Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2567

กทม. เข้มงวดจัดระเบียบทางเท้า-ผู้ทำการค้า-ขอทานต่างด้าวหน้าเซ็นทรัลเวิลด์-ย่านราชประสงค์
 
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตพบขอทานต่างด้าวเพิ่มขึ้นบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และย่านราชประสงค์ว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประสานความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาขอทานต่างด้าวบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยได้กวดขันและผลักดันให้ออกจากที่สาธารณะ พร้อมทั้งเก็บประวัติข้อมูล หากรายใดเป็นคนไทยจะประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ช่วยเหลือเยียวยาตามความเหมาะสม หากเป็นชาวต่างชาติจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ เพื่อจัดทำประวัติและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันส่งกลับประเทศ
     
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตราและเพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบทางเท้าและการทำการค้าในย่านราชประสงค์ โดยเฉพาะบริเวณทางลงสะพานลอยคนข้ามหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และประชาสัมพันธ์ไม่ให้อาศัยหลับนอนในที่สาธารณะ รวมถึงตั้งวางสิ่งของกีดขวาง ทางสัญจร โดยบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนเฝ้าระวังไม่ให้กลุ่มคนไร้บ้านและขอทานกลับมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากพบเห็นบุคคลเร่ร่อน/ไร้ที่พึ่ง บุคคลขอทานในพื้นที่สาธารณะ สามารถแจ้งปัญหาโดยตรงได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. เพื่อช่วยเหลือต่อไป
 
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า  สพส. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. กรมสุขภาพจิต กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอิสรชน เป็นต้น โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบในพื้นที่ที่มีผู้ทำการขอทานในย่านธุรกิจ หน้าห้างสรรพสินค้า รวมถึงหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตลาด แหล่งชุมชน และบริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT โดยสำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ การทำความเข้าใจกับผู้ทำการขอทาน กรณีพบผู้ทำการขอทานที่เป็นคนต่างด้าวจะนำส่งสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อสอบสวน บันทึกการจับกุม เปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และส่งตัวไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทาง

      ขณะเดียวกันได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันตรวจสอบความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยประสานฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต 50 เขต ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เป็นหน่วยงานร่วมบูรณาการสนับสนุน การอำนวยความสะดวก และประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในพื้นที่ตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ในกรณีสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไป-มา หรือสร้างความไม่สะอาดในพื้นที่ รวมถึงการพักอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการแก้ไขปัญหาผู้ทำการขอทานทั้งคนไทยและคนต่างด้าวในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน อาทิ ประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ทำการขอทานในพื้นที่สาธารณะอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

 

กทม. รุดแก้ปัญหาน้ำท่วมขังผิวจราจรซอยเสนานิคมและถนนลาดพร้าว-วังหิน 
 
นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ภายหลังฝนตกหนักว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักเมื่อคืนวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา และเกิดปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนเสนานิคม 1 สูงประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร โดยเริ่มเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เวลาประมาณ 21.00 น. จากนั้นในเวลาประมาณ 00.30 น. พบว่า น้ำแห้งจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังบนผิวจราจร ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่มีฝนตกและเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยจัดรถเทศกิจให้บริการรับ-ส่งประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบด้านการสัญจรให้กับประชาชน
นายนภพล มนต์มนัสสิทธิ ผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว กทม. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า มีน้ำท่วมขังผิวจราจรในบางพื้นที่บริเวณถนนลาดพร้าว-วังหินทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่ช่วงต้นซอยฝั่งเกษตร – นวมินทร์จนถึงฝั่งโชคชัย 4 เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่เขตลาดพร้าว ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ปริมาณฝนเฉลี่ยเกินว่า 60 – 80 มิลลิเมตร ซึ่งเกินกว่าปริมาตรของท่อระบายน้ำที่จะสามารถรองรับได้ ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่งานระบายน้ำเข้าตรวจสอบแก้ไขปัญหาและเดินเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ขนาด 40 นิ้ว บริเวณถนนเสนานิคม ใต้สะพานข้ามคลองลาดพร้าว ระบายน้ำถนนลาดพร้าว-วังหินลงสู่คลองลาดพร้าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เดินเครื่องสูบน้ำต่อเนื่องจนสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ รวมทั้งประสานเจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบน้ำคลองทรงกระเทียม (ตอนคลองลาดพร้าว) สำนักการระบายน้ำ เร่งระบายน้ำในคลองทรงกระเทียมและคลองเสือน้อยพื้นที่เขตลาดพร้าว ซึ่งระดับน้ำในคลองสูงกว่าค่าระดับปกติ (เกือบเสมอทางเดินริมคลอง) ให้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ


      นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมและดำเนินการป้องกัน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปีงบประมาณ 2566 – 2567 ดังนี้ (1) ดำเนินการจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ ขุดลอกท่อระบายน้ำ จำนวน 78 ซอย ความยาว 51,757 เมตร และจ้างเหมาขุดลอกคลอง จำนวน 3 คลองแล้วเสร็จ ได้แก่ คลองจั่น (ลาดพร้าว) คลองขี้เสือใหญ่ คลองหนองบอน (2) ดำเนินการก่อสร้างบ่อสูบน้ำไฟฟ้าบริเวณท้ายซอยนาคนิวาส 27 และบริเวณถนนโชคชัย 4 (หน้าโรงพยาบาลเปาโล) ถ.โชคชัย 4 โดยบ่อสูบน้ำทั้ง 2 บ่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า คาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานเต็มระบบในช่วงกลางเดือน ส.ค. 67 (3) ดำเนินการติดตั้งบานประตูกั้นน้ำ (Flap Gate) เพื่อกันน้ำไหลย้อนกลับจากคลองไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนบริเวณท้ายซอยที่ติดกับคลองในพื้นที่ (4) ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง ได้แก่ โครงการปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ำซอยนาคนิวาส 48 แยก 14 โครงการปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ำซอยสตรีวิทยา 2 ซอย 29 แยก 1 และโครงการปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ำซอยประดิษฐ์มนูธรรม 27 และ (5) ดำเนินการก่อสร้างทำนบชั่วคราว จำนวน 2 แห่ง (อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณก่อสร้างเขื่อน) หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

 

 

 

กทม. ลดค่าเช่าแผงค้าตลาดในสังกัด 50% ก.ย. – ธ.ค. นี้

นายศรชัย โตวานิชกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กทม.กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้เช้าแผงค้าและส่งเสริมการขายในตลาดที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ว่า สงต. มีแผนดำเนินงานตามนโยบายโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยลดค่าเช่าแผงค้าร้อยละ 50 ให้กับผู้ค้าที่อยู่ในตลาดภายใต้การกำกับของสำนักงานตลาดฯ ระยะเวลา 4 เดือน (ระหว่างเดือน ก.ย. – ธ.ค. 67) ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายภายในตลาด โดยขอความร่วมมือผู้ค้าลดราคาสินค้า มีโปรโมชันการแลก แจกของชำร่วย หรือสินค้า จัดลานโปรโมชั่นในตลาดขนาดใหญ่ การแสดงดนตรี การละเล่น และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้มีผู้มาจับจ่ายสินค้าในตลาดมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้ทุกฝ่าย

 

 

 

กทม. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำถนนลาดพร้าว-วังหิน เตรียมยกระดับผิวจราจรถนนทุ่งเศรษฐีป้องกันน้ำท่วม
 
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล  ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวว่า จากสถานการณ์ที่มีฝนตกหนักในช่วงค่ำของวันที่ 6 ส.ค. 67 สนน. ได้ตรวจวัดปริมาณฝนที่จุดวัดประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ปริมาณฝน 91.5 มิลลิเมตร จุดวัดสำนักงานเขตห้วยขวางปริมาณฝน 90.0 มิลลิเมตร และจุดวัดบ่อสูบศาลอาญารัชดา เขตจตุจักร ปริมาณฝน 90.0 มิลลิเมตร ส่งผลให้ถนนลาดพร้าว-วังหิน ตั้งแต่ช่วงต้นซอยฝั่งเกษตร-นวมินทร์ ไปจนถึงฝั่งโชคชัย 4 รวมถึงซอยเสนานิคมและซอยวัดทุ่งเศรษฐี มีน้ำท่วมขังผิวจราจร ซึ่งใช้เวลาเร่งระบายน้ำให้บริเวณดังกล่าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติประมาณ 3 ชั่วโมง โดยสาเหตุที่เกิดปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ นอกจากปริมาณฝนที่ตกหนักครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง รวมถึงเศษขยะ ใบไม้จำนวนมากที่อุดกั้นช่องรับน้ำหน้าคันหิน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า ซึ่งการระบายน้ำใช้คลองเสือน้อย คลองทรงกระเทียมระบายน้ำออกไปยังคลองลาดพร้าว และสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ สนน. มีแผนการพัฒนาการระบายน้ำโดยการก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนสุคนธสวัสดิ์ เพื่อเร่งระบายน้ำไปลงคลองเสือน้อย แผนการก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนเสนานิคม 1 ตอนลงคลองลาดพร้าว (ฝั่งตะวันออก) เพื่อเร่งระบายน้ำจากถนนเสนานิคม 1 ไปลงคลองลาดพร้าว  และแผนการก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนลาดพร้าว (ขาเข้า) เร่งการระบายน้ำจากถนนลาดพร้าวลงคลองลาดพร้าว นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเครื่องสูบน้ำให้แก่สำนักงานเขต พร้อมตรวจสอบและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณชุมชน ตลอดจนการเดินเครื่องสูบน้ำตามจุดต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง   
       
