– กทม.ยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา พร้อมตรวจประเมินมาตรฐานอาหาร – น้ำดื่มโรงเรียนในสังกัด
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการติดตามตรวจสอบการจัดเตรียมอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดสำหรับเด็กนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.มีมาตรการกำกับดูแล ควบคุม และติดตามตรวจสอบการจัดเตรียมอาหารเช้า อาหารกลางวัน และน้ำดื่มสำหรับเด็กนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.โดยจัดทำแนวทางการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.ในสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลแต่ละสำนักงานเขต จะตรวจประเมินสถานศึกษา ภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง รายละเอียดการตรวจประเมิน ดังนี้ (1) ตรวจความสะอาดของโรงอาหาร ห้องครัว ห้องสุขา ระบบบำบัดน้ำเสีย และที่พักขยะ (2) ตรวจระบบกักเก็บน้ำ (3) ตรวจความสะอาดตู้กดน้ำดื่มและบริเวณโดยรอบ (4) ตรวจการจัดเก็บนมโรงเรียน (5) สุ่มตรวจวัตถุดิบอาหารด้านเคมี (6) สุ่มตรวจมือผู้สัมผัสอาหาร ภาชนะอุปกรณ์ และอาหารปรุงสำเร็จ ด้านจุลชีววิทยา (7) สุ่มตรวจคุณภาพน้ำบริโภคในครัว น้ำในบ่อพักน้ำ และน้ำตู้กดน้ำดื่ม และ (8) ส่งเสริมให้ผู้สัมผัสอาหารเข้าอบรมสุขาภิบาลอาหารและตรวจสุขภาพ ทั้งนี้ หากพบข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ สำนักงานเขต จะแจ้งผลการตรวจประเมินให้สถานศึกษาทราบในวันตรวจประเมินและจัดทำหนังสือแจ้งผลให้ผู้บริหารทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขและตรวจติดตามผลการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่อไป รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานผ่านระบบสารสนเทศงานสุขาภิบาลอาหาร เพื่อใช้เป็นข้อมูลการควบคุม กำกับ และพัฒนางานอาหารปลอดภัยในสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
– กทม.จัดทำทางลาดชั่วคราว ถ.รัชดาภิเษก 17 ปรับปรุงตามรูปแบบมาตรฐานทางเท้าตามหลัก Universal Design
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและข้อความตั้งข้อสังเกตทางเท้าในกรุงเทพฯ เช่น บริเวณรัชดาภิเษก 17 ยกระดับสูงกว่าผิวถนนมาก ควรพิจารณาปรับระดับความสูงให้มีความเหมาะสมว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้ตรวจสอบทางเท้าบริเวณถนนรัชดาภิเษก 17 พบว่า งานก่อสร้างปรับปรุงทางเท้าบริเวณดังกล่าวอยู่ในโครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา – ราชพฤกษ์ ซึ่งรูปแบบตามสัญญาได้กำหนดค่าระดับก่อสร้างหลังคาอุโมงค์ ถนนพื้นราบ คันหินทางเท้าให้สอดคล้องตามกัน แต่สภาพผิวจราจรและทางเท้าเดิมมีการทรุดตัวจากการก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดินของหน่วยงานสาธารณูปโภค ทำให้พื้นผิวทางเท้าใหม่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมีระดับสูงกว่าพื้นผิวจราจรเดิมมากกว่าปกติ ซึ่งกองควบคุมการก่อสร้าง สนย.จะจัดทำทางลาดชั่วคราว เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวระหว่างการก่อสร้างทางเท้า เมื่อก่อสร้างผิวจราจรใหม่แล้วเสร็จ จะทำให้ทางเท้าบริเวณดังกล่าวมีระดับความสูงเป็นไปตามมาตรฐานและสามารถจัดทำทางลาดคนพิการถาวรตามรูปแบบที่กำหนดต่อไป
สำหรับข้อสังเกตทางเท้าในกรุงเทพฯ มีความสูงกว่าผิวถนนมากนั้น เดิมงานก่อสร้างปรับปรุงทางเท้า กทม.ใช้แบบมาตรฐานงานทางของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2542 โดยทางเท้าสูง 18.50 เซนติเมตร (ซม.) จากผิวจราจร แต่ปัจจุบัน กทม.มีมาตรฐานงานทางของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565 โดยเพิ่มแบบมาตรฐานทางเท้าสูง 10 ซม.จากผิวจราจร และเพิ่มความแข็งแรงในพื้นฐานทางเท้า ปรับปรุงทางลาด และทางเข้า – ออกอาคาร ตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ทั้งนี้ กทม.จะมุ่งมั่นพัฒนาการออกแบบ เพื่อให้มีทางเท้าที่เหมาะสมสำหรับทุกคนในสังคมต่อไป