กทม.ยืนยัน “สวนเบญจกิติ” ยังสมบูรณ์ สภาพเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์สภาพต้นไม้ในสวนเบญจกิติเริ่มตาย หญ้ารก และน้ำในบึงเน่าเสียว่า สวนเบญจกิติ มีพื้นที่ทั้งหมด 450 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สวนน้ำ จำนวน 130 ไร่ และพื้นที่สวนป่า จำนวน 320 ไร่ โดยเป็นพื้นที่สวนป่าระยะที่ 1 จำนวน 61 ไร่ พื้นที่สวนป่าระยะที่ 2 และ 3 จำนวน 259 ไร่ สำหรับพื้นที่สวนป่าระยะที่ 2 และ 3 มีการออกแบบพื้นที่โดยขุดเป็นบ่อน้ำ จำนวน 4 บ่อ ทำให้เกิดเป็นเกาะแก่งขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถกักเก็บและดูดซับน้ำไว้ในช่วงหน้าฝน และในหน้าแล้งน้ำที่กักเก็บไว้จะถูกนำมาใช้งานภายในสวนเบญจกิติ ซึ่งบริษัทผู้ออกแบบมีแนวคิดการออกแบบสวนเบญจกิติให้เป็นสวนป่านิเวศ และต้องการสะท้อนความเป็นธรรมชาติของป่านิเวศในเมืองให้ประชาชนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้แบบพึ่งพาอาศัยกัน หญ้าที่นำมาปลูกบนเกาะเป็นหญ้ารูซี่ โดยภาพหญ้าที่แห้งและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เป็นวัฏจักรของพืช เมื่อเข้าฤดูฝนหญ้าชนิดนี้จะแตกหน่อเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกับเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565
ส่วนน้ำภายในสวนเบญจกิติ เป็นน้ำที่ไหลผ่านมาจากคลองไผ่สิงโตเข้ามาในพื้นที่สวนทางบริเวณ Dog Park ไหลไปตามรางน้ำที่เชื่อมในทุก ๆ บ่อ ผ่านการบำบัดด้วยระบบธรรมชาติโดยพืชน้ำและแสงแดด ทำให้คุณภาพน้ำเป็นไปตามฤดูกาล แต่สามารถใช้รดน้ำต้นไม้ได้ หากน้ำแห้งมาก จะนำน้ำจากภายนอกมาเติม เพื่อเจือจาง ทั้งนี้ สภาพโดยรวมในปัจจุบันของสวนเบญจกิติยังอยู่ในความสมบูรณ์ พืชพรรณและสัตว์ต่าง ๆ ยังคงดำรงชีวิตและปรับตัวไปตามธรรมชาติโดยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรของช่วงเวลาในแต่ละฤดูกาล
กทม.เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก แนะประชาชนสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงซื้อยารับประทานเอง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยตรวจคัดกรองอาการเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามลักษณะอาการ รวมถึงกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ดูแลภาชนะที่ใส่น้ำไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สามารถใส่ทรายอะเบท หรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ให้ผู้ที่มารับบริการใน รพ.และชุมชนรอบ รพ.พร้อมสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนักทางด้านสุขภาพ วินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออก และรับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. สำนักอนามัย หากมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2 – 7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนในการดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านพักอาศัยและภายในชุมชน โดยแนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป.เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ (1) ปิดฝาภาชนะให้สนิท (2) ปล่อยปลากินลูกน้ำ (3) เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ (4) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ (5) ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย รวมถึงสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง รวมทั้งสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูง ให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เนื่องจากยากลุ่มดังกล่าว อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยให้ทุก รพ.ในสังกัด สำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน รพ.และบริเวณโดยรอบ รพ. รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีการป้องกัน และวิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายแก่ประชาชน ผู้รับบริการ และบุคลากรในสังกัด พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ รพ.