คชก.กทม. พิจารณา EIA โครงการก่อสร้างคอนโดฯ เลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ตามหลักกฎหมายด้วยความโปร่งใส-เป็นธรรม
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีชาวบ้านในพื้นที่เขตลาดพร้าว ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ (ถนนประดิษฐ์มนูธรรม) ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากที่ กทม. อนุมัติให้บริษัทเรียลเอสเตทก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมมากกว่า 6 อาคารว่า โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมโนเบิล ครีเอท (Noble Create) ชื่อเดิมโครงการ โนเบิล ฟรีดอม (Noble Freedom) ตั้งอยู่ที่ถนนประดิษฐ์มนูธรรม แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว ได้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 65 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) ในการประชุมครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 65 ต่อมาได้เสนอรายงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณาของ คชก.กทม. ในการประชุมครั้งที่ 13/2565 เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 65 ซึ่งมีมติให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการดังกล่าว ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณารายงาน EIA โครงการดังกล่าวที่เสนอให้ คชก.กทม. พิจารณานั้น เป็นไปตามหลักกฎหมายและหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้นำประเด็นข้อห่วงกังวลของโครงการดังกล่าวเข้ามาพิจารณาประกอบการให้ความเห็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความได้สัดส่วน และความจำเป็นในการใช้ดุลพินิจในเรื่องนั้น ๆ ไว้ด้วยแล้ว ซึ่ง คชก.กทม. ได้ดำเนินกระบวนการพิจารณารายงาน EIA ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งโครงการได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้อย่างครอบคลุม หากมีการร้องเรียนจะต้องดำเนินการตามผังแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยมาตรการต่าง ๆ ในรายงานโครงการจะกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้าง หรือรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร ซึ่งโครงการจะต้องถือปฏิบัติ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานฯ จะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมอาคาร ส่วนการติดตามตรวจสอบให้ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานฯ มีทั้งการติดตามตรวจสอบโดยหน่วยงานที่อนุญาต ได้แก่ สำนักการโยธา และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ นอกจากนี้ เจ้าของโครงการมีหน้าที่จัดส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการในการรายงานฯ ให้ กทม. เพื่อส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปีละ 2 ครั้งด้วย
กทม. สั่งหยุดก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง เร่งเสริมความปลอดภัยจุดปิดกั้นทางขึ้นลง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุรถกระบะตกจากโครงการก่อสร้างสะพานทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างว่า สนย. ได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) จระเข้น้อย สรุปข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 67 เวลาประมาณ 01.45 น. เกิดเหตุรถยนต์ขับขี่ตกจากสะพาน โดยจากการสอบสวน ผู้ประสบเหตุได้ขับขี่รถยนต์มาจากถนนร่มเกล้า มีสามีและบุตรสาวเป็นผู้โดยสาร ขับขี่ขึ้นสะพานเสียหลักตกจากสะพานเนื่องจากไม่ชินเส้นทาง ซึ่ง สนย. ได้ตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างในวันเวลาดังกล่าวพบว่า พื้นที่ช่วงเชิงลาดสะพานฝั่งขาออก บริเวณซอยลาดกระบัง 11/2 มีการทำงานก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยคืนเกิดเหตุได้ปฏิบัติงานจนถึงเวลาประมาณ 01.20 น. และคืนพื้นที่โดยเว้นช่องเปิดพื้นที่ เพื่อเป็นช่องทางขนส่งวัสดุสำหรับการก่อสร้าง และเป็นจุดที่เกิดกรณีรถยนต์ที่ผู้ประสบเหตุไม่ชินเส้นทางขับเข้าช่องทางขึ้นสะพานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างผิวจราจรบนสะพานที่ยังไม่ได้ติดตั้งรอยต่อสะพาน รวมถึงยังไม่ได้ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนสะพาน ก่อนเกิดอุบัติเหตุชนแบริเออร์ (Barrier) คอนกรีตกันตกที่กั้นสะพานจนแบริเออร์และรถยนต์ตกจากสะพานเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย
สำหรับการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุ เจ้าหน้าที่โครงการฯ และผู้รับจ้างได้เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บ และสอบถามอาการพบว่า ผู้เป็นสามี มีแผลที่ใบหน้าและหน้าแข้งด้านขวา ซี่โครงฝั่งซ้ายร้าว 1 ซี่ มีสติสามารถพูดคุยได้ แต่ต้องเข้ารับการรักษาอยู่ในห้องไอซียู ส่วนผู้ขับขี่มีอาการเจ็บหน้าอกจากการกระแทก มีแผลถลอกที่แขน และบุตรสาวมีแผลถลอกที่ข้อเท้า เอ็กซเรย์แล้วไม่พบความผิดปกติ โดยแพทย์มีความเห็นว่า สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ ทั้งนี้ บริษัทผู้รับจ้าง เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลและเยียวยาความเสียหายให้ผู้แก่ผู้ประสบเหตุทั้งหมด
ทั้งนี้ สนย. ได้มีหนังสือให้ผู้รับจ้างหยุดปฏิบัติงานทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 67 เพื่อทบทวนมาตรการความปลอดภัย และตรวจสอบความเรียบร้อยของการกั้นพื้นที่ก่อสร้าง การติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง รวมถึงมาตรการความปลอดภัยการทำงานบนที่สูง โดยให้ผู้รับจ้างเร่งเสริมความปลอดภัยจุดปิดกั้นทางขึ้นลงสะพานทั้งหมด ตลอดจนช่องทางเข้าออกพื้นที่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และเร่งติดตั้งป้ายแนะนำ ป้ายเตือนความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง สำหรับความคืบหน้าของโครงการฯ ปัจจุบันได้ก่อสร้างเสาเข็ม ฐานราก เสาตอม่อของทางยกระดับแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างก่อสร้างคานสะพานรูปกล่องพร้อมทางวิ่ง (Box Girder)