กทม. เร่งปรับปรุงกายภาพทางข้ามถนนสีลม-จัดเทศกิจอำนวยความสะดวกช่วงเวลาเร่งด่วน
นางพรพัน วัฒนสินธุ์ ผู้อำนวยการเขตบางรัก กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุรถจักรยานยนต์ชนคนขณะข้ามทางม้าลายบริเวณถนนสีลมว่า สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามตรวจสอบแล้วพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้มี การลงบันทึกประจำวัน เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 67 ที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทุ่งมหาเมฆ โดยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้เฉี่ยวชนผู้ที่กำลังข้ามทางข้ามบริเวณใกล้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสีลม เป็นเหตุให้ผู้ข้ามได้รับบาดเจ็บและนำส่งโรงพยาบาล IMH สีลม ส่วนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงบันทึกประจำวันระบุเป็นผู้ต้องหาฐานความผิดขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. ปรับปรุงทางข้ามบริเวณถนนสีลมให้มีความปลอดภัย ได้แก่ ทาสีแดง ขยายความกว้างเส้นทางข้าม ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรคนเดินข้ามชนิดกดปุ่ม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีพนักงานบริษัทจำนวนมาก จึงได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและการข้ามถนนบริเวณทางข้ามในช่วงเวลาเร่งด่วน รวมทั้งจะร่วมกับ สน. ในพื้นที่และภาคีเครือข่ายรณรงค์และประชาสัมพันธ์ความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นประจำทุกเดือน เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องวินัยจราจรและเฝ้าระวังป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนถนน
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า บริเวณทางข้ามเป็นพื้นที่ปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผู้ขับขี่จะต้องขับรถให้ช้าลงและพร้อมที่จะหยุดรถได้ทันท่วงทีเมื่อมีคนข้าม ให้คนมีสิทธิข้ามทางไปก่อน จึงสามารถเคลื่อนรถต่อไปได้ เหตุการณ์รถชนคนขณะใช้ทางข้ามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นพฤติกรรมเฉพาะรายบุคคล ทั้งนี้ สจส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนร่วมกันหาแนวทางลดปัญหาดังกล่าว โดยรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อสร้างความปลอดภัยในการสัญจรผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์เรื่องความปลอดภัยบริเวณทางข้ามเป็นประจำ โดยเผยแพร่ทางช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ สจส. จัดให้มีการฝึกอบรมและรณรงค์เรื่องการขับขี่ให้มีความปลอดภัยโดยเฉพาะด้วย
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาด้านกายภาพ สจส. ได้ดำเนินการปรับปรุงทางข้ามให้มีความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสานสำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ และประสานความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ท้องที่ เพิ่มความเข้มงวดกวดขันวินัยจราจรและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม สจส. จะเพิ่มการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามแบบกดปุ่ม การจัดทำเส้นชะลอความเร็ว การติดตั้งป้ายเตือนให้ประชาชนที่ใช้ทางข้ามระมัดระวังในการข้ามถนน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาช่วยโดยการติดตั้งกล้อง CCTV พร้อมระบบ AI เพื่อป้องปรามและใช้ข้อมูลเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีของผู้กระทำความผิดต่อไป
กทม. ย้ำการจัดทำร่างผังเมืองรวม (ปรับปรุงครั้งที่ 4) คำนึงถึงสิทธิ์-การมีส่วนร่วมของประชาชน
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวชี้แจงกรณีสภาผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการให้รายละเอียดผลกระทบ และการจัดรับฟังความคิดเห็น กทม. ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงว่า การวางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) กทม. ได้คำนึงถึงสิทธิ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวม ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยจัดให้มีการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งก่อนมีร่างและหลังมีร่างผังเมืองรวม ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 60-ปัจจุบัน ในการดำเนินการดังกล่าวได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ของโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมฯ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูลก่อนการประชุม พร้อมเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมการประชุม โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถรับเอกสารประกอบ การประชุม รับฟังและซักถามรายละเอียดได้ในที่ประชุม หรือแจ้งเป็นหนังสือให้ กทม. ทราบ โดย กทม. ได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 66 – 30 ส.