Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวประจำวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567

กทม. เข้มมาตรการเชิงรุกรับมือฝุ่น PM2.5 สะสมเพิ่มขึ้น แจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า ตามที่ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ แจ้งเตือนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีอัตราการระบายอากาศต่ำและอาจทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศเพิ่มขึ้น ระหว่างวันนี้จนถึงวันที่ 6 ธ.ค. 67 นั้น กทม. ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ตลอดทั้งปีและในช่วงวิกฤตฝุ่น โดยมาตรการเร่งด่วนของ กทม. ในการรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงดังกล่าว แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ ดังนี้ 1) มาตรการติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ การพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 7 วัน การรายงานและแจ้งเตือนให้สาธารณชนทราบ 3 รอบเวลา ได้แก่ 07.00 น 11.00 น. และ 15.00 น. พร้อมแจ้งเตือนผ่าน Line Alert (เพิ่มเพื่อนได้โดย @linealert) เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานทุกพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล 2) มาตรการควบคุมแหล่งกำเนิด ได้แก่ เข้มงวดตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ การตรวจวัดควันดำจากยานพาหนะ การส่งเสริมการบำรุงรักษารถยนต์ลดการปล่อยมลพิษภายใต้โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากสถานประกอบการ/โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ก่อสร้างทุกประเภท และการเผาในที่โล่ง และ 3) มาตรการดูแลป้องกันสุขภาพประชาชน ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 (ฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มากกว่า 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก. /ลบ.ม.)

นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 และวิธีการป้องกันตนเองแก่ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.airbkk.com, www.pr-bangkok.com เพจเฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร” “กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง” “สำนักสิ่งแวดล้อม” รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และติดตามทางแอปพลิเคชัน AirBKK ขณะเดียวกัน สำนักอนามัย กทม. ได้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้ง 69 ศูนย์ฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง สำนักการแพทย์ กทม. เปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาล สังกัด กทม. เพื่อให้บริการรักษาและคำแนะนำวิธีการป้องกันดูแลตนเอง อีกทั้งมีมาตรการเชิงรุกในการจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นภายในโรงเรียนสังกัด กทม. 429 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. 271 แห่ง เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ตลอดจนจัดมาตรการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมในช่วงที่พบปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 สูง งดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนเสริม หรือชดเชย หากจำเป็นต้องหยุดเรียน และได้กำชับเน้นย้ำเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด เจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของ กทม.ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง หรือมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่นละอองในการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 เพื่อป้องกันอันตรายและความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายขณะปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสีแดง คือ มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จำนวน 5 เขต ประกอบกับมีการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 2 วันว่า ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 จะอยู่ในระดับ สีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต และมีอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร (ตร.ม.)/วินาที รวมถึงมีทิศทางลมมาจากทางตะวันออก กทม. จะประกาศขอความร่วมมือเครือข่าย Work from Home ให้เจ้าหน้าที่และพนักงานปฏิบัติงานในที่พักโดยกรอกข้อมูลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายทางกูเกิลฟอร์มออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 และลดความหนาแน่นของการจราจร เพื่อลดการสะสมของฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด และดำเนินการตามมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ (Low Emission Zone) โดยห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อ ขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ยกเว้นรถประเภท EV, NGV, EURO 5 – 6 และรถที่มีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศ โดยการลงทะเบียนใน “บัญชีสีเขียว (Green List)” ซึ่งเปิดให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 เป็นต้นไป โดยกรอกข้อมูลทางกูเกิลฟอร์มออนไลน์และจะมีผลบังคับใช้เมื่อสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในขั้นวิกฤต ตามเงื่อนไขดังกล่าว โดยจะออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายในการควบคุม และกำกับดูแลแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ได้แก่ สถานประกอบกิจการ (กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) เช่น กิจการคอนกรีตผสมเสร็จ กิจการหลอมโลหะ กิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (ที่มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและน้ำมัน) เป็นต้น โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน/ท่าทราย สำหรับในปีงบประมาณ 2568 ได้ตั้งเป้าหมายการตรวจฝุ่น PM2.5 แหล่งกำเนิด-โรงงาน คือ จำนวนสถานประกอบการกว่า 3,000 แห่ง คิดเป็นจำนวน 9,000 ครั้ง/ปี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบแหล่งกำเนิดดังกล่าวตั้งแต่เดือน ต.ค. 67 โดยเน้นกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูง อาทิ กิจการคอนกรีตผสมเสร็จ (แพลนท์ปูน) ซึ่ง สนอ. ได้กำหนดแผนดำเนินการสุ่มตรวจร่วมกับสำนักงานเขตในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 67 โดยได้ตรวจสอบและแนะนำข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้องในมาตรการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่แพลนท์ปูนไปแล้ว 9 แห่ง จากจำนวนแพลนท์ปูน 114 แห่ง โดยสำนักงานเขตจะต้องตรวจอย่างน้อยเดือนละ1 ครั้ง ให้ครบทุกแห่งในพื้นที่

สำหรับแผนปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ได้จัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชน กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 – 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่มารับบริการตรวจรักษาจากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 66 – 31 ต.ค. 67 จำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 51,432 ราย นอกจากนี้ สนอ. ยังได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่ให้แก่สำนักงานเขต 50 เขต จำนวน 200,000 ชิ้น ในช่วงกลางเดือน พ.ย. 67 เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้าริมถนน และประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตนอกอาคาร เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยขณะนี้ได้แจกหน้ากากอนามัยไปแล้ว 30,850 ชิ้น พร้อมทั้งแจกให้กับผู้ป่วยที่ใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง และผู้ป่วยตอนเยี่ยมบ้านและการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้วย

 

 

กทม. เพิ่มมาตรการความปลอดภัยโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังและการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุสะพานถล่มว่า โครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 โซน โซนที่ 1 จากจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณคลองหนองคาถึงทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะนี้ก่อสร้างทางยกระดับแล้วเสร็จ ส่วนโซนที่ 2 และโซนที่ 3 ตั้งแต่ทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณสำนักงานการประปาสาขาสุวรรณภูมิ ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างส่วนบน งาน Super Structure ซึ่ง สนย. ได้กำชับผู้รับจ้างให้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงเพิ่มเติมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ วิศวกรควบคุมงาน วิศวกรที่ปรึกษาของผู้รับจ้าง โดยเพิ่มการตรวจสอบของผู้ควบคุมงานให้เป็นไปตามรูปแบบรายการ และการนำวัสดุส่งทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้ออกแบบ รวมทั้งเพิ่มทีมที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำหรับกระบวนการก่อสร้างของผู้รับจ้าง ตลอดจนเอกสารด้านวิศวกรรม รายการคำนวณต่าง ๆ จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและรับรอง

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการความปลอดภัยการทำงานบนที่สูง ซึ่งต้องควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ อาทิ การยกขนย้ายวัสดุ การติดตั้ง Box girder ให้ปิดการการจราจรและทำงานในเวลากลางคืนประมาณ 22.00-04.00 น. กำหนดให้มีระบบป้องกันวัสดุตกหล่น ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมชุดป้องกันและเข็มขัดนิรภัย ส่วนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การกั้นพื้นที่ก่อสร้างโดยใช้แบร์ริเออร์คอนกรีต แผงผ้าใบ พร้อมไฟฟ้าแสงสว่าง ปิดกั้นพื้นที่ก่อสร้าง การทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้าง การสเปรย์น้ำลดฝุ่นละออง การตรวจวัดวัดควันดำเครื่องจักร หากค่าเกินมาตรฐานให้ปรับปรุงเครื่องยนต์ การตรวจวัดฝุ่นละออง เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช – ลาดกระบังถล่มเมื่อเดือน ก.ค. 66 ผู้รับจ้างได้จ่ายค่าชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ได้รับผลกระทบ และร้านค้าที่ขาดรายได้ต่าง ๆ รวม 345 ราย สำหรับร้านค้าที่ยังไม่ได้เยียวยาประมาณ 10 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบและติดตามเอกสารจากผู้เสียหาย เพื่อประกอบการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาต่อไป

 

 

กทม. แนะวิธีใช้น้ำประปาช่วงน้ำทะเลหนุนสูง – น้ำเค็มรุกล้ำ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 10 ธ.ค. 67 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภค บริโภค และการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ. ได้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีใช้น้ำประปา เพื่อการอุปโภคและบริโภคในช่วงที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาน้ำประปามีรสกร่อย เนื่องจากภาวะภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว สามารถดื่มน้ำประปาได้ตามปกติ แต่ควรลดปริมาณสารปรุงแต่งอาหารที่มีความเค็ม เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว เป็นต้น และงดบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด รวมทั้งบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดปิดสนิท ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ รวมถึงสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก ขอให้หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปาในช่วงที่มีรสกร่อย และบริโภคน้ำดื่ม บรรจุขวดปิดสนิท สำหรับการใช้เครื่องกรองน้ำ กรองน้ำให้บริสุทธิ์ก่อนนำมาอุปโภคและบริโภค โดยเครื่องกรองน้ำที่สามารถกำจัดเกลือออกจากน้ำประปาได้ คือ เครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ควรติดตั้งแท็งก์น้ำ โดยสำรองน้ำประปาในช่วงภาวะน้ำปกติ เพื่อใช้อุปโภคบริโภคในช่วงน้ำประปาเค็ม หรือกร่อย รวมทั้งห้ามนำน้ำประปาเค็มไปต้มและนำมาบริโภค เนื่องจากทำให้น้ำเค็มมากขึ้น นอกจากนี้ สนอ. ได้จัดทำสื่อรณรงค์และประสานสำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและมีวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องและเหมาะสมผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ของหน่วยงานต่อไป

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200