กทม. เตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุกดูแลสุขภาพประชาชน ป้องกันการเจ็บป่วยช่วงฤดูหนาว
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุกดูแลสุขภาพประชาชน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาวว่า สนพ. ได้เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังและจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในฤดูหนาวและภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค พร้อมทั้งจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย จัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และให้บริการเชิงรุกในการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับโรคในฤดูหนาวแก่ประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาลในสังกัดและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างความตระหนักรู้การดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาว
นอกจากนี้ สนพ. ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคของโรคติดต่อ โดยให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เมื่ออากาศเย็นลง ประกอบด้วย (1) รับประทานอาหารปรุง สุก ใหม่ (2) ดื่มน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำสมุนไพรเผ็ดร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด (3) รับประทานผัก ผลไม้ และสมุนไพรรสเปรี้ยว เพื่อเพิ่มความชุ่มคอและบรรเทาอาการไอ (4) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ (5) ไม่ควรดื่มสุราแก้หนาว เพราะเสี่ยงต่อหัวใจวายและเสียชีวิตได้ (6) หมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ และ (7) สวมใส่เสื้อผ้าหนา หรือห่มผ้าเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย ส่วนผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปในแหล่งชุมชน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ทั้งนี้ ประชาชนสามารถพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine หรือแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า สนอ. ได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมทั้งการเตรียมรับมือ หากผู้ป่วยด้วยโรคที่พบบ่อยช่วงฤดูหนาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตลอดจนติดตามสถานการณ์ภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงฤดูหนาวอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย โดยทำหนังสือแจ้งเตือนมาตรการการป้องกันโรคและภัยในช่วงฤดูหนาว รวมถึงวิธีการปฏิบัติตนไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สุขศึกษาและคำแนะนำแนวทางส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะสถานที่ที่แออัด หรือมีการรวมกลุ่มเป็นจำนวน เช่น สถานศึกษา บ้านพักคนชรา อีกทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว ผ่านช่องทางสื่อสาธารณะต่าง ๆ
กทม. เร่งซ่อมแซมผิวจราจรสะพานข้ามแยกพงษ์เพชร-หาแนวทางป้องกันกวดขันรถบรรทุกใช้สะพาน
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีข้อสังเกตสะพานข้ามแยกพงษ์เพชรชำรุดบ่อยครั้งว่า จากการตรวจสอบสะพานข้ามแยกพงษ์เพชรพบผิวจราจรที่เสียหายเกิดบริเวณช่วงกลางสะพานที่มีพื้นสะพานเป็นเหล็กและมีความโค้งของตัวสะพาน เมื่อมีรถสัญจรเป็นจำนวนมาก ทำให้ชั้นของวัสดุปูผิวจราจรที่เป็นแอสฟัลต์หลุดร่อน แต่วัสดุชั้นที่ยึดเกาะกับผิวเหล็กยังติดแน่นอยู่ ซึ่ง สนย. ได้ดำเนินการซ่อมแซมชั่วคราวเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 67 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้สัญจรในเบื้องต้น
ทั้งนี้ สนย. อยู่ระหว่างพิจารณาออกแบบปรับปรุงโครงสร้างพื้นสะพานเหล็กและปรับปรุงวัสดุปูผิวจราจรใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างถาวร นอกจากนี้ ได้ประสานความร่วมมือสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ จ.นนทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการป้องกันและกวดขันไม่ให้รถบรรทุกขับขึ้นสะพานข้ามแยกพงษ์เพชร ตามข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่าด้วยเรื่องห้ามรถบรรทุกขึ้นสะพานข้ามทางแยกต่อไป
กทม. เดินหน้าแก้ปัญหาสัตว์จรจัดในที่สาธารณะ ป้องกันการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้า
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวกรณีมีข้อสังเกตพบประชาชนทิ้งสุนัขในที่สาธารณะมากขึ้น เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยข้อมูลในคน ไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ามาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว โดยพบผู้เสียชีวิตรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 59 ที่เขตบางนา ส่วนข้อมูลในสัตว์ปี 63 และปี 64 ไม่พบสุนัขบ้า ปี 65 พบ 2 ตัว ปี 66 พบ 15 ตัว และปี 67 ขณะนี้พบ 1 ตัว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 67 เขตหนองจอก ซึ่งพื้นที่พบโรคเป็นเขตรอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ยังคงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
สำหรับแนวทางการปฏิบัติเมื่อมีรายงานคน หรือสัตว์สงสัยติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สนอ. จะลงพื้นที่โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SSRT) ภายใน 24 ชั่วโมง ระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักงานเขต สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อร่วมกันสอบสวน ควบคุม เฝ้าระวัง และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ค้นหาผู้สัมผัสและสัตว์สัมผัสโรคฯ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฯ ให้ครบตามโปรแกรม ส่วนผลการสำรวจสุนัขและแมวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยอาสาสมัครสาธารณสุขในปี 67 พบว่า มีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของ 53,991 ตัว แมวมีเจ้าของ 115,827 ตัว สุนัขจรจัด 8,945 ตัว และแมวจรจัด 19,925 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค. 67)
ทั้งนี้ กทม. มีนโยบายแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต และการแก้ไขปัญหาสัตว์จรผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดซึ่งเป็นสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และมูลนิธิองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์ อาทิ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สัตวแพทยสภา สมาคมผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย มูลนิธิ SOS Animal Thailand มูลนิธิ The Voice มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิรักษ์แมว บริหารจัดการแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดอย่างเป็นระบบและมีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางตลอดจนถึงปลายทาง ดังนี้ 1) ป้องกันการทอดทิ้งสัตว์มีเจ้าของ โดยขับเคลื่อนการจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของเลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นทาง ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ซึ่งนอกจากจะสามารถติดตามหาเจ้าของเมื่อสุนัขพลัดหลงแล้ว ยังช่วยป้องกันการทิ้งสุนัข รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ ในการเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องเหมาะสม “คิดก่อนเลี้ยง เลี้ยงด้วยความรู้ ดูแลด้วยความรักและรับผิดชอบ และเลี้ยงดู ตลอดจนสิ้นอายุขัย” 2) ควบคุมการเพิ่มจำนวนเละแก้ไขปัญหาจากสัตว์จรจัด โดยการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกในพื้นที่ 50 เขต ให้บริการที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 8 แห่ง ซึ่งผลการดำเนินงานของ กทม. และเครือข่ายในปีงบประมาณ 67 ผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 64,669 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 209,085 ตัว และแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสุนัขและแมว ขับเคลื่อนการสร้างสัตว์ชุมชน เพื่อให้เกิดความมีส่วนร่วมของคนและสัตว์ในการอยู่ร่วมกันในชุมชน โดย กทม. ดำเนินการแก้ไขปัญหาแมวจรจัดด้วยการผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรค และปล่อยกลับคืนพื้นที่เดิมโดยไม่เพิ่มจำนวนและเมื่อเวลาผ่านไปจำนวนจะลดลงจากการเสียชีวิตตามอายุขัย ตามแนวทาง TNVR (Trap-Neuter-Vaccinate-Return) ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์อย่างยั่งยืน 3) การดูแลสัตว์จรจัดที่เข้ามาในศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัข กทม.ให้เป็นตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และขับเคลื่อนการหาผู้อุปการะให้แก่สัตว์จรจัดแทนการซื้อหาสัตว์ใหม่มาเลี้ยง (Adopt not Shop) โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายมูลนิธิ สมาคม และชมรมต่าง ๆ เช่น มูลนิธิ SOS Animal Thailand สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมรักสัตว์โอซีดี ทำกิจกรรมหาผู้อุปการะสุนัขและแมวจรจัดจากศูนย์ควบคุมสุนัข กทม. ในแคมเปญ “OOH4Paws” ผ่านสื่อโฆษณา เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาบ้านใหม่ให้กับสุนัขและแมวจรจัด
นอกจากนี้ สนอ. ยังจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกทุกวันทำการและในวันหยุดราชการ ซึ่งประชาชนสามารถติดตามแผนการออกหน่วยฯ ได้ที่เฟซบุ๊ก “กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย” และสำนักงานเขตพื้นที่ รวมทั้งลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนนำสุนัขและแมวจรจัดเข้ารับการผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทำสัญลักษณ์ ก่อนปล่อยกลับคืนพื้นที่เดิม เพื่ออยู่ร่วมกับชุมชน พร้อมประชาสัมพันธ์พบเห็นสัตว์จรจัดสงสัย หรือสัมผัส โรคพิษสุนัขบ้า สามารถติดต่อกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข โทร. 0 2248 7417 หรือสายด่วน กทม. 1555 และกรณีสุนัขและแมวจรจัดกัดทำร้ายคน มีพฤติกรรมดุร้าย มีความเสี่ยงไม่ปลอดภัย หรือก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มควบคุมและพักพิงสุนัข สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข โทร. 0 2328 7460