กทม.กวดขันกำชับผู้ค้าหน้า รร.ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหาร-แนะหลัก“สุก ร้อน สะอาด”ลดความเสี่ยงอาหารเป็นพิษ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงกล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสุขาภิบาลการประกอบอาหารของโรงเรียนวัดนาคนิมิตร สุขสวัสดิ์ ซอย 8 เขตจอมทอง ภายหลังนักเรียนมีอาการอาหารเป็นพิษรุนแรงเมื่อวันที่ 13 ม.ค.66 ว่า กองควบคุมโรคติดต่อ สนอ.ได้จัดเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 22 ตัวอย่าง ประกอบด้วย น้ำดื่มในโรงเรียน 2 ตัวอย่าง น้ำใช้ในโรงเรียน 1 ตัวอย่าง อาหาร (ผัดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) 3 ตัวอย่าง เศษอาหารจากการอาเจียน 4 ตัวอย่าง และ Rectal swab 12 ตัวอย่าง พร้อมทั้งให้คำแนะนำการทำความสะอาดบริเวณห้องน้ำและพื้นที่ที่นักเรียนอาเจียน โดยสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์และน้ำยาทำลายเชื้อ ขณะเดียวกันร่วมกับสำนักงานเขตตรวจทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรียเบื้องต้น (SI 2) ในผู้ประกอบอาหารและภาชนะของโรงเรียน รวมทั้งสำรวจสภาพแวดล้อมบริเวณโรงอาหารและให้ความรู้แก่ผู้จำหน่ายอาหารบริเวณหน้าโรงเรียน ตลอดจนติดตามและกำกับดูแลผู้ค้าอาหารภายนอกบริเวณโรงเรียนให้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.66 เป็นต้นไป
ส่วนมาตรการควบคุมและป้องกันสำหรับโรงเรียนจะประสานครู เพื่อขอข้อมูลนักเรียนที่ป่วย ให้คำแนะนำครูในการกำกับติดตามแม่ครัว คนเตรียมอาหาร รวมถึงผู้ประกอบอาหารทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เมื่อพบมีอาการอาเจียนเป็นกลุ่มก้อนในเวลาใกล้เคียงกันในโรงเรียน ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เฝ้าสังเกตอาการดูแลเบื้องต้น แล้วแจ้งเหตุการณ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่และผู้ปกครองทราบ หากอาการไม่ดีขึ้นให้นำส่งสถานพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขพื้นที่ รวมทั้งทำความสะอาดห้องน้ำ-ห้องครัว โดยน้ำยาฆ่าเชื้อ และแนะนำนักเรียนล้างมือให้สะอาดก่อน หลังรับประทานอาหารและภายหลังจากการขับถ่าย
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้แนะนำวิธีดูแลสุขภาพและสังเกตอาการของโรคอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะการเลือกบริโภคอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และบริโภคน้ำดื่มที่สะอาด รวมทั้งล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนปรุงและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสสิ่งสกปรก เพื่อลดความเสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษ
เขตสัมพันธวงศ์จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ค้าย่านเยาวราช เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบมาตรการด้านสุขอนามัย
นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กทม. กล่าวถึงการจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าและความคืบหน้าการยกระดับร้านอาหารริมทาง (สตรีทฟู้ด) ย่านถนนเยาวราช ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขต สัมพันธวงศ์ ได้จัดระเบียบบริเวณถนนเยาวราชทั้งสองฝั่ง เป็นพื้นที่ทำการค้าตามประกาศ กทม.เรื่อง กำหนดให้ที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทำการค้าและเป็นย่านสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารที่ขึ้นชื่อ รวมถึงอาหารริมทางที่หลากหลาย สำนักงานเขตฯ โดยฝ่ายเทศกิจ ได้สำรวจผู้ค้าเมื่อเดือน มิ.ย.65 เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ค้าให้เป็นปัจจุบันและมีความถูกต้องครบถ้วน แล้วรายงานให้สำนักเทศกิจ กทม.