กทม. เตรียมพร้อมรับมือฝุ่น PM2.5 ต.ค. นี้ บังคับใช้กฎหมายแหล่งกำเนิดฝุ่น-ขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีกรมควบคุมมลพิษระบุช่วงวันที่ 3 – 4 ต.ค. นี้ สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อาจมีแนวโน้มเกินเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการระบายอากาศว่า สสล. ได้ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และสภาพอุตุนิยมวิทยาจากกรมอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง พบว่า ภาพรวมสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศปานกลางถึงดี ซึ่งจากการคาดการณ์สภาพอากาศ ฝุ่นละอองมีแนวโน้มทรงตัวและอาจเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-6 ต.ค. 67 อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ยังทำให้เกิดฝนตกได้ในบางวัน ประกอบกับในช่วงวันที่ 1-3 ต.ค. 67 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสภาพการระบายอากาศไม่ดีถึงอ่อนและสภาพอากาศปิด ส่งผลให้ปริมาณความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น กทม. ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 โดยตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไป กทม. จะบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดฝุ่น ทั้งการเพิ่มความเข้มงวดตรวจวัดควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำ เพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง การขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน การควบคุมสถานประกอบการที่ประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดกลางและเล็ก อาทิ กิจการผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป
นอกจากนี้ ยังได้แจ้งเตือนรวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านแอปพลิเคชัน : AirBKK เว็บไซต์ : www.airbkk.com, www.pr-bangkok.com เพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม เพจเฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร และแอพลิเคชัน : LINE ALERT กรณีประชาชนพบแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแสผ่านระบบ Traffy Fondue
กทม. กำกับตรวจสอบการก่อสร้างอาคารชุดเลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีชาวบ้านในพื้นที่เขตลาดพร้าว ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ (ถนนประดิษฐ์มนูธรรม) ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากที่ กทม. อนุมัติให้บริษัทเรียลเอสเตทก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมมากกว่า 6 อาคารว่า สนย. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า บริษัท มาเจสติค พาร์ค จำกัด แจ้งก่อสร้างอาคารที่ถนนประดิษฐ์มนูธรรม แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ แบบ ยผ.1 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 66 ใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร แบบ ยผ.4 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 66 ดังนี้ (1) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) 25 ชั้น (อาคาร A) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุด (อยู่อาศัย 226 ห้อง) และจอดรถยนต์ (2) อาคาร ค.ส.ล. 28 ชั้น (อาคาร B) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุด (อยู่อาศัย 208 ห้อง) และจอดรถยนต์ (3) อาคาร ค.ส.ล. 33 ชั้น (อาคาร C) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุด (อยู่อาศัย 192 ห้อง) (4) อาคาร ค.ส.ล. 24 ชั้น (อาคาร D) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุด (อยู่อาศัย 230 ห้อง) และจอดรถยนต์ (5) อาคาร ค.ส.ล. 33 ชั้น (อาคาร E) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุด (อยู่อาศัย 186 ห้อง) (6) อาคาร ค.ส.ล. 28 ชั้น (อาคาร F) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุด (อยู่อาศัย 208 ห้อง) และจอดรถยนต์ (7) อาคาร ค.ส.ล. 9 ชั้น (อาคาร G) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารจอดรถยนต์ (8) อาคาร ค.ส.ล. 1 ชั้น (อาคาร H) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารสโมสรและสระว่ายน้ำ (9) อาคาร ค.ส.ล. 1 ชั้น (อาคาร I) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารนิติบุคคล (10) อาคาร ค.ส.ล. 1 ชั้น (อาคาร J) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นซุ้มทางเข้าโครงการและป้อมยาม ทางเดินเชื่อม (11) อาคาร ค.ส.ล. 1 ชั้น (ทางเชื่อม AB) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นทางเดินเชื่อมอาคาร A-B ทางเดินเชื่อม (12) อาคาร ค.ส.ล. 1 ชั้น (ทางเชื่อม EF) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นทางเดินเชื่อมอาคาร E-F (13) อาคาร ค.ส.ล. 1 ชั้น (อาคาร K) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นห้องเครื่องงานระบบ (14) ทางเดิน ค.ส.ล. 1 ชั้น (L) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นทางเดินยกระดับ L และ (15) ทางเดิน ค.ส.ล. 1 ชั้น (M) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นทางเดินยกระดับ M
สำหรับบริเวณที่ยื่นแจ้งก่อสร้างอาคารอยู่ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 เป็นที่ดินประเภท ย.4 เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย อาคารดังกล่าวใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้รับยกเว้น ตามข้อ 36(3) แห่งกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 กรณีตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 16 เมตร การใช้ประโยชน์ที่ดินต้องเป็นกรณีที่ตั้งอยู่บนที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งมีด้านใดด้านหนึ่งกว้างไม่น้อยกว่า 16 เมตร ติดถนนสาธารณะซึ่งใช้เป็นทางเข้าออกที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 16 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอด จนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่น โดยด้านหนึ่งต้องมีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 16 เมตร และอีกด้านหนึ่งต้องมีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 12 เมตร และที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ในระยะไม่เกิน 300 เมตร จากริมเขตทางนั้น บริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่ติดถนนประดิษฐ์มนูธรรม (สาธารณประโยชน์ เขตทางกว้าง 80.00 เมตร) ที่ดินส่วนที่ติดถนนสาธารณะกว้าง 19.05 เมตร และอาคาร A-F (อาคารสูง) ตั้งอยู่ในระยะไม่เกิน 300 เมตรจากริมถนนสาธารณะ กรณีตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2540) ข้อ 2 กำหนดที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้แจ้งก่อสร้างอาคารที่เป็นอาคารสูง จำนวน 6 หลัง ที่ดินติดถนนประดิษฐ์มนูธรรม (สาธารณประโยชน์ เขตทางกว้าง 80.00 เมตร) ที่ดินส่วนที่ติดถนนสาธารณะกว้าง 19.05 เมตร และมีสะพานกว้าง 12.00 เมตร การใช้สอยเป็นสาธารณประโยชน์ แต่การบำรุงรักษาเป็นหน้าที่ของบริษัทฯ (ใบอนุญาตลงวันที่ 23 ก.ย. 64) จึงไม่ขัดต่อกฎกระทรวงดังกล่าว นอกจากนี้ สนย. ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการก่อสร้าง และประชุมเพื่อกำกับ ตรวจสอบการก่อสร้าง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเป็นระยะ โดยตรวจสอบความถูกต้อง การปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลกระทบต่อประชาชนข้างเคียง และการแก้ไขปัญหาของผลกระทบนั้น ๆ
กทม. แจงเหตุน้ำท่วมขังในซอยวัชรพล พร้อมติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนต่อเนื่อง
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์น้ำท่วมขังในซอยวัชรพล เขตสายไหมว่า จากสถานการณ์ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในซอยวัชรพล พื้นที่เขตสายไหม หลังฝนตกหนักเมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 ก.ย. โดยตรวจวัดปริมาณฝนที่มากถึง 93.0 มิลลิเมตร (มม.) ส่งผลให้ระบบระบายน้ำที่จะลำเลียงน้ำระบายออกจากพื้นที่ไหลได้ไม่สะดวก เนื่องจากระบบท่อระบายน้ำที่มีอยู่ขนาดยังไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของหมู่บ้าน ชุมชน บ้านเรือน ประกอบกับน้ำในคลองโดยรอบพื้นที่อาทิ คลองลำผักชีที่เชื่อมต่อออกไปยังคลองลาดพร้าวมีระดับสูงและปริมาณมากจึงทำให้น้ำเต็มในท่อระบายน้ำไม่สามารถระบายออกไปได้อย่างเต็มที่ กทม. จึงได้เร่งผลักดันน้ำโดยใช้เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ช่วยเร่งระบายน้ำจากคลองสายหลักในพื้นที่ออกทาง ด้านล่าง ขณะเดียวกันได้เร่งเดินเครื่องสูบน้ำในบ่อสูบน้ำ สถานีสูบน้ำต่าง ๆเพื่อลดระดับน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้บริการดูแลช่วยเหลือประชาชนกรณีประสบปัญหารถเสียในขณะขับรถผ่านจุดน้ำท่วมที่มีระดับสูง และสำนักงานเขตสายไหมได้เตรียมรถบริการประชาชนที่ตกค้างเข้าซอยไม่ได้เนื่องจากน้ำท่วมสูง
ทั้งนี้ สนน. ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามและตรวจกลุ่มฝนจากเรดาร์ตรวจอากาศของกรุงเทพฯ ระบบติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำ โดยมีระบบโทรมาตรตรวจสอบสถานีเครือข่ายต่าง ๆประกอบด้วย ระบบการตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและในคลอง 255 แห่ง ระบบตรวจวัดปริมาณฝน 130 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน 100 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอด 8 แห่ง และดำเนินการลดระดับน้ำตามคูคลองและบ่อสูบน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำรวมถึงสำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงจัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วต่อไป