กทม. รุดซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างแยกชิดลม-ปี 68 ติดตั้งเพิ่มอีก 30,000 โคม คาดแล้วเสร็จ ธ.ค. 67
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตบริเวณแยกชิดลมไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างว่า จากการตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณแยกชิดลมและหน้าโรงเรียนมาแตร์เดอีพบว่า ไฟฟ้าชำรุด จึงทำให้มีไฟฟ้าดับจำนวนมาก โดย สนย. ได้ดำเนินการซ่อมแซมอุปกรณ์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วและขณะนี้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ส่วนความคืบหน้าและแผนการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปีงบประมาณ 2568 สนย. จะติดตั้งในถนนสายหลัก 10,000 โคม (พร้อมระบบติดตามการทำงานของดวงโคม IoT) ปัจจุบันการดำเนินงานมีความคืบหน้ามากกว่าร้อยละ 35 โดยได้ติดตั้งโคม Led ในถนนรัชดาภิเษก ถนนเพชรบุรี และถนนพระราม 9 คาดว่าจะสามารถติดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 67 และอีก 20,000 ดวงติดตั้งให้กับถนน ตรอก และซอยของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 67 เช่นเดียวกัน
กทม. เร่งรัดโครงการปรับปรุงถนนในซอยสุขุมวิท 64 กำชับเพิ่มมาตรการความปลอดภัยแก่ประชาชน
นางสายทิพย์ สุคนธ์มณี ผู้อำนวยการเขตพระโขนง กล่าวชี้แจงกรณีประชาชนร้องเรียนการปรับปรุงถนนในซอยสุขุมวิท 64 แยก 6-5 ล่าช้า สร้างความเดือดร้อนและเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุว่า สำนักงานเขตพระโขนง ได้ดำเนินการตรวจสอบและเร่งรัดแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนในซอยสุขุมวิท 64 แยก 6-5 ที่ทำให้ผิวจราจรชำรุดเป็นหลุม โดยความคืบหน้าการก่อสร้างปัจจุบันได้ลงหินคลุกและเทคอนกรีตเป็นช่วง ๆ ละ 50 เมตรตลอดความยาว 300 เมตร ส่วนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อได้ดำเนินการลงพื้นฐานหินคลุกเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้กำชับผู้รับเหมาเพิ่มมาตรการความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง อาทิ จัดหน้างานให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องมือเมื่อไม่ได้ใช้งาน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบโครงการก่อสร้างดังกล่าวและหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งจัดทำป้ายและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์
กทม. แจงปรับรูปแบบชำระค่าโดยสารรถ BRT – พร้อมกำชับ BTSC เข้มงวดดูแลความปลอดภัย
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตผู้ใช้บริการรถ BRT มีทั้งผู้ที่จ่ายค่ารถโดยสารและผู้ที่ไม่จ่าย โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่า กทม. ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโดยสาร BRT และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการชำระค่าโดยสารเป็น E-ticket ผ่านไลน์ หรือใช้บัตรแรบบิท เนื่องจากมีความจำเป็น ต้องลดภาระด้านงบประมาณในการบริหารโครงการ ซึ่งมาตรการตรวจสอบชำระค่าโดยสาร จะมีประกาศแจ้งเตือนทั้งในสถานีและบนตัวรถ พร้อมมีนายตรวจลงสุ่มตรวจ หากพบผู้ไม่ชำระค่าโดยสารจะดำเนินการปรับเป็นเงิน 20 เท่าของค่าโดยสาร ส่วนความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำทุกสถานี ทำหน้าที่ตรวจตราผู้เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้ สจส. ได้กำชับและตรวจสอบผู้บริหารจัดการเดินรถให้บำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งบริเวณสถานีและรถที่ให้บริการ เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยมีแผนงานการบำรุงรักษาเป็นประจำทุกเดือน