– กทม.เฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษช่วงเทศกาลตรุษจีน แนะดูแลความสะอาด กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ความเสี่ยงพบผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนที่มีการแจกจ่ายอาหารและการจัดเลี้ยงรวมกลุ่มว่า จากสถิติผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี พ.ศ.2565 พบผู้ป่วยจำนวน 4,982 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อายุ 25 – 29 ปี จำนวน 678 ราย รองลงมา อายุ 30 – 34 ปี จำนวน 541 ราย และอายุ 35 – 39 ปี จำนวน 463 ราย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษของสถานพยาบาลในสังกัด กทม.อย่างทันท่วงทีทั้งในศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. ขณะเดียวกันได้ร่วมกับ 50 สำนักงานเขตดำเนินมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริม ป้องกัน และเฝ้าระวัง เพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชน และสร้างความมั่นใจการบริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย โดยประชาสัมพันธ์เผยแพร่สื่อให้ความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหารแก่ประชาชนผู้บริโภคและผู้ประกอบการผ่านช่องทางออนไลน์ของหน่วยงาน จัดทำแผนการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหารตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ในสถานประกอบการ ได้แก่ ตลาด ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท รวมถึงมีหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit for Food Safety) ประจำกลุ่มเขต สนับสนุนชุดทดสอบเบื้องต้น (Test Kit) อุปกรณ์สำหรับตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารให้สำนักงานเขต พร้อมทั้งจัดจ้างห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจยืนยันผลและตรวจวิเคราะห์หาเชื้อก่อโรคในอาหารพร้อมบริโภคทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงจัดกิจกรรม Big Cleaning Day เพื่อพัฒนาตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานและพัฒนายกระดับด้านอาหารปลอดภัย ตรวจสอบสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร โดยผู้ที่จะทำการค้าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ผู้ค้า และผู้สัมผัสอาหารทุกรายต้องผ่านการอบรมด้านการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรของ กทม.และสุ่มตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหาร และให้การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยกับร้านที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.โดยผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน BKK Food Safety เพื่อดาวน์โหลดและพิมพ์ใบรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ลงพื้นที่เขตนำร่องตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหารช่วงเทศกาลตรุษจีนบริเวณย่านเยาวราช ในวันที่ 16 ม.ค.และวันที่ 23 ม.ค.66 หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำผิด หรือสงสัยว่ามีการกระทำผิด สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่แอปพลิเคชัน BKK Food Safety หรือผ่านระบบ Traffy Fondue หรือสายด่วน 1555
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจประเมินสถานพยาบาลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม Bangkok Green & Clean Hospital Plus (BKKGC+) โดยผ่านเกณฑ์การประเมินด้านสถานที่ประกอบอาหารผู้ป่วยใน รพ.ได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 พร้อมควบคุมการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุก รพ.ในสังกัด เฝ้าระวัง รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรคและจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย นอกจากนั้น ยังให้คำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแลสุขภาพและสังเกตอาการของโรคอาหารเป็นพิษ โดยแนะนำสาเหตุของการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายหลายชนิด ทั้งนี้ โรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่มักเกิดในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกันและมีอาการอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทานอาหารแล้ว เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารริมทาง โรงเรียน สถานศึกษา สถานเลี้ยงเด็ก ค่ายกิจกรรม โดยรายการอาหารที่มีความเสี่ยง ทำให้ผู้บริโภคเจ็บป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเป็นกลุ่มใหญ่ที่พบได้บ่อย ได้แก่ น้ำ น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อ ข้าวมันไก่ ไข่พะโล้ อาหารทะเลดิบ หรือปรุงไม่สุกพอ อาหารประเภทยำ อาหารที่มีกะทิ ข้าวผัด ส้มตำ ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น
สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากเกิดอาการถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือเป็นมูกเลือด 1 ครั้ง/วัน ปวดท้องบิด คลื่นไส้ อาเจียน ไข้สูงอาจมีหนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีผื่นขึ้น หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง หากมีอาการอุจจาระร่วงรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงควรรีบนำส่งตัวไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน และขอเน้นย้ำเรื่องการดูแลความสะอาด ใส่ใจอนามัยส่วนบุคคล กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยลดโรคอาหารเป็นพิษได้
– กทม.แจงเปิดใช้เส้นทางลัดหน้าสวนเบญจกิติ พร้อมเร่งจัดระเบียบผู้ค้าซอยสุขุมวิท 4
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.ขยายเวลาเปิดเส้นทางลัดด้านหน้าสวนเบญจกิติไปถนนดวงพิทักษ์และซอยสุขุมวิท 4 พร้อมทั้งการแก้ปัญหาจราจรและผู้ค้าในบริเวณดังกล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อมได้ปรับปรุงเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างทางเข้าออกสวนเบญจกิติและซอยสุขุมวิท 4 ให้สามารถผ่านเข้า-ออกได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการรื้อถอนรั้วเหล็กออก ต่อมาปรากฏว่า มีผู้บุกรุกเข้ามามั่วสุม ตั้งแผงค้า รวมทั้งจอดรถในบริเวณสวนเบญจกิติ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้พักอาศัยบริเวณซอยสุขุมวิท 4 ทั้งยังเป็นปัญหาต่อการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของสวนเบญจกิตติ สจส.จึงได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่สวนเบญจกิตติ โดยมีความเห็นว่า การกำหนดเวลาเปิดใช้เส้นทางลัดดังกล่าวในช่วงเวลา 05.00 – 21.00 น. มีความเหมาะสมกับการสัญจรของประชาชนแล้ว ส่วนปัญหาการใช้พื้นที่ สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตคลองเตยจะได้ร่วมกันดูแลให้เรียบร้อยต่อไป
นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวว่า บริเวณซอยสุขุมวิท 4 เป็นถนนเอกชนและเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงหลายแห่ง โดยบริเวณทางเท้ามีผู้ค้าประมาณ 10 ราย ซึ่งสำนักงานเขตฯ ร่วมกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ลุมพินี และ กอ.รมน.กทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบและจัดระเบียบผู้ค้าอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ประชาชนที่พักอาศัย หรือมาท่องเที่ยวบริเวณสุขุมวิท ซอย 4 สามารถสัญจรบนทางเท้าได้โดยสะดวก ส่วนกรณีรถยนต์และรถจักรยานยนต์จอดกีดขวาง สำนักงานเขตฯ ได้ประสาน สน.ลุมพินี กวดขันอย่างต่อเนื่องร่วมกับผู้ประกอบการบริเวณดังกล่าว