กทม.เตรียมความพร้อมจัดงานยิ่งใหญ่ ฉลอง “สวนลุมพินีจะครบรอบ 100 ปี”

(10 ก.ค.68) เวลา 09.30 น. แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานดำเนินการจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบ 100 ปี สวนลุมพินี ครั้งที่ 2/2568 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร และ นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา สำนักอนามัย สำนักงานเขตปทุมวัน สำนักงานประชาสัมพันธ์ ร่วมประชุม

เนื่องจากสวนลุมพินีจะครบรอบ 100 ปี ในปี 2568 กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินการในส่วนของสถานที่สำหรับการจัดงานเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งรัดงานก่อสร้างและปรับปรุงอาคารสถานที่ภายในสวนลุมพินี ประกอบด้วย การปรับปรุงอาคารลุมพินีสถาน ดำเนินการเสร็จสิ้น 100% การปรับปรุงอาคารสุขา 2 หลัง แล้วเสร็จ 99% การปรับปรุงสวนลุมพินี รื้อถอนอาคารสมาคมแบดมินตัน พร้อมก่อสร้างทางเชื่อมสะพานเขียวกับสวนลุมพินี การก่อสร้าง Hawker Center ประตู 5 การปรับปรุงหอนาฬิกาและไฟส่องสว่างบริเวณประตู 2 การปรับปรุงลานยืดเหยียด (ฝั่งตรงข้ามสำนักงาน) การก่อสร้าง Dog Park ภายในสวนลุมพินี การปรับปรุงสนามเด็กเล่น การก่อสร้างรั้วรอบพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.6 และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนลุมพินี การปรับปรุงศูนย์อาหารศรีไทยเดิม การก่อสร้างสนามพิคเคิลบอล

ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสวนลุมพินีครบรอบ 100 ปี ในปี 2568 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพฯ และทรงตั้งชื่อว่า “สวนลุมพินี” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่การประสูติของพระพุทธเจ้า รวมถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ สร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาชนชาวไทย อาทิ ทรงตั้งกองเสือป่าและลูกเสือ เพื่อปลูกฝังความรักชาติ ความสามัคคี และระเบียบวินัย ทรงทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยการสร้างเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ทรงปฏิรูปกฎหมายและศาลเพื่อความยุติธรรมและทันสมัย ทรงจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภาเพื่อส่งเสริมวิชากฎหมายและควบคุมทนายความ ทรงตั้งสภาป้องกันราชอาณาจักรเพื่อความมั่นคงของประเทศ ทรงตั้งกองทัพอากาศ (กองบินกองทัพบกในขณะนั้น) ทรงส่งเสริมการศึกษาโดยการขยายโอกาสทางการศึกษาและจัดตั้งโรงเรียนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย) และขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ทรงส่งเสริมการแพทย์และสาธารณสุขโดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และวชิรพยาบาล ทรงริเริ่มงานชลประทานโดยการสร้างเขื่อนพระรามหก ทรงเปิดการประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ทรงส่งเสริมการออมโดยการจัดตั้งคลังออมสิน ทรงส่งเสริมการค้าโดยการจัดตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ ด้านวรรณกรรมและศิลปะทรงพระราชนิพนธ์เป็นจำนวนมาก ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านละคร ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทรงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฐานะพันธมิตรกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทรงเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงเป็นที่จดจำในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเป็นนักปราชญ์ และทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ทรงได้รับการยกย่องเป็น “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เป็นต้น เพื่อให้พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่สำคัญ อยู่ในการเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย โดยในส่วนของการแสดงและการจัดนิทรรศการทั้งหมด ต้องมีความทันสมัย และมีความเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 6 โดยในเบื้องต้นได้มีการนำเสนอการจัดแสดงลีลาศและวงดนตรีสุนทราภรณ์เต็มคณะ การแสดงจาก Bangkok Metropolitan Orchestra (BMO) และ วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือ Bangkok Symphony Orchestra (BSO) การจัดแสดงโขน ละคร โดยประสานกับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มีเชี่ยวชาญ มีความรู้และความสามารถในการจัดนิทรรศการและการแสดงระดับโลก เพื่อให้การจัดงานเป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงการนำเสนอการจัดงาน และนิทรรศการทีมีความยั่งยืนควบคู่สวนลุมพินี


แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200