(6 ก.ย. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพมหานคร กลุ่มตำแหน่งเทคโนโลยีดิจิทัล ณ ห้องมิ่งขวัญเมือง ชั้น 4 โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ เขตปทุมวัน
การนำเสนอโครงการของนักเทคโนโลยีดิจิทัลในวันนี้ เป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานครด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งสิ้น 6 กลุ่ม ได้แก่ โครงการ “อยู่ไหนนะ” (Where are you?), โครงการ เทศกิจ is coming, โครงการ ศูนย์ปฏิบัติการรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤต BANGKOK CDC : Bangkok Crisis Data Center, โครงการ BKK Warning, โครงการ เก๋าอาสา (เบตา 1), และโครงการ BMA Pet Prompt ระบบการให้บริการอุปการะสุนัขและแมวจรของกรุงเทพมหานคร
โดยรองผู้ว่าฯ ทวิดา พร้อมด้วยผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ชื่นชมผู้เข้ารับการอบรมในการนำฐานข้อมูลของ กทม. บูรณาการร่วมกันผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อคิดโครงการในการแก้ปัญหาให้ประชาชน รวมถึงยังมีการออกแบบแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้สวยงามและง่ายต่อการใช้งาน สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการจริงได้ ทั้งนี้ ได้ให้ข้อเสนอแนะในภาพรวมว่า เนื่องจากเป็นโครงการที่เน้นการคิดแอปพลิเคชันมาใช้งานเป็นหลัก การออกแบบวิธีการใช้ต้องคำนึงถึง journey ของการทำงานในภาพรวม คือลำดับขั้นตอนและกระบวนการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในแอปพลิเคชัน และความสะดวกของผู้ใช้ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันด้านการรายงานภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ต้องคิดให้ละเอียดว่าใครจะเป็นคนทำหน้าที่ส่งข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็ว หากเป็นคนหน้างานต้องไม่ให้เสียเวลาในการช่วยเหลือเหตุด้วย เป็นต้น
สำหรับผู้ปฏิบัติงานเส้นเลือดฝอยในกลุ่มตำแหน่ง “เทคโนโลยีดิจิทัล” ประกอบด้วย ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ชำนาญการ และตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน ชำนาญงาน จากสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ระบบคอมพิวเตอร์ เจ้าพนักงานเครื่องคอมพิวเตอร์ นักประชาสัมพันธ์ เจ้าพนักงานประชาสัมพันธ์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา และนายช่างภาพ รวมทั้งสิ้น 67 คน โดยตำแหน่งเหล่านี้มีลักษณะเป็นตำแหน่งที่ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญตามตำแหน่งงานแล้ว ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีความรู้ในการปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มตำแหน่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของตนด้วย ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรเพื่อยกระดับความรู้ ทักษะ และสมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานเส้นเลือดฝอยกลุ่มตำแหน่งเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติจริง จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติงานในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานในภารกิจ บรรลุวัตถุประสงค์ของการให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง
ในการนี้ ผู้บริหารจากสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเขต มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สำนักงาน ก.ก. สถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร ร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานด้วย