(11 ต.ค. 67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดอนเมือง ประกอบด้วย
สำรวจสวน 15 นาที สวนสุขภาพ บริเวณด้านหน้าบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ (BAFS) ถนนกำแพงเพชร 6 ซึ่งอยู่ระหว่างถมดิน ปรับสภาพพื้นที่ ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา 2.สวนหย่อมเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา พื้นที่ 3 งาน 33 ตารางวา 3.สวนรื่นภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง พื้นที่ 1 ไร่ 2.สวนหย่อมหน้าบริษัทการท่าอากาศยานไทย พื้นที่ 5 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา 3.สวนหย่อมภายในศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร พื้นที่ 2 งาน 4.สวนหย่อมประตู 1 สนามบินดอนเมือง พื้นที่ 1 งาน 25 ตารางวา 5.ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วิถีคน (ดอน) เมือง พื้นที่ 4 ไร่ 4 งาน 51 ตารางวา 6.สวนนาวงประชาพัฒนา 21 พื้นที่ 3 ไร่ 7.สวนเปรมประชา พื้นที่ 1 ไร่ 29 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนสุขภาพ ด้านหน้า บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) พื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน อยู่ระหว่างดำเนินการ 9.สวน SX-Treme Road พื้นที่ 1 ไร่ 13 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงอนุรักษ์ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในพื้นที่ไว้ตามเดิม ออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในสวนอย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนศิริสุข ถนนช่างอากาศอุทิศ มีบ้านเรือน 871 หลังคาเรือน ประชากร 2,504 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เข้าร่วมโครงการ “ไม่เทรวม” โดยตั้งวางถังขยะเศษอาหาร เพื่อให้ประชาชนในชุมชนนำขยะมาทิ้งในจุดที่กำหนด โดยจะนำเศษอาหารมาทำน้ำหมักจุลินทรีย์ และทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อนำมาใช้ในแปลงผักชุมชน นอกจากนี้ ทางชุมชนได้ประดิษฐ์ถังหมักรักษ์โลก แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปใส่เศษอาหารทำปุ๋ยบำรุงรักษาต้นไม้ตามบ้านเรือน 2.ขยะรีไซเคิล ประชาชนในชุมชนจะคัดแยกขยะรีไซเคิลจากครัวเรือนและนำไปขาย โดยที่ทำการชุมชนกำหนดนัดหมายขายขยะรีไซเคิลประจำเดือน ตามโครงการตลาดนัดขยะรีไซเคิลชุมชนศิริสุข ร่วมกับโครงการ Wastebuy Delivery บริษัท วงษ์พาณิชย์ 3.ขยะทั่วไป ชุมชนได้กำหนดจุดทิ้งพลาสติกประเภทเหนียว โครงการ “วน” บริเวณที่ทำการชุมชน โดยรวบรวมไว้ เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ชุมชนได้กำหนดจุดทิ้งขยะอันตราย และขยะติดเชื้อ บริเวณด้านข้างที่ทำการชุมชน เขตฯ จัดเก็บตามวันและเวลาที่กำหนด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 75,200 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 72,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 2,100 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1.5 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท เอเชีย ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ จำกัด ถนนสรงประภา (ขาออก) ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการที่มีหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) 1 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 4 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 3 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง 4 แห่ง ประเภทถมดิน 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการปรับปรุงรั้วโดยรอบแพลนท์ปูนให้มีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร โดยด้านล่างให้เป็นรั้วทึบ 4 เมตร ด้านบนเป็นรั้วโปร่ง 2 เมตร ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบบ่อคายกากคอนกรีตและบ่อตกตะกอนไม่ให้มีตะกอนสะสมจนทำให้น้ำปูนล้นออกมา ล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีน้ำปูนหรือเศษหินเศษทรายตกค้าง ตรวจวัดค่าควันดำรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าหมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 ถนนสรงประภา (ขาเข้า) ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 63 ราย ได้แก่ 1.ถนนสรงประภา (ขาออก) ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 570/8 ซอยสรงประภา 5 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 570/407 ซอยสรงประภา 7 ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00- 24.00 น. 2.ถนนสรงประภา (ขาเข้า) ตั้งแต่หน้าร้านสวัสดิการทหารอากาศ ถึงหน้าอาคารเลขที่ 1/136 ผู้ค้า 37 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. 3.ถนนสรงประภา (ขาเข้า) หน้าธนาคารทหารไทยธนชาติ เลขที่ 310/85 ถึงธนาคารกรุงไทย เลขที่ 310/75 ผู้ค้า 9 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-16.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 62 ราย ได้แก่ 1.หน้าสวัสดิการสื่อสาร ถนนสรงประภา (ขาเข้า) ผู้ค้า 31 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. 2.หน้าหมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 ถนนสรงประภา (ขาเข้า) ผู้ค้า 31 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด บริเวณหน้าวัดคลองบ้านใหม่ ถนนเทิดราชัน ผู้ค้า 29 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 67 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker center จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าศูนย์การค้าแฮ๊ปปี้ อเวนิว ถนนสรงประภา (ขาออก) รองรับแผงค้าได้ 20 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-21.00 น. จัดเก็บค่าใช้จ่ายตามอัตราที่ตลาดกำหนด 2.ตลาดโอโซนวัน ถนนสรงประภา (ขาออก) รองรับแผงค้าได้ 100 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-21.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ประชุมสร้างความเข้าใจกับผู้ค้า ติดตามประเมินผลการจัดระเบียบพื้นที่ รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณถนนกำแพงเพชร ข้างโรงเรียนเปรมประชา ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟ ปล่อยให้เป็นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำให้มีการลักลอบทิ้งขยะ โดยเขตฯ มีแนวคิดในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำเป็นลานจอดรถเก็บขยะ สวนหย่อม และศูนย์เรียนรู้เกษตรฯ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและมีการลักลอบนำขยะมาทิ้ง โดยให้เขตฯ ปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับอาคารทิ้งร้าง และที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง หรือจุดล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม หรือปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย เศษวัสดุก่อสร้าง ซึ่งสำนักเทศกิจได้มีหนังสือสั่งการให้สำนักงานเขตดำเนินการตามข้อกฎหมาย จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 4.ประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 5.พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 6.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และ 7.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564
ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดอนเมือง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)