ทราบ เพื่อจัดทำบัญชีผู้ค้าให้ตรงกับของสำนักงานเขตฯ โดยพื้นที่ที่ผู้ค้าทำการค้าจะอยู่บริเวณถนนเยาวราชทั้งสองฝั่ง ทั้งเวลา 10.00 – 18.00 น. และเวลา 17.00 – 24.00 น. ซึ่งจะเป็นผู้ค้าที่มีชื่อในบัญชีเท่านั้น ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจตรากวดขันผู้ค้าบริเวณถนนเยาวราชทั้งสองฝั่งให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การทำการค้าในที่สาธารณะที่ กทม.กำหนดอย่างต่อเนื่องทุกวัน หากพบการฝ่าฝืนฯ จะว่ากล่าวตักเตือนให้แก้ไข หรือจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเก็บตัวอย่างอาหารสด อาหารแห้ง และอาหารแปรรูปที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอาหารให้มีความปลอดภัยและเก็บตัวอย่างอาหาร เพื่อตรวจสอบคุณภาพอาหารด้วยชุดทดสอบอาหารเบื้องต้น (Food test kit) ทดสอบน้ำยาตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียขั้นต้นและลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหาร ตามโครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณถนนเยาวราชเป็นพื้นที่นำร่องการจัดกิจกรรมพัฒนายกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะดำเนินการในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย.66 จัดกิจกรรมตรวจประเมิน ติดตาม แผงลอย จำหน่ายอาหารริมบาทวิถีในพื้นที่ทำการค้าตามประกาศ กทม. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ โดยจะตรวจประเมินฯ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างเดือน มี.ค. – เม.ย. และครั้งที่ 2 ระหว่างเดือน มิ.ย. – ก.ค.66
ส่วนการปรับปรุงและยกระดับร้านอาหารริมทาง (สตรีทฟู้ด) ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ทำการค้าที่มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชนย่านพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณย่านเยาวราช ผู้ทำการค้าต้องผ่านเกณฑ์การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยและสถานประกอบการอาหารที่จะได้รับป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.รวมถึงจะต้องเป็นสถานประกอบการอาหารที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐาน 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ด้านสุขลักษณะทางกายภาพ อาคารสถานที่ (Place) ด้านคุณภาพอาหาร (Food) ด้านบุคลากร ผู้สัมผัสอาหาร (Food Handler) และด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Service)
เขตบางคอแหลมจับมือชุมชนวัดอินทร์บรรจงเก็บขยะตกค้างในคลอง – รณรงค์ทิ้งขยะให้เป็นที่
นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตประชาชนในชุมชนวัดอินทร์บรรจงบางส่วนที่บ้านอยู่ติดริมน้ำต้องเผชิญปัญหาน้ำเน่าเหม็น เนื่องจากมีขยะเต็มคลองว่า สำนักงานเขตฯ ร่วมกับประธานชุมชนวัดอินทร์บรรจง ตรวจสอบพื้นที่ พบว่า บ้านเรือนประชาชนบริเวณดังกล่าวอยู่ติดแนวเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่เป็นบ้านใต้ถุนสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขัง และมีขยะตกค้างบริเวณใต้ถุนและรอบบ้าน แต่คลองในบริเวณชุมชนวัดอินทร์บรรจง มีสภาพปกติ ไม่มีขยะตกค้าง อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้แก้ไขปัญหาขยะตกค้างบริเวณใต้ถุนบ้านและรอบบ้าน โดยร่วมกับชุมชนวัดอินทร์บรรจงกำหนดแผนทำความสะอาดครั้งใหญ่ร่วมกัน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ของประชาชนในการทิ้งขยะให้เป็นที่ ทิ้งในจุดที่กำหนดให้เป็นจุดทิ้งขยะ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ หรือขาย เพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน