กทม. เน้นย้ำมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน-เฝ้าระวังป้องกันปัญหายาเสพติด-บุหรี่ไฟฟ้า
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังและตรวจสอบมาตรการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า สนศ. ได้เวียนแจ้งหนังสือ เรื่อง การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนสังกัด กทม. สั่งการให้โรงเรียนซักซ้อมความเข้าใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยห้ามบุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงผู้มาติดต่อกิจธุระมี หรือครอบครองมีด หรือของมีคม สารเสพติดทุกประเภทที่กฎหมายระบุ ไม่ให้มีการทำร้าย หรือรังแก และจัดพื้นที่บริเวณโรงเรียนให้เป็นเขตปลอดอาวุธ รวมทั้งเวียนแจ้งประกาศ กทม. เรื่อง มาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของ กทม. และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อให้โรงเรียนในสังกัดรับทราบและถือปฏิบัติ โดยโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน ให้ซักซ้อม อบรม และชี้แจงเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงเรียน เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทุกภาคเรียน หรืออย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง และบุคลากรเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนทุกคนต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของสถานีตำรวจในพื้นที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น พร้อมเพิ่มการตรวจตราสอดส่องดูและนักเรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ให้มีความเข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น โดยโรงเรียนต้องจัดให้มีครูที่ปรึกษา ครูประจำชั้น ครูให้คำปรึกษา ครูแนะแนว หรือครูที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น แต่ปฏิบัติหน้าที่ในทำนองเดียวกัน คอยดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหา หรือมีความเสี่ยงว่าจะประสบปัญหา ซึ่งโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา กทม. ได้ดำเนินการชมรม TO BE NUMBER ONE ภายในชมรมมีกิจกรรมบริการให้คำปรึกษา บริการฝึกแก้ปัญหาพัฒนา EQ เรียนรู้ด้วยตนเอง และบริการจัดกิจกรรมสร้างสุข รวมทั้งมีกิจกรรมศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น เน้นการช่วยเหลือดูแลและพัฒนาสมาชิกให้มีคุณภาพและมีความสุข ภายใต้แนวคิด “ปรับทุกข์ สร้างสุข แก้ปัญหา พัฒนา EQ” มีกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถได้แสดงความสามารถของตนเอง และนักเรียนที่มีปัญหาได้มีที่พึ่งทางจิตใจ มีกิจกรรมที่ช่วยเหลือให้นักเรียนที่ประสบปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้ ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยสอดส่องดูและนักเรียนให้มีความปลอดภัย ทั้งขณะที่อยู่ภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน
ส่วนมาตรการป้องกันยาเสพติดในโรงเรียนสังกัด กทม. และการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติดทุกประเภท รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กนักเรียน สนศ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขต สำนักป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย และหน่วยงานภายนอก เช่น มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ผลักดันมาตรการให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ชุมชน และผู้ปกครองเกี่ยวกับโทษและผลกระทบจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผ่านการบูรณาการเนื้อหาในหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดกิจกรรม การประชุม และการอบรม รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรณรงค์ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน อีกทั้งยังจัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับสำนักงานเขตเฝ้าระวังและป้องกันการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณโดยรอบโรงเรียนและพื้นที่ชุมชน สอดส่องไม่ให้เด็กและเยาวชนยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือสารเสพติดทุกประเภท โดยกวดขันดูแลให้นักเรียนปลอดภัยจากยาเสพติดทุกประเภท รวมถึงอบายมุขต่าง ๆ และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของสิ่งเสพติด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งและปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในกลุ่มนักเรียนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กทม. ยังดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครอบคลุมกัญชา กัญชง กระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอบายมุข มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันนักเรียนจากการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงอบายมุขและสิ่งเสพติดที่อาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมและสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมสิ่งเสพติดหลากหลายประเภท เช่น กัญชา กัญชง กระท่อม บุหรี่ธรรมดา บุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อควบคุมการเข้าถึงของนักเรียน รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้โรงเรียนรายงานข้อมูลการตรวจพบบุหรี่ไฟฟ้าผ่าน Google