ. ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพร้อมรถดับเพลิงเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้โรงงานในซอยบางกะดี่ 32 เขตบางขุนเทียน จากการตรวจสอบพบว่า เพลิงลุกไหม้โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทถุงพลาสติกและขวดน้ำของ บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ลักษณะที่เกิดเหตุเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ซึ่งเพลิงได้ลุกไหม้บริเวณเครื่องจักรในสายการผลิต มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายประมาณ 2 ไร่ 75 ตารางวา (3,500 ตารางเมตร) สาเหตุเพลิงไหม้และค่าเสียหายอยู่ระหว่างการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลแสมดำ โดย สปภ. ใช้ระยะเวลาในการดับเพลิงค่อนข้างนานประมาณ 4 ชั่วโมง เนื่องจากมีสารเคมีไวไฟ อาทิ สารเอททิลอะซิเตท (EA) และสารทำละลาย (Solvent) จำนวนมาก หลังจากเพลิงสงบแล้วได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางขุนเทียนทำการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นมาอีกและสร้างความอบอุ่นใจให้กับประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง

นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย (สนอ.) สำนักการระบายน้ำ (สนน.) สำนักการโยธา (สนย.) สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางขุนเทียน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองทุนประกันวินาศภัย และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุและแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมประกาศเขตเพลิงไหม้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยสั่งห้ามเข้าใช้และเข้าพื้นที่อาคารอย่างเด็ดขาดจนกว่าจะแก้ไข เพื่อบรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย พร้อมตรวจสอบอาคารเบื้องต้นพบอาคารดังกล่าวเกิดการวิบัติจนเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน จึงเห็นควรให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญตามหลักวิศวกรรมและรายงานผลให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดตั้งจุดพักพิงชั่วคราว (ศูนย์สร้างสุขฯ) เพื่อใช้รับรองประชาชนกรณีอพยพ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เฝ้าระวังติดตามพื้นที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิด รวมทั้งออกคำแนะนำให้ระงับการประกอบกิจการทันทีจนกว่าจะปรับปรุงโครงสร้างการทำงานให้มีความปลอดภัย

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ถนอม ทองสิมา ได้จัดตั้งหน่วยปฐมพยาบาลเพื่อดูแล ตรวจสุขภาพประชาชนในหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เกิดเหตุ โดยผลการตรวจสุขภาพในเบื้องต้นพบไม่มีประชาชนบาดเจ็บ หรือได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ได้ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน รวมถึงค้นหาและคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอัคคีภัยดังกล่าวต่อไป

ส่วนการตรวจสอบคุณภาพอากาศและแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ สนน. ได้เก็บอย่างน้ำจากท่อน้ำทิ้งบริเวณด้านหน้าโรงงาน เพื่อนำไปวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเคมีในห้องปฏิบัติการทั้งด้านกายภาพ ด้านเคมีและจุลชีววิทยา ซึ่งจะใช้เวลาวิเคราะห์ผลประมาณ 5 วัน ส่วนกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่โรงงานและชุมชนโดยรอบ ผลการตรวจสอบไม่พบไอระเหยสารเคมีอันตราย Volentine Organic Carbons(VOCs) ในบรรยากาศและสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ สนอ. จะแจ้งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของสถานที่เกิดเหตุและแนวทางจัดการเศษวัสดุจากเพลิงไหม้และสารเคมีที่อาจตกค้างในพื้นที่อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สนอ. ได้จัดทำและดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ และภาวะฉุกเฉิน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน กทม. ได้แก่ สปภ. สนย. และสำนักงานเขต พร้อมหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการตรวจแนะนำความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบกิจการที่มีการจัดเก็บ การผลิตการสะสม การขนส่ง และการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สนอ. กำหนดแผนการลงตรวจสอบสถานประกอบการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 17 ธ.ค. 67 – 22 พ.ค. 68

 

 

กทม. เร่งแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองสอง ขอความร่วมมือชุมชนไม่ทิ้งขยะ-เศษอาหารลงคลอง

นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียนปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองสองสายใต้ บริเวณท้ายซอยพหลโยธิน 58 ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบว่าเป็นจุดรับน้ำจากคลองในชุมชนแอนเน็กซ์ โดยรับน้ำมาจากฝั่งถนนพหลโยธิน ซึ่งพื้นที่ชุมชนดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสียของคลองฯ มีขนาดประมาณ 1.35 กิโลเมตร ประกอบด้วย บ้านพักอาศัยขนาดเล็กอยู่กันอย่างหนาแน่นประมาณ 2,100 หลังคาเรือน (จากประกาศของสำนักงานเขตสายไหม ปี พ.ศ.2559) และมีซอยชุมชนใกล้เคียงอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อประเมินอัตราการเกิดน้ำเสียจากร้อยละ 80 ของอัตราการใช้น้ำประปา พ.ศ.2566 ได้เท่ากับประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ลบ.ม./วัน) หากพิจารณาแหล่งกำเนิดน้ำเสียทั้งหมดบริเวณคลองสองสายใต้จะพบว่า มีขนาดพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และ จ.ปทุมธานี รวมกันกว่า 20 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ประกอบกับเป็นพื้นที่พัฒนาหนาแน่น ได้แก่ บริเวณริมถนนพหลโยธินในย่านคลองรังสิต ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่เขตพักอาศัยและพาณิชยกรรมจำนวนมาก สำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ในระยะเร่งด่วน สนน. จะบรรเทาการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยประสานกรมชลประทานผันน้ำดีเข้าคลองสองและคลองหกวาสายล่าง และเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เพื่อนำน้ำจากคลองหกวาสายล่างมาช่วยหมุนเวียนและเจือจางน้ำเสีย เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาคุณภาพน้ำยังไม่ดีเท่าที่ควรและปริมาณน้ำต้นทุนในคลองหกวาสายล่างที่ไม่เพียงพอ ประกอบกับไม่อยู่ในช่วงฤดูฝน จึงทำให้การหมุนเวียนน้ำ เพื่อบำบัดไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนมาตรการระยะยาวควรดำเนินการโครงการบำบัดน้ำเสียดอนเมืองตามแผนแม่บทการจัดการน้ำเสียของ กทม. เนื่องจากบริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่โครงการบำบัดน้ำเสียดอนเมือง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริการ 60.12 ตร.กม. มีขีดความสามารถการบำบัดน้ำเสียได้ 140,000 ลบ.ม./วัน นอกจากนี้ ควรมีมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะ เศษอาหาร สิ่งปฏิกูล หรือปล่อยน้ำเสียลงท่อระบายน้ำ หรือแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายอภิชาต แสนมาโนช ผู้อำนวยการเขตสายไหม กทม. กล่าวว่า บริเวณคลองสองตั้งแต่จุดตัดคลองหกวาสายล่างถึงท้ายซอยพหลโยธิน 58 สนน. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบร่วมกับเทศบาลตำบลคูคต จ.ปทุมธานี โดย สนน. จะรับผิดชอบฝั่งตะวันตก เบื้องต้นสำนักงานเขตฯ ได้ประสาน สนน. ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ส่วนเรื่องไฟฟ้าแสงสว่างบริเวณถนนสุขาภิบาล 5 สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา (สนย.) เบื้องต้นสำนักงานเขตฯ ได้ทำหนังสือประสาน สนย. ให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

 

เขตพระนคร กำชับแนวปฏิบัติการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ป้องกันการโอนเงิน OT คลาดเคลื่อน

นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Krungthai Corporate Online) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงานเขตพระนครว่า ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตฯ ได้เบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาในเดือนมิถุนายน ปี 2566 เป็นเงิน 1,233,810 บาท และดำเนินการโอนเงินค่าตอบแทนให้ผู้มีสิทธิรับเงิน จำนวน 648 ราย ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Krungthai Corporate Online) และมีการโอนเงินค่าอาหารทำการนอกเวลาคลาดเคลื่อนจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่งให้กับเจ้าหน้าที่อีกรายหนึ่ง จำนวนเงิน 2,100 บาท ซึ่งได้ดำเนินการเรียกเงินคืน เพื่อคืนให้แก่เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก สำนักงานเขตฯ ได้เวียนแจ้งหนังสือสำนักการคลัง ที่ กท 1303/ว349 ลงวันที่ 16 พ.ย. 66 เรื่อง การควบคุมและกำกับการโอนเงินให้ผู้มีสิทธิรับเงินของหน่วยงานในสังกัดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Krungthai Corporate Online) เพื่อกำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200