Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567

กทม. เร่งติดตั้งคันยางกั้นช่องเดินรถ BRT ลดระดับความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ-ผบช.น.ออกข้อบังคับช่องเดินรถ BRT

นายไวทยา นวเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตขอบยางแบ่งช่องจราจรรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) กับถนนปกติ เริ่มหลุดลอกชำรุดบางส่วนเนื่องจากมีทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าไปวิ่งในช่องทางรถ BRT แล้วขับเหยียบยางออกมาในช่องทางปกติว่า สจส. อยู่ระหว่างติดตั้งคันยางกั้นช่องเดินรถ BRT ปัจจุบันยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามสัญญา (สิ้นสุดสัญญาวันที่ 10 พ.ย. 67) หากมีการชำรุดเสียหายจะเร่งดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนสิ้นสุดสัญญา สำหรับรูปแบบของคันยางกั้นช่องเดินรถโดยสาร BRT เดิมใช้เป็นแท่งคอนกรีต เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นส่งผลให้ระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุมีระดับสูง ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุมีโอกาสได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือเสียชีวิต จึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุเป็นยาง เนื่องจากมีความยืดหยุ่นและสามารถลดระดับความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในฐานะเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 139 (1) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดช่องทางเดินรถสำหรับรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) และรถมวลชน พ.ศ. 2553 ที่สรุปสาระสำคัญในข้อ 3 ได้ว่า กําหนดให้ช่องทางเดินรถบนถนนดังต่อไปนี้เป็นช่องทางสำหรับเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) และรถมวลชน ดังนี้ (1) ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งแต่แยกถนนสาทรใต้ตัดกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์มุ่งหน้าถนนพระรามที่ 3 ไปตลอดทั้งสาย และถนนพระรามที่ 3 ตั้งแต่สะพานข้ามแยกถนนวงแหวนอุตสาหกรรมถึงเชิงสะพานพระราม 3 กําหนดให้ช่องทางเดินรถด้านขวาสุดของถนนดังกล่าวเป็นช่องทางเฉพาะรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) สำหรับเดินรถเท่านั้น (2) บนสะพานข้ามแยกถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สะพานข้ามแยกถนนสาธุประดิษฐ์ สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษก สะพานข้ามแยกเจริญราษฎร์ สะพานพระราม ๓ และถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่สะพานพระราม 3 ถึงแยกราชพฤกษ์ กําหนดให้ในช่องทางเดินรถด้านขวาสุดเป็นช่องทางเฉพาะรถมวลชน ซึ่งหมายถึง รถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการ รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีผู้โดยสารนั่งรวมผู้ขับขี่ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปเดินรถในช่องทางดังกล่าวเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกินหนึ่งพันบาท ดังนั้น หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำความผิด ขอให้ช่วยกันกล่าวโทษกับเจ้าพนักงานตำรวจ หรือส่งข้อมูลวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ และรายละเอียดต่าง ๆ ส่งให้ สจส. เพื่อกล่าวโทษต่อไป

 

 

กทม. เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝนจากสภาพอากาศแปรปรวน

นายเจษฎา จันทรประภา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์อากาศแปรปรวน ที่อาจส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้เตรียมแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ปี 2567 ประกอบด้วย การควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำรวมทั้งแก้มลิง 36 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย เตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง

ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงแก้ไขสิ่งกีดขวาง ทางน้ำในคลองบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของ สนน. และเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขตให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่หน่วยบริการเร่งด่วน (Bangkok Emergency Service Team : BEST) เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนพื้นที่

ขณะเดียวกันได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยตั้งขึ้นที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 เป็นต้นมา รวมถึงให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาทันที อีกทั้งได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตรวจสอบประสิทธิภาพของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งประสานและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ กทม. ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม. ต่อไป หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม.

นอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบระบายน้ำคูน้ำแนวถนนวิภาวดีรังสิต รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อีกทั้งได้ประสานความร่วมมือกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำและประชุมติดตามสถานการณ์กับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200