Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวประจำวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2567

สนน. กำชับผู้รับเหมาก่อสร้างเขื่อนคลองแสนแสบ ลดการใช้เสียง-ปรับเวลาทำงานช่วงกลางคืน

นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างในช่วงกลางคืนบริเวณคลองแสนแสบว่า สนน. ได้ตรวจสอบจุดที่มีข้อร้องเรียนคือ บริเวณท่าเรือโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนและปรับปรุงเขื่อน ค.ส.ล. คลองแสนแสบ โดยขณะนี้ผู้รับจ้างอยู่ระหว่างก่อสร้างพื้นทางเดินริมคลองแสนแสบ ซึ่งในขั้นตอนการทำงานก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องปักแนว Sheet Pile เพื่อป้องกันคลื่นจากเรือโดยสารมากระแทกเครื่องจักรและอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่งานทางเดินที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง สำหรับการปักแนว Sheet Pile ผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการในช่วงเวลากลางวันได้ เนื่องจากคลองแสนแสบบริเวณดังกล่าวมีสภาพค่อนข้างแคบ (ความกว้างประมาณ 10-12 เมตร) หากทำงานในช่วงเวลากลางวันจะเป็นปัญหาอุปสรรคกับการเดินเรือโดยสาร รวมถึงเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่สัญจรทางเรือ ซึ่งเรือโดยสารในคลองแสนแสบจะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 20.30 น. ของทุกวัน ดังนั้น ผู้รับจ้างจึงจำเป็นต้องดำเนินการในช่วงกลางคืน หลังจากหยุดเดินเรือโดยสาร โดยเริ่มทำงานปักแนว Sheet Pile ระหว่างเวลา 21.00 – 23.30 น. ซึ่งการทำงานปรับปรุงขยายทางเดินในแต่ละช่วง ผู้รับจ้างจะใช้เวลาทำงานประมาณ 5 วัน ในทุกระยะประมาณ 30 เมตร และจะย้ายไปทำงานในพื้นที่ที่อยู่ติดกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่พักอาศัยใกล้พื้นที่ก่อสร้าง สนน. ได้แจ้งผู้รับจ้างให้พิจารณาแนวทางลดการใช้เสียงระหว่างการทำงานก่อสร้างและวิธีการทำงานก่อสร้างที่ลดผลกระทบกับประชาชน รวมถึงปรับเวลาการทำงานก่อสร้างในแต่ละคืนให้สั้นลง โดยให้หยุดการทำงานภายในเวลา 23.00 น. ของทุกคืน พร้อมทั้งติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า โดยหากพื้นที่ก่อสร้างมีความกว้างคลองมากเพียงพอที่จะสามารถทำงานก่อสร้างโดยไม่กระทบกับการเดินเรือ (ความกว้างคลองมากกว่า 15 เมตร) จะแจ้งให้ผู้รับจ้างปรับมาทำงานในช่วงเวลากลางวันต่อไป

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเขื่อนและปรับปรุงเขื่อน ค.ส.ล. คลองแสนแสบ เริ่มจากบริเวณทางด่วนเฉลิมมหานครถึงบริเวณประตูระบายน้ำคลองตัน (เขตห้วยขวางและเขตวัฒนา) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แก้ไขปัญหาการกัดเซาะริมตลิ่ง และเพิ่มความสะดวกในการสัญจรริมคลองให้แก่ประชาชน ทั้งการเดินและการปั่นจักรยาน โดยโครงการดังกล่าว เริ่มต้นสัญญาวันที่ 27 ส.ค. 67 – 19 พ.ย. 68 ระยะเวลาดำเนินการ 450 วัน ซึ่งมีปริมาณงานก่อสร้างเขื่อน ความยาวประมาณ 500 เมตร และงานปรับปรุงเขื่อน ค.ส.ล. ความยาวประมาณ 3,200 เมตร

 

 

สนย. ลงพื้นที่ ถ.กำแพงเพชรตรวจสอบทางเท้า-ผิวจราจร-ระบบระบายน้ำก่อนรับมอบจาก รฟท.

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการรับมอบถนน-ผิวจราจรถนนกำแพงเพชร 6 จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า การรับมอบถนนมาดูแล หากหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์มีหนังสือแจ้งความประสงค์มอบถนนในความรับผิดชอบมาให้ กทม. ดูแล กทม. โดย สนย. จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการส่งมอบและรับมอบถนนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการส่งมอบ และรับมอบพื้นที่และ/หรือสิ่งก่อสร้าง ได้แก่ ถนน ทางเท้า ท่อระบายน้ำ เครื่องหมายจราจร ต้นไม้ สิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ที่หน่วยราชการอื่นจะขอใช้ เพื่อก่อสร้างแล้วส่งคืน หรือหน่วยงานอื่นประสงค์จะส่งมอบพื้นที่ และ/หรือสิ่งก่อสร้างให้ กทม. โดยจะมีการร่วมตรวจสอบสภาพพื้นที่และ/หรือสิ่งปลูกสร้างที่จะส่งมอบ หรือรับมอบกับหน่วยงานอื่น เมื่อเรียบร้อยดีแล้ว จึงจัดทำบันทึกการส่งมอบ หรือบันทึกรับมอบพื้นที่ และ/หรือสิ่งก่อสร้าง ดังนั้น เมื่อ รฟท. มีหนังสือแจ้งความประสงค์ส่งมอบถนนกำแพงเพชร 6 ให้ กทม. ดูแล สนย.จะดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า โดยในระยะแรก รฟท. ได้ส่งมอบเฉพาะทางเท้า ผิวจราจร และระบบระบายน้ำ ส่วนระบบไฟฟ้าส่องสว่างจะส่งมอบให้ กทม. อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ สนย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินและสภาพทางกายภาพร่วมกัน เมื่อได้รับมอบถนนอย่างเป็นทางการแล้ว สนย. จะเริ่มกระบวนการปรับปรุงผิวจราจรทันที

 

 

 

กทม. พร้อมเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกล้ำ ป้องกันชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ-จุดฟันหลอ

นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำช่วงตั้งแต่วันนี้ – 10 ธ.ค. 67 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามปริมาณการเก็บกักน้ำใน 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่มีการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดย กทม. ได้ติดตามและเฝ้าระวังค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ไว้ที่ค่าความเค็มไม่เกิน 1.2 กรัม/ลิตร (ระดับที่ค่าความเค็มเกิน 1.2 กรัม/ลิตร อาจส่งผลกระทบต่อพืชทั่วไปควรระมัดระวังในการใช้น้ำกับการเกษตร) หากค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเกินมาตรฐานที่กำหนดในช่วงเวลาน้ำขึ้นจะปิดประตูระบายน้ำแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันน้ำเค็มจากอ่าวไทยไม่ให้ไหลเข้าสู่พื้นที่คลองชั้นใน ซึ่งเป็นน้ำจืดที่มีอยู่ในคลองโดยทั่วไป รวมทั้งติดตามสถานการณ์ช่วงเวลาน้ำขึ้นและน้ำลงของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประจำทุกวัน

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ (ความเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเพิ่มการระบายท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จากระบายวันละ 25 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วัน เป็น 45 ลบ.ม./วัน จนถึงวันที่ 6 ธ.ค. 67 ตามแผนปฏิบัติการผลักดันลิ่มน้ำเค็ม (Water Hammer Operation) ไม่ให้น้ำเค็มขึ้นสูงไปถึงสถานีประปาสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี เพื่อลดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงวันที่ 10 ธ.ค. 67

ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนตามแนวริมแม่น้ำทั้งสองฝั่ง รวมถึงเฝ้าระวังจุดแนวฟันหลอที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน ซึ่งได้เตรียมพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบและดำเนินการเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงบริเวณแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่คันกั้นน้ำมีระดับต่ำและไม่สามารถป้องกันน้ำเอ่อล้นได้ ส่วนพื้นที่ชุมชนที่ยังไม่มีแนวป้องกัน หรือแนวฟันหลอและบริเวณที่คาดระดับน้ำอาจจะเอ่อล้น เช่น บริเวณทางขึ้น-ลงท่าเรือ สะพาน ฯลฯ กทม. ได้ดำเนินการเรียงกระสอบทรายทุกจุด อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ สำรองกระสอบทรายที่บรรจุแล้วและสำรองกระสอบเปล่าที่พร้อมบรรจุทราย หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขได้ในทันที นอกจากนี้ ยังได้แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง รวมถึงกรณีคุณภาพน้ำที่มีค่าความเค็มเกินกว่ามาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้อุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรของประชาชนต่อไป

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200