Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567

กทม. เตรียมพร้อมเฝ้าระวังรับมือสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น

นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นว่า กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 67 เป็นต้นมา โดยจัดประชุมติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงอย่างต่อเนื่อง จัดเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอและมีความแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ จัดทำแผนเฝ้าระวังจุดฟันหลอและเตรียมการป้องกันผลกระทบกกรณีปริมาณน้ำเหนือหลากและทะเลหนุนสูง โดยออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง รวมทั้งเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

นอกจากนี้ ได้เตรียมพร้อมสถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งและคลองสนามชัย (พื้นที่ธนบุรีตอนล่าง) ตามโครงการแก้มลิงมหาชัย-สนามชัย เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและสู่คลองชายทะเลบางขุนเทียน จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดอ่อน จุดเสี่ยงน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำ และตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ส่วนแนวป้องกันตนเองในบางแห่งที่มีระดับคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ กทม. ได้จัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเป็นเเนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวในบริเวณที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงปิดช่องเปิดตามบริเวณท่าเรือต่าง ๆ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ที่เว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/ , https://pr-bangkok.com/ หรือเพจเฟซบุ๊ก “BKK.BEST” “กรุงเทพมหานคร” รวมถึงแจ้งเหตุปัญหาที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ตลอด 24 ชั่วโมง

นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า สปภ. ได้จัดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิงและกู้ภัย เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมให้การสนับสนุนและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง และสำนักงานเขต ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2567 รองรับสถานการณ์น้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ โดยเฉพาะสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาและมีบ้านเรือนประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงที่ระดับน้ำเพิ่มสูง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน โทร. 199 ตลอด 24 ชั่วโมง

กทม. แจงรับเด็กต่างด้าวเข้าเรียน รร. ในสังกัด ไม่กระทบเด็กไทยเสียโอกาสทางการศึกษา

นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตโรงเรียนสังกัด กทม. มีนักเรียนต่างด้าวเข้าเรียนจำนวนมากว่า การจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยในโรงเรียนสังกัด กทม. ดำเนินการตามนโยบายที่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 48 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 31 ต.ค. 62 เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย โดยเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและเด็กที่มีสัญชาติไทยได้รับโอกาสในการศึกษาและเติบโตอย่างมีคุณภาพ สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้อย่างเสมอภาค ตามสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางการศึกษา โดยในปีการศึกษา 2567 โรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 258,316 คน ซึ่งมีจำนวนนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 12,551 คน คิดเป็นร้อยละ 4.86 อย่างไรก็ตาม การเปิดรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าศึกษา ไม่ได้ทำให้เด็กที่มีสัญชาติไทยเสียโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากได้มีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อรองรับนักเรียนทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมและจัดการศึกษาที่ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีสัญชาติไทย หรือเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและส่งเสริมให้เด็กทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตน ได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ กทม. มีแนวทางการรับนักเรียน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตให้กับเด็กทุกคนในสังคม ซึ่ง สนศ. ได้จัดประชุมคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อจัดทำประกาศ กทม. เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. ทุกปีการศึกษา คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในหน่วยงานและภายนอกหน่วยงาน โดยแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนและโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจว่า ทุกคนจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งแนวปฏิบัติ การรับนักเรียนของโรงเรียนสังกัด กทม. ได้กำหนดอย่างชัดเจนในแต่ละระดับการศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1 ระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 2 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยระบุจำนวนห้องเรียนและจำนวนการรับนักเรียนต่อห้องอย่างชัดเจน เพื่อให้การรับนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดวัน เวลา และขั้นตอนการรับสมัคร เพื่อให้โรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียนสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสะดวก อีกทั้งกำหนดแนวทางการรับนักเรียนในโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ ได้แก่ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสองภาษา โรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษ (เรียนร่วม) ซึ่งให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้ได้เข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย กรณีนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียนในสถานศึกษาหากไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โรงเรียนจะดำเนินการออกรหัสประจำตัวผู้เรียน (รหัส G) เพื่อระบุตัวนักเรียนในการขอรับบริการทางการศึกษา ไม่ได้เป็นการรับรองว่านักเรียนคนดังกล่าวจะได้รับสัญชาติไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ การให้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก สำหรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทยจะได้รับการกำหนดเลข 13 หลักสำหรับบุคคลต่างด้าวที่ออกตามกระบวนการทางทะเบียนราษฎร โดยกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น

กทม. เข้มตรวจสอบการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง-สารเคมีในผักผลไม้ เฝ้าระวังความปลอดภัยให้ผู้บริโภค

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรายงานการตรวจพบสารเคมีตกค้างในองุ่นไซน์มัสกัตว่า สนอ. มีมาตรการตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ตลาด ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท/ร้านขายของชำ โดยดำเนินการร่วมกับ 50 สำนักงานเขต และได้สนับสนุนรถหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit for Food Safety) ให้กับสำนักงานเขตทั้ง 6 กลุ่มเขต เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลและการคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาหาร ประกอบด้วย (1) การตรวจสอบสุขลักษณะการจำหน่ายโดยผู้ที่ทำการค้าจำหน่ายอาหารต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ต้องเป็นผู้ค้าที่ผ่านการอบรมด้านการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรของ กทม. และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สุขลักษณะการจำหน่ายอาหาร ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ กทม. ดำเนินการตรวจสอบและแนะนำให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อยู่เสมอ (2) การตรวจสอบคุณภาพอาหาร ทั้งการวิเคราะห์หาสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในอาหาร การตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง และการตรวจความสะอาดของภาชนะอุปกรณ์และมือผู้สัมผัสอาหาร พร้อมทั้งตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารทางห้องปฏิบัติการ โดยวิเคราะห์หาเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคที่เป็นอันตรายในระบบทางเดินอาหาร ทั้งในอาหารพร้อมบริโภคและเครื่องดื่มที่ไม่ได้บรรจุในภาชนะปิดสนิท รวมทั้งตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผัก ผลไม้ และตรวจวิเคราะห์หาสารพิษจากเชื้อราในอาหาร (Aflatoxin) (3) ส่งเสริมให้ผู้ค้าเข้ารับการอบรมการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรของ กทม. (4) การมอบป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. ให้กับร้านที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. เพื่อสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพิ่มความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ประชาชน

ทั้งนี้ ในระหว่างเดือน ต.ค. 66 – ก.ย. 67 ที่ผ่านมา กทม. ได้ตรวจเฝ้าระวังการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง/สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยสุ่มตรวจในตัวอย่างอาหาร ประเภทผักและผลไม้ในตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต และในปีงบประมาณ 2568 สนอ. ได้จัดทำแผนการตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ จากตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง กรณีตรวจพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตจะดำเนินการวิเคราะห์หาจุดเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต และส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งสืบค้นหาสาเหตุแห่งการปนเปื้อนในอาหาร เพื่อกำกับดูแลและปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกันยังประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านสารเคมีปนเปื้อนในอาหารแก่ผู้ค้าและประชาชนผู้บริโภค ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงาน รวมทั้งจัดทำสื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชน อาทิ คราบขาวบนผิวองุ่นคืออะไร อันตรายหรือไม่ ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำผิด หรือสงสัยว่ามีการกระทำผิด สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่แอปพลิเคชัน BKK Food Safety หรือ Traffy Fondue หรือสายด่วน 1555

กทม. เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝน

นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังว่า กทม. ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมด้านระบบระบายน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนตกหนัก โดยใช้แผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 67 ประกอบด้วยการควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแก้มลิง 36 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย เตรียมพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตกเพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของสำนักการระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขตให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วย BEST เข้าตรวจสอบแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน

นอกจากนี้ ยังได้ประสานสำนักงานเขตสำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาในทันที และบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่มีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่ ประกอบด้วยการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งประสานงานและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ กทม. ทราบ เป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม.ต่อไป ตลอดจนประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบระบายน้ำคูน้ำแนวถนนวิภาวดีรังสิต ขณะเดียวกันได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และบรรเทาความเดือดร้อน ให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อีกทั้งยังประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับช่องทางการรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และสถานการณ์ฝนของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยการใช้ AI พยากรณ์ฝนล่วงหน้า 3 ชั่วโมงให้ประชาชนรับทราบอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีผ่านทาง https://dds.bangkok.go.th/nowcast รวมทั้งการแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากฝนตกหนักต่อเนื่องทางเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/ , https://pr-bangkok.com/ ,Facebook:@BKK.BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ตลอด 24 ชั่วโมง

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200