กทม. เพิ่มมาตรการเชิงรุกป้องกันโรคอุจจาระร่วงช่วงฤดูหนาว ดูแลสุขภาพนักเรียนอย่างใกล้ชิด
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอุจจาระร่วงแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนศ. ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กนักเรียน กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน ในพื้นที่ 50 เขต โดยกำชับให้กระบวนการปรุงอาหารให้แก่นักเรียน ครูและบุคลากรถูกหลักอนามัย เป็นอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ มีภาชนะใส่ หรือบรรจุอาหารที่สะอาดและป้องกันแมลงนำโรค หากพบผู้ป่วย หรือการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัสในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอุจจาระร่วง ให้โรงเรียนรายงานสถานการณ์พบการติดเชื้อ พร้อมทั้งกำชับให้โรงเรียนเฝ้าระวังและสังเกตอาการของนักเรียนอย่างใกล้ชิด และดำเนินการตามมาตรการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่แจ้งให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ทราบ และดำเนินการตามหนังสือ กทม. ด่วนมาก ที่ กท 0808/ว 196 ลงวันที่ 17 ต.ค. 67 เรื่อง การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนในสังกัด กทม. โดย สนศ. ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยการตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด สุขาภิบาล วัสดุการเรียนการสอน รวมทั้งให้สำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียนในสังกัด โดยดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาเป็นประจำอย่างเนื่อง
นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. และสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. เกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการเฝ้าระวังและดูแลนักเรียน วิธีการสังเกตอาการของโรค แนวทางป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัส และวิธีการปฏิบัติตนเมื่อมีอาการอุจจาระร่วง โดยได้จัดทำแนวทางและแผนเผชิญเหตุ เวียนแจ้งให้โรงเรียนในสังกัดทราบ เพื่อดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการป้องกันโรค รวมทั้งดูแลรักษาและการส่งต่อ ตลอดจนขอความร่วมมือสำนักงานเขตต้นสังกัดโรงเรียนดำเนินการและปฏิบัติตามคู่มือแนวทาง การจัดการอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา โดยบูรณาการบุคลากร/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกตรวจประเมินการจัดการอาหารและอาหารเสริม (นม) ในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สอดคล้องกับระบบ Thai School Lunch for BMA และควบคุมดูแลให้เป็นไปตามแนวทางการจัดการอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา รวมทั้งกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้การสื่อสารและประสานงานเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสถานพยาบาลในพื้นที่เขตซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียน สนับสนุนพื้นที่สถานศึกษาให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-3 พ.ย. 67 จำนวน 79,152 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1,446.6 รายต่อแสนประชากร ยังไม่พบผู้เสียชีวิต และพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะในสถานศึกษา
สำหรับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ที่พบบ่อยคือ โรต้าไวรัสและโนโรไวรัส ซึ่งจะแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ตั้งแต่เดือน ธ.ค. – มี.ค. หากอากาศเย็นจะมีแนวโน้มแพร่ระบาดมากขึ้น ทั้งนี้ โรต้าไวรัสสามารถติดเชื้อได้ทุกวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี จะมีอาการเด่นชัด เริ่มจากเป็นไข้ อาเจียน และท้องเสียถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งทำให้ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มีอัตราเสียชีวิตต่ำ ปัจจุบันมีวัคซีนในแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ โดยเริ่มให้วัคซีนตั้งแต่อายุ 2 เดือน ให้ 2-3 ครั้ง จนครบอายุ 6 เดือน เพื่อลดความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม เชื้อดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตลอดเวลาและพบการระบาดได้ ซึ่งการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้ แต่ความรุนแรงจะน้อยลง เนื่องจากมีภูมิต้านทานจากวัคซีน ส่วนโนโรไวรัสพบการระบาดทุกปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อาการของโรคคล้ายกับอาหารเป็นพิษและเกิดเป็นกลุ่มก้อนได้โดยเฉพาะในโรงเรียน โรคดังกล่าวไม่มียารักษา สามารถรักษาด้วยการประคับประคองไม่ให้ขาดน้ำ โดยปกติอาการจะดีขึ้นใน 2-3 วัน
การรักษาผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วงให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) เพื่อป้องกันภาวะช็อกและเสียชีวิตจากการขาดน้ำและเกลือแร่ แต่ไม่แนะนำให้ดื่มเกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย เนื่องจากมีน้ำตาลปริมาณสูงจะดึงเอาน้ำเข้าสู่ทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ลำไส้บีบตัว และอาจเกิดอาการอุจจาระร่วงมากขึ้น หากไม่มีสารละลายเกลือแร่ สามารถทำได้เองโดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือแกงครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำสะอาด 750 ซีซี จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ สนอ. ได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. รวมถึงประชาชนเกี่ยวกับวิธีการสังเกตอาการของโรค แนวทางป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัส ตลอดจนวิธีการปฏิบัติตนเมื่อมีอาการอุจจาระร่วง เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและลดการแพร่ระบาดของโรค
กทม. พร้อมสนับสนุนการจัดงานกาชาด ประจำปี 2567
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ และการออกร้าน “กรุงเทพมหานคร” ในงานกาชาดประจำปี 2567 ว่า การออกร้าน “กรุงเทพมหานคร” ในงานกาชาดประจำปี ได้ดำเนินการมามากกว่า 30 ปี โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการในการจัดหาของขวัญ หรือของรางวัลต่าง ๆ วัตถุประสงค์ของการจัดงานคือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 67 เพื่อเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจพระบรมราชูปถัมภก องค์สภานายิกาสภากาชาดไทยและองค์อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ตลอดจนเผยแพร่ภารกิจและกิจกรรมของสภากาชาดไทย ในฐานะองค์กรสาธารณกุศลดำเนินภารกิจ ด้านมนุษยธรรมที่ให้บริการทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การบรรเทาทุกข์ การบริการโลหิตและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา มูลนิธิ สมาคม สโมสรผู้มีอุปการคุณและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสภากาชาดไทย รวมทั้งแสดงผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนเพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เป็นผู้ดำเนินการได้ขอความร่วมมือและรับการสนับสนุนของขวัญและของรางวัลจากหน่วยงานของ กทม. ตามความสมัครใจ
สำหรับการสนับสนุนการจัดงานกาชาดประจำปี 2567 กทม. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเตรียมความพร้อมการออกร้าน “กรุงเทพมหานคร” โดยสนับสนุนสถานที่จัดงานกาชาดในพื้นที่สวนลุมพินี จัดตั้งกองอำนวยการร่วมและติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดภายในงานกาชาด เพื่อดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยตลอดการจัดงาน จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวก และจัดระเบียบการจอดรถของผู้เข้าร่วมงาน จัดเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด เพื่อดูแลความสะอาดและการคัดแยกขยะภายในงาน รวมทั้งจัดรถฟีดเดอร์ (Feeder) ให้บริการผู้ร่วมงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่
สวพ. ชี้แจงกรณีโครงการขยายถนนย่านสุขุมวิท
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวกรณีข้อสังเกตโครงการขยายถนนในซอยพร้อมศรี 1 ซอยสุขุมวิท 49 และซอยทองหล่อ 13 เป็น 16 เมตร เขตวัฒนา อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์สามารถก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ดังกล่าวได้ในอนาคตว่า การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครเป็นการคาดการณ์และวางแผนรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในระยะ 20 ปี ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งของการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมีการกำหนดแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งไว้ด้วย เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงโครงข่ายการคมนาคมและขนส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งภาครัฐ เตรียมวางแผนเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในระยะยาว รวมถึงเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ปิดล้อม บรรเทาปัญหาการจราจรและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนผังอื่น ๆ ได้แก่ แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการและบริการสาธารณะ แผนผังแสดงผังน้ำ เป็นต้น
สำหรับพื้นที่ย่านสุขุมวิท ตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีการกำหนดถนนโครงการสาย ข 25 ขนาดเขตทาง 16 เมตร เป็นถนนเดิม ซึ่งกำหนดให้ขยายเขตทาง คือ ซอยพร้อมศรี 1 ซอยสุขุมวิท 49/11 ซอยสุขุมวิท 49 ซอยสุขุมวิท 49/4 (ซอยอัครภัทร) และซอยทองหล่อ 13 ในพื้นที่เขตวัฒนา โดยแนวถนนดังกล่าวเป็นถนนเดิมตามกฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่กำหนดไว้เป็นถนนสาย ข 41 ขนาดเขตทาง 16 เมตร ซึ่งใช้บังคับมากว่า 10 ปี รวมทั้งมีข้อกำหนดสำหรับอาคารที่จะมีการก่อสร้างขึ้นใหม่ต้องมีระยะถอยร่นของอาคาร (set back) เพื่อให้เกิดเป็นแนวถนนได้ในอนาคต เมื่อดำเนินโครงการแล้วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดับเพลิง บรรเทาปัญหาการจราจร รวมถึงเพิ่มความสะดวกต่อการสัญจรของประชาชนและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ได้มีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้เกิดอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่แต่อย่างใด นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่สุขุมวิทเป็นการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการเดินทาง โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้านเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน มิได้พิจารณาเพียงขนาดเขตทางเท่านั้น ทั้งยังต้องดำเนินการภายใต้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สวพ. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแบบรายเขตต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยจัดประชุม ณ สำนักงานเขตวัฒนา เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ส.ค. 67 ซึ่งประชาชนได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านแนวถนน ข 25 เนื่องจากมีความกังวลเรื่องการเวนคืนที่ดิน การเกิดอาคารสูง และการเพิ่มปัญหาจราจรในพื้นที่ ซึ่ง สวพ. รับทราบประเด็นดังกล่าวแล้ว โดยจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาทบทวน แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกแนวถนนดังกล่าวออกจากร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ต่อไป
เขตบางรักบูรณาการความร่วมมือแก้ปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี
นางพรพัน วัฒนสินธุ์ ผู้อำนวยการเขตบางรัก กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทางเดินข้ามใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีช่องนนทรี ซึ่งมักเกิดอุบัติเหตุรถชนกันบ่อยครั้ง เนื่องจากมีรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนลักลอบเข้ามากลับรถในจุดดังกล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพบผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ฝ่าฝืนกลับรถใต้สะพานเป็นจำนวนมาก จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้ประสานสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ติดตั้งป้ายห้ามกลับรถ และป้ายประเภทบอกทางสำหรับผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ หรือประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ หรือขึ้นลิฟท์ของสถานีช่องนนทรี ประสานสำนักการโยธา กทม. พิจารณาติดตั้งแบริเออร์ปิดกั้นไม่ให้มีรถฝ่าฝืนเข้ามากลับรถบริเวณดังกล่าว และประสานสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เพื่อออกประกาศ หรือข้อบังคับจราจรห้ามกลับรถบริเวณดังกล่าวอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นสำนักงาานเขตฯ ได้นำแผงเหล็กมากั้นแบบสลับฟันปลา โดยเว้นทางเดินสำหรับผู้พิการและประชาชนให้สามารถสัญจรผ่านไปได้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น