นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณมาลินา เอ็นลุนด์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยของ Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คุณยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ จาก Facebook ประเทศไทย และ คุณอิเลีย สมินอฟ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสายเด็ก (Childline Thailand) ร่วมเปิดตัวซีรีส์เว็บตูนเชิงการศึกษา เสริมทักษะปกป้องความเป็นส่วนตัวและเพิ่มความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับวัยรุ่นและเยาวชนไทย
โดยแคมเปญนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Meta และพันธมิตรภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานปกป้องสิทธิเด็กและภาคประชาสังคมในประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสายเด็ก (Childline Thailand) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ตลอดจนเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังที่ทำงานด้านประเด็นสังคม ได้แก่ Drama-addict และคุณบุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี โดยได้มีการเปิดตัวซีรีส์เว็บตูนอย่างเป็นทางการในวันสุขภาพจิตโลก (10 ตุลาคม 2567) เพื่อส่งเสริมสุขภาวะดิจิทัลของเด็กและเยาวชนไทย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะนำซีรีส์เว็บตูนเชิงการศึกษาชุดนี้ไปเผยแพร่ผ่านโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง ต่อไป
สำหรับซีรีส์เว็บตูนนี้ถูกสร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นโดย Meta ซึ่งดัดแปลงมาจากเวอร์ชันที่เปิดตัวในประเทศฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้จากการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานด้านคุ้มครองเด็ก โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อช่วยให้กลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นสามารถควบคุมประสบการณ์บนโซเชียลมีเดียในแบบที่เหมาะสมและสนับสนุนสุขภาวะของจิตใจ โดยในแต่ละ EP ของเว็บตูนจะเป็นการให้คำแนะนำและเคล็ดลับแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับวิธีรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ และสนับสนุนให้ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มของ Meta เพื่อให้ประสบการณ์ออนไลน์มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นำเสนอในรูปแบบการ์ตูนภาพเป็นภาษาไทย จำนวน 3 ตอน ประกอบด้วย EP 1 การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล EP 2 การรักษาความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ และ EP 3 หลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ (Grooming) และมีฟีเจอร์ให้ผู้อ่านวัยรุ่นหรือเยาวชนได้มีส่วนร่วมในประสบการณ์การอ่านและทำความเข้าใจในหัวข้อนั้น เช่น ทำควิซตอบคำถาม
คุณมาลินา เอ็นลุนด์ กล่าวว่า เรามุ่งมั่นในการทำงานเพื่อปกป้องวัยรุ่นและสนับสนุนชุมชนบนโลกออนไลน์ เรามีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้เชียวชาญ ผู้ปกครอง และวัยรุ่น เพื่อพัฒนาทรัพยากรและแหล่งข้อมูลความรู้ที่เชื่อถือได้ที่จะช่วยให้วัยรุ่นและเยาวชนในประเทศไทยสามารถควบคุมประสบการณ์ออนไลน์และกลายเป็นผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างมีความรับผิดชอบได้
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ กล่าวเสริมว่า เรารู้สึกยินดีในความร่วมมือที่สำคัญครั้งนี้กับ Meta และเครือข่ายพันธมิตรสิทธิเด็กและเยาวชน ในการให้ความรู้แก่วัยรุ่นเกี่ยวกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในโลกออนไลน์ สำหรับเราแล้วการพัฒนาความรู้ของเด็กเป็นประเด็นที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เรามีความตั้งใจที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน
ด้าน คุณอิเลีย สมินอฟ กล่าวว่า มูลนิธิสายเด็ก (Childline Thailand) และ Meta เป็นพันธมิตรในการทำงานเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปี เรามุ่งมั่นทำงานเพื่อสนับสนุนการสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ รวมถึงการให้ความรู้ในการปกป้องความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นในประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจที่เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เว็บตูนที่มีประโยชน์และทำให้ผู้คนได้รับรู้ถึงมุมมองหรือความกังวลของพวกเขา การทำงานร่วมกันกับพันธมิตรจะช่วยเสริมพลังแห่งความรู้และทักษะทักษะต่าง ๆ ให้กับเยาวชนเพื่อให้พวกเขาสามารถปกป้องตัวเองได้บนโลกออนไลน์
ทั้งนี้ เยาวชน ผู้ปกครอง หน่วยงาน หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าถึงเว็บตูนฉบับเต็มทั้ง 3 ตอนฉบับภาษาไทยได้ทางเว็บไซต์โครงการ We Think Digital Thailand ของ Meta ที่ https://wethinkdigital.fb.com/th/th-th/resources/
—————————