กทม. บูรณาการความร่วมมือเตรียมพร้อมมาตรการดูแลความปลอดภัยเทศกาลลอยกระทง ปี 67
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการความปลอดภัยเทศกาลลอยกระทงในวันที่ 15 พ.ย. 67 ว่า กทม. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงของ กทม. ประจำปี 2567 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นเตรียมการก่อนวันลอยกระทง ขั้นปฏิบัติการในวันลอยกระทง และขั้นปฏิบัติการหลังวันลอยกระทง รวมทั้งลดความเสี่ยงอันตรายจากการผลิต การสะสม การจำหน่าย การเล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ และได้มีประกาศ กทม. เรื่องมาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2567 เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้เล่นดอกไม้เพลิง และโคมลอยรับทราบถึงอันตรายของดอกไม้เพลิงและการเล่นโคมลอย รวมถึงบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพร้อมทั้งขอความร่วมมือสถานประกอบการ สถานบันเทิง และผู้จัดงานเทศกาลลอยกระทงให้ตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่จัดงานและแจ้งเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังการดูแลบุตรหลาน หรือเด็กอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ หรือพลัดหลง เป็นต้น
นอกจากนี้ สปภ. ได้จัดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง บอลลูนไลท์ ถังดับเพลิง และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ ประจำกองอำนวยการร่วมฯ บริเวณสถานที่จัดงานลอยกระทง รวมถึงสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาลอยกระทง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมเรือดับเพลิง ขนาดความยาว 38 ฟุต จำนวน 3 ลำ ลาดตระเวนตามแนวลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 และจัดเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยทางน้ำพร้อมเรือท้องแบน 1 ลำ และเรือสกูตเตอร์ 2 ลำ ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี ร่วมกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมเจ้าท่า กองบัญชาการกองเรือลำน้ำ ตำรวจน้ำ มูลนิธิ และอาสาสมัคร ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุอุบัติภัยและสาธารณภัยในเทศกาลลอยกระทง สามารถขอความช่วยเหลือมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท. ได้จัดทำแผนดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยการจัดงานเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2567 โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอก เช่น กรมเจ้าท่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยว อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจพร้อมวัสดุ – อุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ร่วมดูแล เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว การป้องปรามและควบคุมการเล่นดอกไม้ไฟ จุดพลุ โคมลอย ตามสถานที่จัดงาน ท่าเรือ โป๊ะ การอำนวยความสะดวกประชาชนด้านต่าง ๆ และเรือตรวจการณ์คอยวิ่งตรวจดูความปลอดภัยตามลำน้ำเจ้าพระยาตลอดเวลาอีกด้วย
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า สจส. ได้มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะที่มีการจัดกิจกรรมลอยกระทง จำนวน 29 สวน โดยมีกล้องที่ติดตั้งรวม 1,159 กล้อง และตรวจสอบให้สามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ขณะเดียวกัน สจส. ได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ขอความร่วมมือตรวจสอบท่าเรือในพื้นที่เป็นประจำทุกปีก่อนช่วงเทศกาลลอยกระทง และติดตั้งป้ายจำกัดน้ำหนักบรรทุก และแก้ไขท่าเรือที่ชำรุด หรือไม่ปลอดภัยโดยจะปิดล้อมท่าเรือและติดป้ายห้ามใช้งาน รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่าขอความอนุเคราะห์แจ้งผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารในกำกับของกรมเจ้าท่าให้เพิ่มความระมัดระวังและมีมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงกำชับมาตรการดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลวันลอยกระทงกับผู้บริหารจัดการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม คลองแสนแสบ ส่วนต่อขยายรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) และรถไฟฟ้า BTS ทั้งส่วนสัมปทานและส่วนต่อขยาย
กทม. จัดมาตรการเชิงรุกป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ลดผลกระทบจากบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการขับเคลื่อนการควบคุมและลดผลกระทบจากบุหรี่ โดยเฉพาะควันบุหรี่มือสองว่า สนพ. ร่วมกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่คณะกรรมการดำเนินการโครงการเครือข่ายคลินิกฟ้าใส องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการโครงการ “เครือข่ายคลินิกฟ้าใส” เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงที่เข้มแข็งระหว่างโรงพยาบาลและชุมชนในการให้บริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาให้เกิดระบบบริการเลิกบุหรี่ที่มีมาตรฐานเป็นต้นแบบของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียโดยเริ่มการรักษาตั้งแต่ในระดับชุมชน กระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทย เก็บข้อมูลการให้บริการเลิกบุหรี่ทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลของบริการเลิกบุหรี่ในระดับชาติ และกระตุ้นให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการให้บริการเลิกบุหรี่ และการรักษาโรคติดบุหรี่ทั่วประเทศ
สำหรับคลินิกฟ้าใส เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างบุคลากรวิชาชีพสุขภาพในสาขาต่าง ๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา มีลักษณะเป็น One-Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย สร้างแรงจูงใจในการเข้ารับบริการเพื่อเลิกบุหรี่ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถนัดพบแพทย์และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิกฟ้าใสทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลนคราภิบาล หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพ สนพ. กทม. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ขอเน้นย้ำประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทุกประเภท เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยโรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพทุกแห่งถูกกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ ทั้งบริเวณภายในและภายนอกอาคาร รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง บริเวณที่จัดไว้ให้ผู้มารับบริการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนในระยะ 5 เมตรจากทางเข้า – ออกของสถานที่ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภท หรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 ซึ่งหากมีการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในโรงพยาบาล จะเป็นการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 42 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อป้องกันผลกระทบจากควันบุหรี่ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ อาทิ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหอบหืด เป็นต้น รวมทั้งรณรงค์สร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ประชาชน อาทิ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามแบ่งจำหน่ายบุหรี่มวน ห้ามการใช้สีสัน ลวดลาย เครื่องหมายการค้า หรือลูกเล่นที่สวยงามบนซองบุหรี่ เพื่อลดแรงจูงใจในการสูบบุหรี่ ลดจำนวนผู้สูบและป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า สนอ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการป้องกันและบำบัดผู้เสพยาสูบกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ สนับสนุนให้มีการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น กรมควบคุมโรค สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ลดผลกระทบจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยจัดสภาพแวดล้อมและจัดทำเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ตรวจสถานที่สาธารณะไม่ให้มีการสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง พร้อมทั้งกำหนดให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง รณรงค์การไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน และจัดให้มีชุมชนปลอดบุหรี่ต้นแบบ โดยไม่สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ และไม่สูบบุหรี่ในบ้าน สร้างความร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครรณรงค์เชิญชวนผู้สูบบุหรี่ให้เข้าถึงระบบการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลใกล้บ้าน และประชาสัมพันธ์การรับคำปรึกษาทางศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายด่วน 1600) รวมทั้งได้จัดทำฐานข้อมูลผู้เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อติดตามให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ
นอกจากนี้ ได้จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งและโรงพยาบาลในสังกัด รวมทั้งมีช่องทางการให้บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ โดยศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายด่วน 1600) ทั้งนี้ สนอ. ได้บรรจุยาไซทีซีน (Cytisine) ในบัญชียาหลักเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้ในการช่วยเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งกำหนดจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเสริมศักยภาพบุคลากรในด้านการให้บริการช่วยเลิกยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า (ยาไซทีซีน : Cytisine) ให้กับแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ของ สนอ. ในวันที่ 22 และ 29 พ.ย. และ 16 ธ.ค. 67
กทม. ปิดกั้นพื้นที่โครงการก่อสร้างคอนโดฯ ซอยสามเสน 24 สั่งเพิ่มมาตรการความปลอดภัยหลังวัสดุร่วงหล่น
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุแผงกันฝุ่นโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ในซอยสามเสน 24 ร่วงหล่น และมีคนงานได้รับบาดเจ็บว่า สนย. สำนักงานเขตดุสิต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอาคารดังกล่าว พบได้รับใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร ตามใบอนุญาตเลขที่ 63/2567 ลงวันที่ 8 พ.ค. 67 เป็นอาคารชนิดตึก 52 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น 5 ทาวเวอร์ (ทาวเวอร์ A สูง 43 ชั้น ทาวเวอร์ B สูง 52 ชั้น ทาวเวอร์ C สูง 31 ชั้น ทาวเวอร์ D สูง 3 ชั้น ทาวเวอร์ E สูง 3 ชั้น) จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย 1512 ห้อง และจอดรถยนต์ ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุเป็นอาคารทาวเวอร์ A ก่อสร้างถึงชั้นที่ 6 โดยสาเหตุที่วัสดุติดตั้งแผงป้องกันฝุ่นละอองหลุดร่วงลงมา คาดเกิดจากการยึดวัสดุติดตั้งแผงป้องกันฝุ่นละอองไม่แน่นพอ ทำให้ชิ้นส่วนวัสดุหล่นลงมาจากชั้น 6 จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 ราย โดยเจ้าของโครงการฯ ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว
ทั้งนี้ สนย. และสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (TSEA) ให้เจ้าของโครงการตรวจสอบแผงป้องกันฝุ่นละอองในส่วนอื่นและจัดทำรายการคำนวณ รวมทั้งหาวิธีการแก้ไขการติดตั้งแผงป้องกันฝุ่นละอองแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน ซึ่งออกแบบและคํานวณโดยผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร โดยแจ้งให้สำนักงานเขตดุสิตพิจารณาก่อนดำเนินการก่อสร้างต่อไป นอกจากนี้ ในระหว่างการก่อสร้างอาคารโครงการฯ ต้องตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของนั่งร้านและค้ำยันที่สร้างขึ้นเป็นประจำ โดยบันทึกผลการตรวจสอบและลงลายมือชื่อไว้ทุกเดือนเก็บไว้ ณ สถานที่ก่อสร้างเพื่อให้นายช่าง หรือนายตรวจตรวจสอบได้
นายเทียนชัย วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการเขตดุสิต กทม. กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานเขตฯ ได้ปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้ดำเนินงานก่อสร้างบริเวณอาคารดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการออกคำสั่งให้บรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือห้ามใช้อาคารกรณีฉุกเฉิน ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบกับข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ 2522 (แบบ ค.11) โดยแจ้งทั้งเจ้าของอาคารและผู้ดำเนินงานเพื่อให้บรรเทาทุกข์และแก้ไขปัญหาทางด้านความปลอดภัย พร้อมปรับปรุงมาตรการป้องกัน ตรวจสอบอุปกรณ์และวัสดุที่ใช้งานภายในกำหนด 30 วัน
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ยังได้กำชับโครงการก่อสร้างอาคารประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่ประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการ ผลกระทบ และมาตรการป้องกัน โดยกำหนดจัดประชุมให้ข้อมูลสำหรับประชาชนและจัดประชุมผู้รับเหมาโครงการฯ เพื่อกำชับมาตรการก่อนการก่อสร้างด้านต่าง ๆ เช่น จัดสรรทางเท้าให้สัญจรได้อย่างปลอดภัย ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบค่าฝุ่นเพื่อการควบคุมดูแลและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่หากมีฝุ่นเกินมาตรฐาน ควบคุมเสียงจากการก่อสร้างให้ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด รวมถึงช่วงเวลาการใช้เสียงที่เหมาะสม การควบคุมรถบรรทุก ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านน้ำหนักและความเร็วอย่างเข้มงวด และหลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเดินทาง การขออนุญาตกิจการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามระเบียบที่เข้มงวดและปลอดภัย พร้อมตรวจสอบความสมบูรณ์ครบถ้วนของอุปกรณ์ก่อสร้างและบำรุงเป็นประจำ