Form เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับโรงเรียน กทม. เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนเข้าถึง หรือใช้บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และติดตามผลการดำเนินงานผ่านระบบรายงานข้อมูล Google Form โดยให้โรงเรียนรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจพบ หรือแนวโน้มการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียน ขณะเดียวกันก็เน้นสร้างความตระหนักรู้และดำเนินมาตรการแก้ไขกรณีตรวจพบการใช้บุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งยังมีโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันนักเรียน กทม. ห่างไกลยาเสพติด โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร เพื่ออบรมครูแกนนำและนักเรียนแกนนำในโรงเรียน กทม. ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา และนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปขยายผลต่อในโรงเรียนด้วยการเป็นแกนนำด้านยาเสพติดในโรงเรียนและจัดตั้งศูนย์ หรือชมรมในการให้คำปรึกษา หรือแนะนำผู้ที่ต้องการได้รับการดูและช่วยเหลือบูรณาการกับงานด้านต่าง ๆ ภายในโรงเรียนตามบริบทของโรงเรียนต่อไป
กทม. แจงแนวทางตรวจสอบการทำงานล่วงเวลา
นางสาวทรรศนีย์ พันธ์ประคุณ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง (สนค.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตถึงการตรวจสอบการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ (โอที) โดยเฉพาะว่า ในการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการของข้าราชการและลูกจ้าง กทม. หน่วยงานจะต้องขอตั้งงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการเบิกจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวและดำเนินการตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การจ่ายเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา พ.ศ. 2529 โดยหน่วยงานจะจัดทำแผนการปฏิบัติงานนอกเวลา ซึ่งมีการกำหนดวัน เวลา อัตราค่าตอบแทน พร้อมแนบรายชื่อข้าราชการ หรือลูกจ้างที่จะอยู่ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ซึ่งการจ่ายเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา ข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การจ่ายเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา พ.ศ. 2529 ข้อ 9 บัญญัติว่า ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และอัตราตามระเบียบของกระทรวงการคลัง (ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ พ.ศ. 2550 ข้อ 7) ทั้งนี้ การปฏิบัติงานนอกเวลา หน่วยงานจะต้องเสนอขออนุมัติให้ข้าราชการ หรือลูกจ้างอยู่ปฏิบัติราชการนอกเวลาราชการปกติ พร้อมขออนุมัติสั่งจ่ายเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา ต่อผู้มีอำนาจตามข้อ 8 แห่งข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การจ่ายเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา พ.ศ. 2529
สำหรับการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ โดยปกติแล้วจะต้องมีผู้ที่ปฏิบัติงานนอกเวลาคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับรองควบคุมการทำงานประจำวัน และในหลักฐานการจ่ายเงินค่าตอบแทนจะต้องลงชื่อรับรองว่า ผู้มีรายชื่อในการเบิกค่าตอบแทนมีการปฏิบัติงานนอกเวลาจริง ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิเบิกค่าตอบแทนได้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงการคลัง (ข้อ 7) กำหนด และฝ่ายการคลังจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนเสนอหัวหน้าหน่วยงานอนุมัติฎีกาเบิกจ่าย
นอกจากนี้ กทม. ได้มีหนังสือกำชับและสั่งการให้ผู้อำนวยการเขตกำกับดูแลหลายฉบับ อาทิ หนังสือสำนักงานตรวจสอบภายใน ที่ กท 0407/1438 ลงวันที่ 21 ก.ย. 65 เรื่อง รายงานสรุปผลการตรวจสอบบัญชีและการเงินของสำนักงานเขต ตามแผนการตรวจสอบประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ระบุว่า “3.1 กำชับให้เจ้าหน้าที่เบิกจ่ายเงินค่าอาหารทำการนอกเวลาราชการโดยถือปฏิบัติตามระเบียบและข้อบัญญัติอย่างเคร่งครัด” และหนังสือ กทม. ที่ 0407/675 ลงวันที่ 23 ก.ย. 62 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจกรณีการเบิกจ่ายเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ
เขตจอมทองคัดค้านแนวเขตรังวัดที่ดิน ถ.พระราม 2 ซอย 28 ใช้เป็นทางเข้า-ออกข้างชุมชน
นายณัฐพงษ์ มีโภคกิจ ผู้อำนวยการเขตจอมทอง กทม. กล่าวกรณีชาวชุมชนยายวรรณกังวลจะได้รับความเดือดร้อนจากการจะถูกปิดกั้นทางสัญจรบริเวณถนนพระราม 2 ซอย 28 แยก 17 เนื่องจากเป็นที่ดินส่วนบุคคล ซึ่งชาวชุมชนใช้เป็นทางเข้าออกมานานว่า สำนักงานเขตจอมทองได้คัดค้านการรังวัด โดยไม่รับรองแนวเขตที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทเจ้าของที่ดิน ซึ่งเมื่อบริษัทรับทราบแนวเขตที่ดินและข้อเท็จจริงต่าง ๆ แล้ว จึงยุติการรังวัดและไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อ รวมทั้งไม่ได้ปิดกั้นทางเดินแต่อย่างใด ทั้งนี้ หลังจากสำนักงานเขตจอมทองเข้าไปร่วมรับฟังการเจรจาระหว่างตัวแทนของชาวบ้านและเจ้าของที่ดินดังกล่าว เจ้าของที่ดินได้ยินยอมให้ประชาชนในชุมชนสามารถสัญจรเข้า-ออกในเส้นทางดังกล่าวได้ตามปกติเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต