กทม. แจงเหตุยกเลิกโครงการศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงฯ ที่ จ.นครปฐม เตรียมก่อสร้างที่ศูนย์เรียนรู้มหานคร หนองจอก
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวชี้แจงกรณียกเลิกโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 ที่ จ. นครปฐม มาก่อสร้างที่ศูนย์การเรียนรู้มหานคร หนองจอกว่า สืบเนื่องจาก กทม. ได้พิจารณาความเป็นไปได้และความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน ทั้งด้านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องคำนึงถึงความชอบด้วยกฎหมาย เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน หรือความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งด้านอัตรากำลัง หรือวิธีการอื่นใดที่จะสามารถดำเนินการได้นอกเหนือจากนี้หรือไม่ ตลอดจนพิจารณาตามประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนเป็นสำคัญและความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนากรุงเทพมหานคร ประกอบกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการฯ ระยะที่ 2 มีรายละเอียดและพื้นที่ใช้สอยอาคารพักผู้ฝึกอบรมเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งการจัดทำ EIA ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการที่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด และหากไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับ กทม. เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างในระยะที่ 2 ได้ ทำให้การใช้งานอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะที่ 1 ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ อีกทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ กทม. จะเกิดภาวะชะงักได้
นอกจากนี้ ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้มหานคร หนองจอก มีห้องพักพร้อมรับผู้เข้ารับการอบรม 72 ห้อง จำนวน 216 คน ซึ่งสามารถใช้ร่วมกันกับศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงฯ ได้โดยไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงยังมีสนามกีฬาบางกอกอารีน่า สามารถใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมได้ด้วย กทม. จึงยกเลิกการประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 ด้วยวิธีประกวดราคาอิทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่ง สนย. ในฐานะผู้ดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ดำเนินการตามขั้นตอนโดยมิได้ชักช้าแต่อย่างใด
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 ขณะนี้ สปภ. ได้รับงบประมาณตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้ประสาน สนย. รับโอนงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 ต่อไป
กทม. เตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุกรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ป้องกันผลกระทบสุขภาพประชาชน-กลุ่มเปราะบาง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค. นี้ว่า สนพ. ได้บูรณาการ ความร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้และข้อแนะนำแก่ประชาชนและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่โดยรอบ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ แจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงและให้คำแนะนำการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทั้งการเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และเปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลในสังกัด เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ตลอดจนรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็นหากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
สำหรับมาตรการเชิงรุกในการควบคุม กำกับดูแลและแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนพ. ได้รณรงค์ให้ส่วนราชการในสังกัดขอความร่วมมือร่วมลดฝุ่น PM2.5 จากการเดินทาง โดยลดปริมาณการใช้ยานพาหนะในช่วงที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มปริมาณฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น รวมทั้งร่วมลดฝุ่น PM2.5 ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การเหลื่อมเวลาทำงาน การส่งเสริมให้บุคลากรใช้รถขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อลดความหนาแน่นของรถและลดการสร้างมลพิษทางอากาศ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ “ดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถ ลดฝุ่น PM 2.5” โดยกำชับพนักงานขับรถยนต์ดับเครื่องยนต์ทุกครั้ง เมื่อไม่ปฏิบัติงานหรือจอดรถรับ-ส่ง เพื่อลดปัญหาการเกิดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากไอเสียของเครื่องยนต์จากยานพาหนะ
ส่วนแนวทางการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ ได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของโรงพยาบาลในสังกัดออกหน่วยบริการเชิงรุก โดยให้การดูแลรักษาคำแนะนำเบื้องต้น พร้อมความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนและเครือข่าย ทั้งภายในโรงพยาบาลและชุมชนบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงรอบโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 วิกฤตหนาแน่น เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธี ลดผลกระทบต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ
นอกจากนี้ สนพ. ได้จัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำในการป้องกัน ดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น ส่วนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือหากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ. โทร 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยภายในเดือน พ.ย. 67 สนอ. จะจัดหาหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่ จำนวน 1 ล้านชิ้น ส่งผ่านไปให้สำนักงานเขต 50 เขต เพื่อรณรงค์และสนับสนุนความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีค่าสูง โดยมอบให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง พร้อมทั้งให้แนะนำแก่ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ
ขณะเดียวกัน สนอ. ได้ให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง จัดเตรียมความพร้อมให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยกลุ่มโรคที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ที่มารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ โดยข้อมูลดังกล่าวจะนำไปพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 และให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง เตรียมพร้อมจัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ และทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำในการดูแลและป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 อย่างถูกวิธีต่อไป
กทม. เพิ่มความถี่ตรวจสอบความปลอดภัยถนน-ผิวจราจร ป้องกันเหตุถนนทรุด
นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุถนนทรุดตัว บริเวณปากคลองตลาดว่า จากการตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบเป็นหลุมกว้างประมาณ 2 เมตร เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ต้องสัญจรในเส้นทางดังกล่าว สำนักงานเขตพระนครได้เร่งดำเนินการแก้ไข โดยใช้ยางมะตอยซ่อมแซมเบื้องต้นและได้ประสานสำนักการโยธา (สนย.) พิจารณาตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง สนย. ได้ซ่อมแซมชั่วคราวให้สามารถเปิดการจราจรได้ และนำเครื่อง GPR มาสำรวจโพรงใต้ดินอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ กทม. จะเพิ่มความถี่การตรวจสอบความปลอดภัยของถนนและผิวจราจรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค ปี 2550 และเงื่อนไขในใบอนุญาตฯ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะบริเวณที่มีการก่อสร้างใต้ดิน เพื่อป้องกันเหตุถนนทรุดตัว ลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว