กทม.แก้ปัญหาที่จอดรถในสวนลุมพินี พร้อมปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกประชาชนที่มาใช้บริการ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตคนนอกนำรถมาจอดสวนลุมพินี ทำให้ผู้มาออกกำลังกายไม่มีที่จอดรถว่า สำนักสิ่งแวดล้อม โดยสวนลุมพินี ได้จัดที่จอดรถ เพื่อให้บริการประชาชนที่มาใช้บริการสวนสาธารณะ โดยแจ้งขอความร่วมมือ พร้อมติดป้ายประกาศขอสงวนสิทธิ์การจอดรถสำหรับผู้ใช้บริการสวนลุมพินีเท่านั้น ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและแนะนำประชาชนที่ไม่ได้ใช้บริการสวนลุมพินีให้นำรถไปจอดบริเวณอื่น รวมถึงทำหนังสือแจ้งหน่วยงานเจ้าของโครงการก่อสร้างบริเวณพื้นที่โดยรอบสวนลุมพินี เพื่อขอความร่วมมือจัดหาที่จอดรถให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง
นอกจากนี้ เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาใช้บริการ ได้พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้ (1) ติดป้ายประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม รวมถึงจัดทำแผ่นพับแจก เพื่อประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือประชาชนทั่วไปได้ทราบว่า “ลานจอดรถสวนลุมพินี ให้บริการสำหรับผู้มาพักผ่อน ออกกำลังกาย และผู้มาติดต่อราชการภายในสวนลุมพินีเท่านั้น” (2) ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายให้ผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไปทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง (3) เปิดประตูสวนด้านถนนสารสิน (ประตู 8) เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการจราจรบริเวณที่จอดรถ (4) บริหารจัดการลานจอด โดยจัดพื้นที่จอดรถให้แก่ผู้มาออกกำลังกายเพิ่มขึ้น และ (5) คัดกรองข้อมูลของรถก่อสร้าง เพื่อแจ้งผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ส่วนการปรับปรุงสวนลุมพินี กทม.จะดำเนินการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบสาธารณูปโภคที่ชำรุดจากการใช้งาน เพื่อพัฒนาการให้บริการและอำนวยความสะดวกประชาชนที่มาใช้บริการ ได้แก่ ก่อสร้างทางเชื่อมสะพานเขียวบริเวณอาคารสมาคมแบดมินตัน ก่อสร้างสวนสุนัข (Dog Park) ปรับปรุงอาคารสุขาสาธารณะ 9 หลัง และก่อสร้างใหม่อีก 2 หลัง พร้อมปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย ปรับปรุงศาลาภิรมย์ภักดีและศาลาแปดเหลี่ยม ปรับปรุงสะพาน ทางเท้า และรั้ว ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบบำบัดน้ำเสีย ปรับปรุงเขื่อนรอบสระน้ำและศูนย์อาหาร รวมถึงปรับปรุงลานจอดรถ ซึ่งต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กทม.เตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์จะมีฝุ่น PM2.5 สะสมเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 16 ม.ค.66 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะสถานประกอบกิจการเชิงรุก รวมทั้งตรวจสอบระบบบำบัดมลพิษอากาศให้กำจัดมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เดือน ก.ย.65 เป็นต้นมา โดยเน้นกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูง เช่น กิจการผสมซีเมนต์ (แพลนท์ปูน) กิจการหลอมโลหะ สำหรับในรายที่พบข้อบกพร่องได้แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข ตรวจติดตาม และกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูงอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันได้ติดตามและเฝ้าระวังข้อมูลสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 จากสำนักสิ่งแวดล้อม ประกอบกับข้อมูลสถิติการเจ็บป่วยที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 จากสำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุข สนอ.และสำนักการแพทย์ในแต่ละพื้นที่เขต ตลอดจนรวบรวมและประสานสำนักงานเขตที่มีแนวโน้มค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น และเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 3 วัน เพื่อให้สำนักงานเขตพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายและข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ สนอ.ได้สนับสนุนหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้สำนักงานเขต เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) และประชาชนกลุ่มเปราะบาง และให้สำนักงานเขตจัดทำบัญชีรับจ่ายหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 รายงานผลการดำเนินงานให้ สนอ.ทราบเดือนละ 2 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.66 เป็นต้นไป พร้อมทั้งสนับสนุนเวชภัณฑ์อื่น ๆ ให้สำนักงานเขต ได้แก่ แอลกอฮอล์เจล แอลกอฮอล์สเปรย์ โลชั่นกันยุงตะไคร้หอม โลชั่นกันยุงตะไคร้หอมชนิดหัวสเปรย์
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนะนำการบริหารจัดการ เพื่อลดมลพิษจากการจุดธูป เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากควันธูป ได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และบุคคลที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจ รวมทั้งแจ้งสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้และรณรงค์เน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 เนื่องจากช่วงเดือน ธ.ค. – ก.พ.เป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน ประชาชนชาวไทยจำนวนมากจะประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยในพิธีกรรมต่าง ๆ จะเต็มไปด้วยธูปเทียน รวมถึงการเผากระดาษในช่วงเทศกาลตรุษจีน จะทำให้เกิดควันและมลพิษในอากาศ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูงจนมีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน พร้อมจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน รวมถึงรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จะมีมาตรการ ดังนี้ (1) ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึก ที่ได้ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล (รพ.) (2) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (3) รพ.ในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ได้แก่ รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 (วันจันทร์ -วันศุกร์ ยกเว้นวันพุธและวันหยุดราชการ เวลา 09.00 – 12.00 น.) รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 (วันอังคารและวันศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.) รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.02 444 0163 ต่อ 8946 (วันอังคาร เวลา 08.00 – 16.00 น.) รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น.) และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละออง
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของ รพ.ในสังกัด กทม.พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรพบแพทย์ทันที
กทม.เฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก ใช้กลไก อสส.ช่วยกำจัดแหล่งเพาะยุงลายในชุมชน
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค.65 พบผู้ป่วยสะสม 8,162 ราย (อัตราป่วยเท่ากับ 147.65 ต่อแสนประชากร) มีผู้เสียชีวิต 5 ราย (อัตราป่วยตายเท่ากับ ร้อยละ 0.06) โดยเขตที่มีอัตราป่วยสะสมโรคไข้เลือดออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เขตพญาไท (318.67) เขตราชเทวี (301.17) และเขตบางกะปิ (260.22) ตามลำดับ
ทั้งนี้ สนอ.มีมาตรการเฝ้าระวังก่อนการระบาดของโรคไข้เลือดออก ได้แก่ การเฝ้าระวัง วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ ลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายชุมชนให้น้อยที่สุด สร้างความตระหนักชุมชนร่วมป้องกันโรค เตรียมความพร้อมทรัพยากรและบุคลากรในการควบคุมโรคและรักษา สอบสวนและควบคุมโรคในผู้ป่วยรายแรกให้ทันเวลา และมีคุณภาพและจัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกยุงลาย โดยเฉพาะพื้นที่พักอาศัย/ชุมชนย่านใจกลางเมือง เช่น เขตพญาไท เขตราชเทวี ที่พบอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกสูง รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือที่ใช้กำจัดลูกน้ำยุงลายได้ทรายจีพีโอ-1 (ทรายอะเบต) โดยประสานสำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ร่วมวางแผนดำเนินการผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และคนในชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคไข้เลือดออกและโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมทั้งแนะนำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยวิธีทางกายภาพ เช่น ใช้ขันตัก กระชอน หรือตะกร้าผลไม้บุด้วยตาข่าย ใช้ตาข่าย หรือฝาปิดภาชนะเก็บน้ำ ขัดล้างและเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน วิธีทางชีวภาพ เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลาสอด ลูกน้ำยุงยักษ์ และวิธีทางเคมี เช่น สารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย จุลินทรีย์ สารยับยั้งการเจริญเติบโต รวมถึงการปฏิบัติตามหลัก 5 ป. ได้แก่ ปิด – ปิดฝาภาชนะให้สนิท ปล่อย – ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เปลี่ยน – เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ ปรับ – ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปฏิบัติ – ปฏิบัติเป็นประจำ
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ สารเคมี เพื่อสนับสนุนรองรับกรณีมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกให้เพียงพอ รวบรวมรายงานการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย เพื่อเฝ้าระวังโรคตามมาตรการ รายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกทางระบบสารสนเทศทางระบาดวิทยา (BMA-EPINET) ติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออก เผยแพร่ข้อมูล ความรู้ และแนวทางปฏิบัติให้บุคลากรทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตลอดจนรณรงค์ส่งเสริมความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านพักอาศัยและภายในชุมชน ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในจุดเล็ก ๆ ที่มีน้ำขังและอาจมองไม่เห็น เช่น ภาชนะที่ถูกนำไปทิ้ง ภาชนะน้ำดื่มน้ำใช้ที่ไม่มีฝาปิดมิดชิด แจกันดอกไม้ จานรองกระถางต้นไม้ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไข้เลือดออก โดยจัดกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สร้างความตระหนักในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายในสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดงาน กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการสื่อสารความเสี่ยงในชุมชน บ้านจัดสรร คอนโด โดยผู้นำชุมชน นิติบุคคลคอนโด/หมู่บ้านจัดสรร ผู้นำทางศาสนา โดยประชาสัมพันธ์การกำจัดลูกน้ำยุงลายและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อสร้างความเข้าใจในการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง
กทม.เพิ่มความถี่ตรวจสอบร้านอาหารหน้าโรงเรียน กำชับให้ความสำคัญเรื่องความสะอาด
นางชุลีพร วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามอาการกรณีเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดนาคนิมิตร สุขสวัสดิ์ ซอย 8 เขตจอมทอง มีอาการอาหารเป็นพิษรุนแรงว่า สรุปจำนวนนักเรียนที่มีอาการอาหารเป็นพิษและได้นำส่งโรงพยาบาล (รพ.) ใกล้เคียง ประกอบด้วย รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.ทหารเรือ รพ.IMH ธนบุรี รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ.ศิริราช รพ.ตากสิน รพ.เลิศสิน รพ.PMG พระราม 2 รพ.บางมด รพ.บางปะกอก 9 และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รวมจำนวนเด็กที่ป่วย 58 ราย กลับบ้านแล้ว 37 ราย และยังพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 21 ราย (ข้อมูล ณ เวลา 21.00 น.วันที่ 13 ม.ค.65) ส่วนการเฝ้าระวังการบริโภคอาหารในโรงเรียน กรุงเทพมหานคร โดย สนศ.และสำนักงานเขตได้ควบคุมความสะอาดและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมวันเด็กได้กำชับให้ทุกโรงเรียนในสังกัด กทม.บริหารจัดการเรื่องโภชนาการ ทั้งความสะอาด สุขลักษณะ และมีการกำกับควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด
นายณัฐพงษ์ มีโภคกิจ ผู้อำนวยการเขตจอมทอง กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้สุ่มตรวจร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ขายให้แก่นักเรียนบริเวณใกล้เคียงโรงเรียนอยู่เป็นระยะ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงวันเด็กแห่งชาติ ผู้ขายอาหารบริเวณใกล้เคียงโรงเรียนประมาณ 4 ราย ได้ทำอาหารมาแจกจ่ายให้เด็กตั้งแต่เวลาประมาณ 06.30 น. จนกว่าอาหารที่แจกจะหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เพิ่มความถี่ตรวจสอบร้านอาหารที่ขายบริเวณใกล้เคียงโรงเรียนทุกร้าน โดยเฉพาะอาหารที่มีความเสี่ยงต่อระบบทางเดินอาหารและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ โดยสัปดาห์แรกบริเวณโรงเรียนนาคนิมิตรให้ตรวจทุกวัน และสัปดาห์ถัดไปให้ตรวจสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทุกโรงเรียนในพื้นที่เขต พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองช่วยสอดส่องดูแลการรับประทานอาหารของเด็กภายนอกบริเวณโรงเรียนและกำชับผู้จำหน่ายอาหารให้ความสำคัญกับความสะอาดในการผลิตอาหาร เพื่อจำหน่าย หรือแจกจ่าย ส่วนการประกอบอาหารในโรงเรียนจะเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบและระมัดระวังทุกขั้นตอนการผลิต โดยตรวจสอบคุณภาพอาหารอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งความสะอาดของภาชนะ บริเวณที่ผลิต และรับประทานอาหาร เพื่อให้เด็กนักเรียนได้บริโภคอาหารที่ถูกหลักอนามัยและถูกลักษณะ