ค. 67 รวมระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแบบรายเขตทั้ง 50 เขตเพิ่มเติมด้วย โดยเป็นการจัดประชุมในสถานที่ ณ เขตต่าง ๆ ร่วมกับการประชุมแบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ บางส่วนรับรู้ข้อมูลแต่เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม หรือแสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมแต่อย่างใด บางส่วนได้รับผลกระทบ หรือได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนก็สามารถสอบถาม หรือแสดงความคิดเห็นต่อ สวพ. ได้ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ การวางและจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ทุกประการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้กรุงเทพมหานครมีผังเมืองรวมฉบับใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมของเมือง ที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งการวางและจัดทำผังเมืองรวมถือเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนบางประการที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลของการรักษาไว้ซึ่งสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม หากไม่มีข้อกำหนดในผังเมืองรวมจะทำให้ทุกคนสามารถพัฒนาอะไรก็ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการรบกวนผู้อื่นและเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผังเมืองรวมจึงเป็นเครื่องมือที่ป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ซึ่งกันและกัน และเพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข
สำหรับประเด็นการกำหนดถนนโครงการจำนวน 148 สาย การปรับปรุงคลอง การกำหนดบึงรับน้ำคู้บอน และปัญหาของเมืองในด้านต่าง ๆ สวพ. อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตรงตามข้อเท็จจริงของสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมของเมือง และเป็นไปตามหลักทางวิชาการผังเมือง ซึ่งขณะนี้ ยังไม่แล้วเสร็จ โดยหลังจากมีร่างผังเมืองรวมที่ปรับปรุงแก้ไขหลังจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ขั้นตอนต่อไป กทม. จะเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณา ก่อนนำไปปิดประกาศเป็นเวลา 90 วัน ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดได้อีกครั้งตามขั้นตอนของกฎหมาย โดย กทม. จะนำคำร้องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณา ผลการพิจารณาถือเป็นที่สิ้นสุด และจะนำร่างผังเมืองรวมฯ เข้าสู่ขั้นตอนตามกฎหมาย เพื่อประกาศเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครใช้บังคับต่อไป
กทม. เดินหน้าป้องกัน แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งสภาวะปกติ-ช่วงวิกฤต
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกว่า กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 ทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ประกอบด้วย มาตรการติดตาม เฝ้าระวัง กำจัดต้นตอ และป้องกันประชาชน รวมทั้งการดำเนินมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการตรวจจับรถยนต์ควันดำ การตรวจสอบสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่โครงการก่อสร้างต่าง ๆ แห่งละ 2 ครั้ง/เดือน การเฝ้าระวังและป้องกันการเผาหญ้าและเผาขยะในที่โล่งเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา รวมทั้งกำชับทุกหน่วยงานในสังกัดนำรถเข้าตรวจสภาพก่อนช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และตรวจวัดมลพิษรถของราชการ เพื่อควบคุมและป้องกันการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ส่วนการกำหนดแนวทางดำเนินมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ (Low Emission Zone) เป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันและลดผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ในช่วงที่ฝุ่นสูงอยู่ในขั้นวิกฤต โดยการห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ยกเว้นรถประเภท EV, NGV, CNG, EURO 5 – 6 และรถที่ได้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green list) ซึ่ง กทม. ได้เปิดให้รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปลงทะเบียนบัญชีสีเขียวได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไป โดยนำหลักฐานการนำรถเข้ากระบวนการบำรุงรักษา ประกอบด้วย การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และการเปลี่ยนไส้กรองอากาศ ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ (Google Form) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในขั้นวิกฤตตามเงื่อนไข ส่วนรถประเภท EV, NGV, CNG, EURO 5 – 6 ที่ได้รับการยกเว้น สามารถลงทะเบียนบัญชีสีเขียวได้เช่นกัน เพื่อความสะดวกในการเข้าพื้นที่ Low Emission Zone และการตรวจสอบข้อมูล ทั้งนี้ Low Emission Zone จะมีผลบังคับใช้เมื่อสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในขั้นวิกฤตตามเงื่อนไข คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง คือ มากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จำนวน 5 เขต ประกอบกับมีการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 2 วันว่า ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 จะอยู่ในระดับสีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต และมีอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร/วินาที รวมถึงมีทิศทางลมมาจากทางตะวันออก โดยจะออกประกาศให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ระยะเวลาการห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดไปของประกาศ และหากพบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มอย่างต่อเนื่อง กทม. จะพิจารณาออกประกาศห้ามรถประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.airbkk.com หรือเพจเฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร” “สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.” หรือจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ หรือแอปพลิเคชัน “AirBKK” เพื่อรับทราบสถานการณ์ล่วงหน้าและหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และหากประชาชน พบเห็นเบาะแสแหล่งกำเนิดฝุ่น หรือการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งข้อมูลผ่าน Traffy Fondue หรือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
กทม. จับมือภาคีเร่งสร้างแรงจูงใจจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง ป้องกันปัญหาสัตว์จรจัด
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวถึงแนวทางการควบคุมและแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ. ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจดทะเบียนสุนัข ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสัตว์ พ.ศ.2550 อย่างต่อเนื่อง โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สัตวแพทยสภา สมาคมผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย ชมรมผู้ประกอบการสถานพยาบาลสัตว์แห่งประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือสถานพยาบาลสัตว์เอกชนช่วยประชาสัมพันธ์การจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง รวมถึงประสานภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าของสัตว์เลี้ยงในการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงและการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ โดยร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. …. ที่จะประกาศใช้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าของสัตว์ดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ แก่ชุมชน รวมถึงเป็นการป้องกันปัญหาสัตว์จรจัดจากการเพิ่มจำนวนและการปล่อยทิ้งสัตว์เลี้ยงเป็นสัตว์จรจัด โดยมีการกำหนดจำนวนสัตว์ต่อพื้นที่การเลี้ยง เพื่อไม่ให้มีการเลี้ยงสัตว์ที่หนาแน่นจนก่อให้เกิดปัญหาเดือดร้อนรำคาญแก่ส่วนรวม มีการเลี้ยงดูแลสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ของตนเองไม่ปล่อยออกสู่พื้นที่สาธารณะ หากมีความจำเป็นต้องนำสัตว์เลี้ยงออกนอกพื้นที่ต้องควบคุมสัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะสัตว์ควบคุมพิเศษที่ต้องควบคุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงการจดทะเบียนสุนัขและแมว โดยเจ้าของสุนัขและแมวสามารถนำสัตว์เลี้ยงมาฉีดไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขกับ กทม. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. ทั้ง 8 แห่ง และที่หน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต
นอกจากนี้ สนอ. ได้ประสานการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานเขตในการประชาสัมพันธ์และออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เชิงรุกผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และฉีดไมโครชิปจดทะเบียนสุนัขให้แก่สัตว์เลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ 50 เขต พร้อมทั้งการให้บริการที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. ทั้ง 8 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผลการดำเนินงานในปี 2567 กทม. ร่วมกับเครือข่ายในการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 64,669 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 209,085 ตัว และฉีดไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข 1,759 ตัว ซึ่งในปี 2568 ได้ตั้งเป้าหมายการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 50,000 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 170,000 ตัว และฉีดไมโครชิปจดทะเบียนสุนัข 3,500 ตัว โดยสามารถติดตามแผนการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า” “สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข” “สำนักอนามัย” หรือสำนักงานเขตพื้นที่
สำหรับการฉีดไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีสุนัขมีเจ้าของที่ได้รับการจดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 115,814 ตัว และในปี 2567 ได้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขและศูนย์บริการสาธารณสุขสำรวจสุนัขและแมวในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของ 53,991 ตัว จำนวนแมวมีเจ้าของ 115,827 ตัว จำนวนสุนัขจรจัด 8,945 ตัว และจำนวนแมวจรจัด 19,925 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค. 67) โดยข้อมูลดังกล่าว กทม. จะนำไปวิเคราะห์ เพื่อวางแผน การดำเนินการควบคุมประชากรและการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว รวมทั้งการจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป