กทม. เตรียมเพิ่มบุคลากร รพ. รัตนประชารักษ์รองรับผู้ใช้บริการ พร้อมแจงสาเหตุเก็บค่าจอดรถ รพ. กลาง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตถึงอัตรากำลังบุคลากรของโรงพยาบาล (รพ.) คลองสามวา อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน และการจัดเก็บค่าบริการที่จอดรถของ รพ. สังกัด กทม. ว่า รพ. คลองสามวา หรือ รพ. รัตนประชารักษ์ ได้เปิดอาคาร รพ. ความสูง 10 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 250 เตียง อาคารหอพักแพทย์ความสูง 9 ชั้น อาคารหอพักพยาบาลความสูง 9 ชั้น อาคารจอดรถยนต์ความสูง 8 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 67 ซึ่งสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เขตคลองสามวาและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ เขตหนองจอก เขตคันนายาว เขตมีนบุรี เขตสายไหม เขตบางเขน และ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการขยายกรอบอัตรากำลังบุคลากรของ รพ. รัตนประชารักษ์ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) แล้ว ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 67 ซึ่งมติที่ประชุมอนุมัติกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการ จำนวน 191 ตำแหน่ง จากกรอบอัตรากำลังเดิม 26 ตำแหน่ง เพิ่มกรอบอัตรากำลังใหม่อีก 165 ตำแหน่ง หลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสามัญข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ (อ.ก.ก.) เพื่อพิจารณากำหนดระดับตำแหน่งตามกรอบอัตรากำลัง จากนั้นจะแจ้งบัญชีกรอบอัตรากำลังที่ได้รับอนุมัติให้ สนพ. เพื่อคัดเลือกและย้ายข้าราชการที่ช่วยราชการอยู่ ณ ปัจจุบัน ให้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่ต่อไป ส่วนตำแหน่งที่ว่างจะดำเนินการเปิดสอบคัดเลือกอย่างเร่งด่วนตามลำดับ
ส่วนแนวทางการบริหารจัดการที่จอดรถในโรงพยาบาลสังกัด กทม. กรณีเรียกเก็บค่าบริการจอดรถของ รพ. กลาง เนื่องจาก รพ. กลางดำเนินการก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดิน 4 ชั้น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 51 เพื่อรองรับการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มารับบริการที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับ รพ. ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจมีที่จอดรถจำกัดและอัตราค่าบริการจอดรถบริเวณโดยรอบมีราคาสูง ทำให้เกิดปัญหาผู้ที่มิได้ มารับบริการ รพ. แอบอ้างเข้าจอดใน รพ. จำนวนมาก และมีเหตุโจรกรรมรถยนต์อยู่เสมอ จึงมีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบควบคุมการเข้า-ออกของรถยนต์ระบบอัตโนมัติ เพื่อตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยให้แก่ทรัพย์สินของผู้มารับบริการและทางราชการ ซึ่ง รพ. ได้ดำเนินการตามประกาศ กทม. เรื่อง กำหนดขนาดและชนิดยานยนต์ อัตราค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจอดยานยนต์ในอาคารที่จอดยานยนต์ของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 โดยในกรณีที่เป็นผู้มารับบริการและมีตราประทับของหน่วยงานจะได้รับส่วนลด 50% และรายได้จากการเก็บเงินค่าบริการจอดรถยนต์จะนำเข้าเป็นรายได้เงินบำรุง รพ. เพื่อนำมาใช้ดูแลบำรุงรักษาระบบให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการแก่ผู้มารับบริการในด้านต่าง ๆ ต่อไป
กทม. เดินหน้ามาตรการเฝ้าระวังกำจัดต้นตอฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบสุขภาพประชาชน
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีกรมควบคุมมลพิษเตือนกรุงเทพฯ -ปริมณฑล เตรียมรับมือฝุ่น PM2.5 ช่วงวันที่ 24-27 ต.ค. นี้ว่า กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 พร้อมประสานทุกหน่วยงานขับเคลื่อนแผนฯ ทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤตอย่างต่อเนื่องตามอำนาจหน้าที่ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ประกอบด้วย มาตรการติดตามเฝ้าระวัง กำจัดต้นตอ และป้องกันประชาชน โดยเฉพาะการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ทั้งจากสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 โรงงาน สถานที่ก่อสร้างทุกขนาด ถมดิน และท่าทราย ซึ่ง กทม. ได้ประสานความร่วมมือระหว่าง สสล. สำนักงานเขต สำนักอนามัย และสำนักการโยธา เข้มงวดตรวจสอบการตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ตามแผนการตรวจฯ แห่งละ 2 ครั้ง/เดือน พร้อมกำชับผู้ประกอบกิจการและผู้รับเหมาก่อสร้างให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งตรวจสอบยานพาหนะในสถานที่ต้นทางและริมเส้นทางจราจรร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และกรมควบคุมมลพิษ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจวัดรถยนต์ที่มีควันดำทั้งในสถานที่ต้นทางและริมเส้นทางจราจร จำนวน 161,175 คัน ผลการตรวจสอบไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 945 คัน ขณะเดียวกันได้กำชับทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. นำรถเข้าตรวจสภาพรถตามรอบการเช็กระยะ และตรวจวัดมลพิษรถของราชการ รวมถึงกำหนดแผนดำเนินโครงการรถคันนี้ลดฝุ่น ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนำรถเข้าตรวจสภาพตามระยะ พร้อมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ ตลอดจนสนับสนุนรถอัดฟางข้าวให้เกษตรกรยืมใช้ เพื่อลดการเผาวัสดุทางการเกษตร
นอกจากนี้ ยังได้แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.airbkk.com, www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก: กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และติดตามทางแอปพลิเคชัน AirBKK เพื่อรับทราบสถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อวางแผนการเดินทาง การทำงาน การทำกิจกรรมกลางแจ้ง การหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หากประชาชนพบการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งข้อมูล หรือเบาะแสผ่านระบบ Traffy Fondue หรือโทรศัพท์แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าระงับเหตุ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป
กทม. รุดแก้ปัญหาน้ำท่วมขังถนนรามบุตรี-ท่าเตียน พร้อมเชื่อมระบบระบายน้ำกันน้ำย้อนกลับ
นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตถนนรามบุตรีมีน้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักว่า สำนักเขตพระนครได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา พนักงานกวาด และเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และช่วยเหลือประชาชน โดยเข้าเปิดฝาบ่อพักท่อระบายน้ำ มอบกระสอบทรายให้บ้านเรือนประชาชน พนักงานกวาดจัดเก็บขยะหน้าตะแกรง เพื่อเพิ่มระบายน้ำเข้าสู่ระบบ การระบายน้ำสู่คลองและแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจได้จัดยานพาหนะสนับสนุนช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนบริเวณพื้นที่เขตพระนคร ถนนรามบุตรี และซอยรามบุรี ซึ่งปริมาณฝนรวมที่สำนักงานเขตฯ อยู่ที่ 100 มิลลิเมตร จึงทำให้เกิดการท่วมขังในพื้นที่
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักการระบายน้ำ (สนน.) เพื่อเร่งรัดการระบายน้ำลงสู่ระบบการระบายน้ำลงคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งสำนักงานเขตฯ และ สนน. ได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตพระนคร รวมทั้งเตรียมการลอกท่อระบายน้ำและคูคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาต่อไป
นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เขตพระนคร ซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณ ถนนรามบุตรี ท่าเตียน เขตพระนคร และจากการตรวจวัดปริมาณฝนพื้นที่เขตพระนคร ปริมาณฝนรวม 84.5 มิลลิเมตร (มม.) ประกอบกับในช่วง 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 67 จนถึงวันที่ 22 ต.ค. 67 มีฝนตกสะสมในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 200 มม. ส่งผลให้ถนนรามบุตรี พื้นที่ใกล้เคียง และถนนในพื้นที่เขตพระนครเกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งหลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง สถานที่ดังกล่าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติและประชาชนสามารถสัญจรผ่านไปมาได้
สำหรับการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณดังกล่าว สนน. ได้ขุดลอกท่อระบายน้ำบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ รวมถึงถนนรามบุตรีเรียบร้อยแล้ว รวมถึงเชื่อมระบบระบายน้ำที่ลงสู่คลอง หรือแม่น้ำเจ้าพระยาโดยติดตั้งระบบ เพื่อกันน้ำย้อนกลับ พร้อมทั้งเสริมแนวคันป้องกันน้ำท่วมบริเวณแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนสูง นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตฯ ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยประสานทั้งช่องทางกลุ่มไลน์ โทรศัพท์ และวิทยุสื่อสาร เพื่อช่วยลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป