รพ. สังกัด กทม. เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฝุ่นสูง ลดผลกระทบสุขภาพประชาชน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมแผนปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ว่า สนพ. ได้บูรณาการความร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล และโรงเรียน เพื่อให้ความรู้และข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ พร้อมทั้งจัดบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขลงพื้นที่ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงค่าฝุ่น PM2.5 สูง และเน้นย้ำการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ตลอดจนรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ สนพ. ได้เตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการ ได้แก่ เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โทร.0 2220 8000 ต่อ 30112 (วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.) โรงพยาบาลตากสิน โทร. 0 2437 0123 ต่อ 1426 , 1430 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 – 12.00 น.) โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร. 0 2289 7221 บริการตรวจคัดกรอง (วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.) บริการนัดพบแพทย์ในกลุ่มสงสัย (วันพุธ – วันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.00 น.) โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.0 2429 3576 ต่อ 8522 (วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 15.00 น.) โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โทร.0 2543 1307 ต่อ 212, 08 2760 2382 หรือ 08 2760 2389 บริการตรวจคัดกรอง (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.) บริการนัดพบแพทย์ในกลุ่มสงสัย (วันอังคาร เวลา 13.00 – 15.00 น.) โรงพยาบาลนคราภิบาล โทร.0 2326 9995 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 – 15.00 น.) โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โทร. 06 3324 1126 หรือ 09 9170 5879 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.) และโรงพยาบาลสิรินธร โทร.0 2328 6901 ต่อ 11448 (วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5
ทั้งนี้ สนพ. ขอเน้นย้ำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
กทม. เตรียมพร้อมดำเนินการตามมติ ครม. ปรับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ
นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปรับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการว่า กทม. ได้เตรียมความพร้อมดำเนินการในด้านต่าง ๆ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับฐานกลุ่มเป้าหมายสำหรับการพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในกลุ่มเด็กและเยาวชน ได้ปรับฐานกลุ่มเป้าหมายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นการให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า โดยไม่ต้องคัดกรองรายได้ของครอบครัว โดยเริ่มจากเด็กในครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 6 ปี จากเดิมตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี โดยได้รับเงินในอัตรา 600 บาท/คน/เดือนเท่าเดิม ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ มีเด็กแจ้งเกิดทั้งหมด 240,971 คน (ข้อมูล ณ ต.ค. 67) จำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 103,746 คน ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 60,769 คน จำนวนเงิน 38,963,400 บาท โดย สพส. จะจัดทำแนวทาง การรับลงทะเบียนสิทธิเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าให้สำนักงานเขตทราบหลักเกณฑ์ เพื่อเตรียมความพร้อมสถานที่และบุคลากร เพื่อให้บริการประชาชนด้วยความสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งดำเนินการ X – Ray เด็กแรกเกิดถึง 6 ปีที่ตกหล่นสิทธิก่อนหน้า โดยประสานความร่วมมือกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานเขต และชุมชน พร้อมติดตามผลการขอรับสิทธิเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า โดยบูรณาการข้อมูลกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม.
สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุได้ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได อายุ 60-69 ปี เดือนละ 700 บาท อายุ 70-79 ปี เดือนละ 850 บาท อายุ 80-89 ปี เดือนละ 1,000 บาท และตั้งแต่อายุ 90 ปีขึ้นไป เดือนละ 1,250 บาท เพื่อให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ โดยกรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 1,281,398 คน (ข้อมูล ณ ต.ค. 67) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กทม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาล เป็นเงิน 7,929,396,000 บาท จำนวน 1,002,948 ราย ผลการจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เดือน ต.ค. 67 จำนวน 991,957 ราย เป็นเงิน 655,806,300 บาท
ส่วนกลุ่มคนพิการ ได้ปรับเบี้ยความพิการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพเป็น 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า โดย กทม. มีจำนวนประชากรคนพิการ 105,493 คน (ข้อมูล ณ 11 ต.ค. 67) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กทม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาล เป็นเงิน 975,669,000 บาท จำนวน 99,325 ราย ผลการจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนสำหรับคนพิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (เดือน ต.ค. 67) จำนวน 99,326 ราย เป็นเงิน 81,631,200 บาท ในด้านการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการตามนโยบายของ ผว.กทม. ได้จ้างงานคนพิการ เพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงานทั้งเป็นข้าราชการ ลูกจ้าง และอาสาสมัคร จำนวน 390 คน (ข้อมูล ณ 21 ต.ค. 67) และจะจ้างงานที่เหมาะสมกับภารกิจและประเภทความพิการให้มากขึ้น
ทั้งนี้ กทม. ได้เตรียมความพร้อมขอจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ โดยเบิกจ่ายเงินผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พร้อมทั้งปรับปรุงระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประสานความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ในการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมาย อาทิ ผู้ที่ได้รับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ได้รับสิทธิและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือ เพื่อให้การดำเนินการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นไปตามมติ ครม.
นอกจากนี้ ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กทม. ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการประชุมการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่าง พม. และคณะทำงานด้านเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ สตรีและครอบครัว และกลุ่มเปราะบาง กทม. โดยขอให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และสำนักการแพทย์ (สนพ.) เร่งขับเคลื่อนการสำรวจเด็กที่ตกหล่น เพื่อให้ได้รับสวัสดิการ โดยสำนักงานเขตรับลงทะเบียนเบื้องต้นกรณีผู้มีสิทธิมาแจ้งเกิด และประชาสัมพันธ์การลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้ชุมชนในพื้นที่เขตมีความรู้ความเข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว ส่วน สนพ. จะรับลงทะเบียนเบื้องต้น กรณีผู้มีสิทธิมาคลอดบุตรที่โรงพยาบาล รวมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการลงทะเบียนโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในช่องทางแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” เพื่อลดการตกหล่น เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้ประชาชน ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินงานร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. และสำนักงานเขต 50 เขต เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจนถูกต้องตรงตามกระบวนการขั้นตอนและมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชนว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2565
ขณะเดียวกัน กทม. จะประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายในช่องทางต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์และสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเขตจัดทำหนังสือแจ้งเวียน เพื่อให้ทราบและประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) แก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ในเรื่องสิทธิสวัสดิการต่อไป
กทม. เร่งสำรวจ-แก้ไขลักษณะทางกายภาพหน้า รร.อัสสัมชัญธนบุรี-ลดอุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลาย
นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตบางแค กทม. กล่าวกรณีเกิดอุบัติเหตุผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนเด็กนักเรียนขณะข้ามทางม้าลายว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นเกิดจากความคึกคะนองของเยาวชนผู้ก่อเหตุที่ขับขี่รถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วและไม่หยุดให้นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีข้ามถนนในทางม้าลาย ขณะที่รถคันอื่น ๆ หยุดให้นักเรียนข้าม ซึ่งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวยังเป็นเยาวชน อายุ 15 ปี สถานีตำรวจนครบาล (สน.) หลักสอง ได้ดำเนินการทางคดีกับผู้ก่อเหตุแล้ว ส่วนนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บ แพทย์ได้ตรวจร่างกาย สแกนสมอง เพื่อความปลอดภัย ซึ่งร่างกายมีรอยบาดเจ็บเล็กน้อย แพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว
ทั้งนี้ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีมีมาตรการเข้มงวดด้านการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หลักสอง ประจำหน้าโรงเรียนทั้งช่วงเช้าและเย็น นอกจากนี้ ยังมีครูเวรและอาสาจราจรยืนเฝ้าตรงทางม้าลายหน้าโรงเรียน เพื่อกั้นรถให้คนข้ามถนน อย่างไรก็ตาม ยังพบรถจักรยานยนต์ไม่ค่อยจอดให้นักเรียนข้ามถนนบ่อยครั้ง จนเกิดอบัติเหตุดังกล่าว ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้เตรียมแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดอุบัติเหตุ อาทิ จัดทำทางข้ามยกระดับ (Raised Crosswalk) เพื่อให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังและชะลอความเร็วก่อนถึงบริเวณทางม้าลาย ติดตั้งป้ายเตือนทางข้าม จัดทำเครื่องหมายจราจรพื้นทางให้ชัดเจน ติดตั้งไฟจราจรหน้าโรงเรียน โดยจะสำรวจพื้นที่เกิดเหตุและบริเวณจุดเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางและมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจร่วมคุมเข้มการจราจรหน้าโรงเรียน และประสานสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เพื่อดำเนินการแก้ปัญหา ลดอุบัติเหตุต่อไป
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า จากการตรวจสอบรูปแบบทางกายภาพและสภาพการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เขตบางแค มีความกว้างของผิวจราจรประมาณ 6.50 เมตร 2 ช่องจราจร มีการสัญจรของคนเดินเท้า คนใช้จักรยาน รถจักรยานยนต์ มีรถโดยสารประจำทางสัญจร และมีจุดจอดห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 200 เมตร รวมถึงมีการจอดรับส่งนักเรียนด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล โดยพบว่า การจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนมีความหลากหลายของยานพาหนะ ประกอบกับถนนมีเพียง 2 ช่องจราจร เมื่อมีปริมาณจราจรหนาแน่นและมีการจอดรถใกล้ทางม้าลาย ส่งผลให้ผู้ใช้จักรยานยนต์และผู้ใช้ทางม้าลายไม่สามารถมองเห็นรถที่สัญจรได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ สจส. ได้รณรงค์สร้างความเข้าใจต่อนักเรียนและผู้ใช้ถนน ผู้ขับขี่ เพื่อให้สามารถข้ามถนนและใช้เส้นทางร่วมกันอย่างปลอดภัย โดยแนวทางพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางม้าลาย ได้แก่ การพิจารณาติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามแบบกดปุ่ม การจัดทำเส้นชะลอความเร็ว การบำรุงรักษาทางม้าลาย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาช่วยโดยการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อม AI เพื่อป้องปรามผู้กระทำผิดและลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่อไป นอกจากนี้ สจส. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตในพื้นที่ สถานีตำรวจ สถานศึกษา และประชาชน เพื่อมีส่วนร่วมไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก