กทม.เตรียมพร้อมมาตรการเร่งด่วนรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น 15 – 16 ม.ค.นี้
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการเร่งด่วนรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของ กทม.ตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์จะมีฝุ่น PM2.5 สะสมเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 16 ม.ค.66 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้บูรณาการความร่วมมือกับ คพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และเตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุก ตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤติ ได้แก่ การควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง โรงงานและสถานประกอบการ การเผาในที่โล่ง รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมพร้อมดำเนินมาตรการเร่งด่วน เพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 16 ม.ค.66 ประกอบด้วย การรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 7 วัน โดยบูรณาการข้อมูลกับ คพ.พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบในช่วงวิกฤติ ได้แก่ เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และแอปพลิเคชัน : AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและจอแสดงผลอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ขณะเดียวกัน กทม.และ คพ.ได้ติดตามตรวจวัดฝุ่น PM2.5 โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และยกระดับการรายงานแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ เวลา 07.00 น. 11.00 น. และเวลา 15.00 น. แบบเรียลไทม์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อวางแผน การทำงาน ทำกิจกรรม หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานและมีแนวโน้มเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ลดระยะเวลา หรืองดทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพ โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค.66 สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม.และ คพ.ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ได้ระหว่าง 34 – 56 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ระดับสีส้ม) และมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับวันที่ 9 ม.ค.66 โดยมีพื้นที่ที่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 19 พื้นที่ ประกอบด้วย เขตคลองสามวา เขตปทุมวัน เขตธนบุรี เขตวังทองหลาง เขตหนองแขม เขตลาดกระบัง เขตคลองสาน เขตบางซื่อ เขตบางพลัด เขตประเวศ เขตยานนาวา เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกใหญ่ เขตบึงกุ่ม เขตหลักสี่ เขตสาทร เขตภาษีเจริญ เขตหนองจอก และเขตบางขุนเทียน
นอกจากนั้น กทม.มีแผนดำเนินการตรวจสอบแหล่งกำเนิด PM2.5 เชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีผลการตรวจสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 – 10 ม.ค.66 ดังนี้ โรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ 1,044 แห่ง ตรวจสอบ 3,510 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 7 ครั้ง แพลนท์ปูน 133 แห่ง ตรวจสอบ 457 ครั้ง ไม่ผ่านและได้สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 15 ครั้ง สถานที่ก่อสร้าง 673 แห่ง ตรวจสอบ 1,051 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 27 ครั้ง การถมดิน/ท่าทราย 9 แห่ง ตรวจสอบ 56 ครั้ง ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง 1,256 คัน พบเกินมาตรฐานและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 10 คัน ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ 47,734 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้ 1,082 คัน ตรวจรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง 7,512 คัน ห้ามใช้ 35 คัน และตรวจรถบรรทุก 24,965 คัน ห้ามใช้ 101 คัน
สำหรับกรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตสถานีตรวจวัดสภาพอากาศแถวคลองจั่นไม่แสดงข้อมูลมาเป็นเวลานาน สสล.ได้ตรวจสอบพบว่า สถานีตรวจวัดดังกล่าวอยู่ในความดูแลของ คพ.ซึ่งสามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถติดตามการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศได้จากสถานีตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ของ กทม.บริเวณสำนักงานเขตบางกะปิได้อีกช่องทางหนึ่ง
กทม.เพิ่มความเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าย่านถนนเยาวราช
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวถึงการจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าบริเวณถนนเยาวราชว่า การทำการค้าบริเวณถนนเยาวราช กรุงเทพมหานครได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ทำการค้าที่มี อัตลักษณ์ วิถีชุมชน และพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ในฐานะที่เป็นพื้นที่สำคัญและเป็นที่รู้จักทั่วโลกว่า เป็นย่านไชน่าทาวน์ของเมืองไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ เป็นแหล่งการค้าที่สำคัญโดยเฉพาะร้านอาหารที่ขึ้นชื่อและมีชื่อเสียงในระดับโลก รวมถึงอาหารริมทางที่หลากหลาย และเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวและประชาชนมาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้ออาหารจำนวนมาก กรุงเทพมหานคร โดย สนท.จึงร่วมกับสถานีตำรวจนครบาลท้องที่จัดระเบียบผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้ตั้งแผงค้าบนทางเท้าและได้ปิดช่องการจราจร จำนวน 1 ช่อง โดยมีกรวยจราจรและแผงเหล็กตั้งวางเป็นแนวกั้นให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้เดินจับจ่ายซื้อสินค้าบนผิวจราจร โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว
นอกจากนั้น ยังได้กำชับเจ้าหน้าเทศกิจเพิ่มความเข้มงวดกวดขันผู้ค้าย่านเยาวราชให้ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบ และกฎหมายที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น การรักษาความสะอาด ไม่เท ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลมูลฝอยลงบนพื้นและท่อระบายน้ำ ซึ่งถือเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากพบการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างจริงจัง หากประชาชนพบเห็นการฝ่าฝืนดังกล่าวสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือ กทม.พร้อมหลักฐานเป็นภาพถ่าย หรือวิดีโอ เพื่อบังคับการกับผู้ฝ่าฝืนให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป