กทม. เดินหน้าแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนแล้ว 233 ไร่
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนไม่คืบหน้าว่า สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการปลูกป่าชายเลน เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนตั้งแต่ปี 2559 โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยปักไม้ไผ่ทำแนวชะลอคลื่นหน้าทะเลเป็นระยะทาง 2,200 เมตร ปักเสาไฟฟ้าปิดกั้นคลื่น ระยะทาง 317 เมตร ใช้เสาไฟฟ้า 2,217 ต้น ทำแปลงปลูกป่าชายเลน จำนวน 12 แปลง และปลูกต้นกล้า จำนวน 107,000 ต้น ซึ่งเพิ่มพื้นที่ได้จำนวน 233 ไร่
สำหรับในปี 2568 สำนักงานเขตฯ กำหนดเป้าหมายบำรุงรักษาต้นกล้าโกงกางให้เจริญเติบโต เพื่อคงพื้นที่ให้ได้จำนวน 233 ไร่ และพัฒนานวัตกรรมกระบอกไม้ไผ่ 3R โดยนำขยะไม้ไผ่มาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ ลดปัญหาขยะไม้ไผ่ที่ตกค้างตามแนวชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม การปลูกป่าชายเลนในแปลงปลูกป่าหน้าทะเลประสบปัญหาความแรงของคลื่นลมทะเล จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก โดยใช้การปลูกในท่อซีเมนต์ ขนาดความสูง 2 เมตร ปากกว้าง 6 นิ้ว เพื่อยกระดับให้ต้นกล้าพ้นน้ำทะเลเป็นการเลียนแบบการปลูกลงบนดินตามธรรมชาติ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดและทดลองใช้ประโยชน์ในการลดแรงคลื่นไปพร้อมกับการเพิ่มตะกอนดิน ทั้งนี้ เริ่มใช้ท่อซีเมนต์เมื่อปี 2564 จนปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 114 แห่ง ปักท่อไปแล้ว จำนวน 28,589 ท่อ ภายหลังดำเนินงานพบว่า มีตะกอนดินสะสมเพิ่มขึ้นในแนวท่อซีเมนต์ สูงประมาณ 1 – 1.20 เมตร
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยประสานงานร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักท่องเที่ยว โดยตั้งแต่ปี 2560 – ก.ค. 2567 มีหน่วยงานมาร่วมกิจกรรมฯ จำนวน 121 หน่วยงาน มีผู้ทำกิจกรรมฯ จำนวน 41,141 คน นักท่องเที่ยวปั่นจักรยาน จำนวน 104,632 คน ปลูกต้นกล้าโกงกาง รวม 108,709 ต้น จัดเก็บขยะทะเล จำนวน 13,850 กิโลกรัม
กทม. ติดป้ายเตือน-ตั้งแบริเออร์ปิดกั้นรถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถใต้สถานี BTS ช่องนนทรี
นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางรัก กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีช่องนนทรีว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน และประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการกลับรถในบริเวณดังกล่าว พร้อมติดป้ายเตือนห้ามกลับรถ รวมทั้งประสานสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เพื่อกวดขันวินัยจราจรและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักการโยธา กทม. เพื่อนำแท่งแบริเออร์มาปิดกั้นพื้นที่บางส่วนป้องกันรถจักรยานยนต์และรถยนต์ลักลอบกลับรถ รวมทั้งประสานกรมการขนส่งทางบก พื้นที่ 5 เขตบางรัก ตรวจสอบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีช่องนนทรี ขาเข้า ซึ่งเป็นวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ได้รับการอนุญาตขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนกรณีมีข้อสังเกตรถรับจ้างหลายรายใช้รถที่มีป้ายทะเบียนสีขาว ซึ่งเป็นรถส่วนบุคคลมารับส่งผู้โดยสาร นั้น จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ขับขี่ป้ายทะเบียนสีขาวได้ดำเนินการขึ้นทะเบียน เพื่อขอจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกหนังสือรับรอง เพื่อขอจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ
กทม. แจงการเปลี่ยนชื่อถนนและซอยบนถนนสุทธิสารวินิจฉัยและซอยอินทามระ
นางละไม อัศวเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกรณีเปลี่ยนชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยเป็นถนนอินทามระทั้งหมด ว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ อ.1291/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.430/2560 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (อุทธรณ์คำพิพากษา) ได้พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า (กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตพญาไท และผู้อำนวยการเขตดินแดง) ดำเนินการในเรื่องการกำหนดและเปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยบริเวณถนนสุทธิสารวินิจฉัยและซอยอินทามระทั้ง 59 ซอย ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ซึ่ง กทม. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยมีหนังสือถึงสำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้ข้อสรุปว่า เมื่อศาลฯ กำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าพิจารณากำหนดและเปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยบนถนนสุทธิสารวินิจฉัยและซอยอินทามระทั้ง 59 ซอย ดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรุงเทพมหานคร) จึงชอบที่จะไปดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลพิจารณา หรือดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ศาลฯ ไม่อาจก้าวล่วงได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย ฯลฯ ได้มีคำสั่งที่ 1/2560 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เขตพญาไทและเขตดินแดง ซึ่งการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามข้อ 15 (1) แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 โดยผลการสำรวจของสำนักงานเขตพญาไทและสำนักงานเขตดินแดงเกี่ยวกับการกำหนดชื่อถนนที่ต่อเนื่องกัน คือ ถนนสุทธิสารวินิจฉัยกับถนนอินทามระ สรุปว่า ประชาชนร้อยละ 78.03 มีความประสงค์ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย และร้อยละ 18.63 ใช้ชื่อถนนอินทามระ ซึ่ง กทม. ได้รายงานผลการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้สำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครองทราบ ตามหนังสือกรุงเทพมหานคร ด่วนที่สุด ที่ กท 0405/177 ลงวันที่ 15 มกราคม 2561 แล้ว