ขณะเดียวกัน กทม. ได้ใช้อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ต้องระบายน้ำผ่านระบบคลอง จำนวน 4 แห่ง ประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ จำนวน 4 แห่ง และมีแผนงานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ซึ่งมีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม./วินาที นอกจากนั้น กทม. ได้จัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำ (แก้มลิง) เชื่อมต่อกับระบบระบายน้ำสาธารณะ เช่น คลอง/ท่อระบายน้ำ สำหรับนำน้ำฝนเข้ามาเก็บกักไว้ในแก้มลิงเป็นการชั่วคราวขณะที่มีฝนตก และจะระบายออกเมื่อหลังฝนหยุดตก หรือระดับน้ำในคลองมีระดับต่ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้ ปัจจุบัน กทม. มีพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำ (แก้มลิง) แล้ว 36 แห่ง ปริมาณเก็บกัก 13.69 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 แห่ง และมีแผนงานจัดหาเพิ่มเติมอีก 16 แห่ง มีปริมาณเก็บกักน้ำรวม 7.70 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดดังกล่าว หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างยั่งยืน
 
นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม. กล่าวว่า บริเวณถนนทุ่งเศรษฐีเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนรามคำแหง 2 กับถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก ซึ่งระหว่างถนนดังกล่าวมีคลองอาจารย์พรกั้นอยู่บริเวณกลาง โดยเมื่อคืนวันที่ 6 ส.ค. 67 มีปริมาณฝนตกมาก สำนักงานเขตฯ ได้เร่งสูบน้ำในท่อระบายน้ำ เพื่อลงคลองอาจารย์พรทั้งสองฝั่ง และน้ำได้ลดลงตามลำดับ ซึ่งต้องรอการระบาย ทำให้มีน้ำท่วมขังบางส่วนที่บริเวณแยกซอยทุ่งเศรษฐี 45 และ 50 นอกจากนี้  สำนักงานเขตฯ ได้ขอรับการสนับสนุนรถสูบน้ำเคลื่อนที่ Mobile Pump เพื่อเร่งการระบายน้ำลงคลองพระอาจารย์พร ซึ่งเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
       
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้ของบประมาณแปรญัตติปี 2568 เพื่อปรับปรุงถนนทุ่งเศรษฐี ช่วงจากถนนรามคำแหง 2 ถึงคลองอาจารย์พร โดยยกระดับผิวจราจรสูงขึ้นประมาณ 25 เซนติเมตร เนื่องจากระดับถนนต่ำและมีน้ำท่วมขังทุกปี รวมทั้งได้ของบประมาณปี 2568  ปรับปรุงซอยทุ่งเศรษฐี 45 กับซอยทุ่งเศรษฐี 50 ซึ่งเป็นจุดทางเชื่อมออกถนนกาญจนาภิเษกที่สูงกว่าถนนวัดทุ่งเศรษฐี โดยจะยกระดับผิวจราจรซอยดังกล่าวทั้งสองซอยให้สูงขึ้น 20 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำจากถนนกาญจนาภิเษกไหลลงมาถนนวัดทุ่งเศรษฐีที่ต่ำกว่า

 

 

 

เขตจตุจักรสำรวจ 6 จุดเสี่ยงอาชญากรรม-เพิ่มมาตรการความปลอดภัย ประสานหน่วยงานแก้ไขไฟส่องสว่าง
         
นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวถึงการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เขตจตุจักรว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจสำรวจจุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมในพื้นที่เขตจตุจักร จำนวน 6 จุด ได้แก่ สะพานลอยคนเดินข้ามหน้าวัดเสมียนนารี สวนสาธารณะ ซอยวิภาวดีรังสิต 5 สวนสาธารณะ ซอยวิภาวดีรังสิต 18 บริเวณคลองเปรมประชากร ชุมชนร่วมใจ 1 บริเวณคลองลาดพร้าว ตรงข้ามวัดศิริกมลาวาส และบริเวณคลองลาดพร้าวหลังชุมชน ด้านหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรา ดูแลความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 3 ครั้ง 1 วัน/จุด ช่วงเวลากลางวัน 2 ครั้ง และช่วงเวลากลางคืน 1 ครั้ง และได้บันทึกผลการตรวจสอบด้วยระบบการตรวจพื้นที่เสี่ยงภัยของสำนักเทศกิจทุกครั้ง 

สำหรับบริเวณป้ายรถโดยสารประจำทางหน้าวัดเสมียนนารี สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยจัดรถสายตรวจเทศกิจรับ-ส่งประชาชนที่สัญจรช่วงดึกไปส่งยังบ้านพักอาศัย เพื่อป้องกันการเกิดเหตุอาชญากรรมต่อประชาชน ส่วนบริเวณพื้นที่อื่นที่มีการจราจรหนาแน่นเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม วิ่งราวทรัพย์ เช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีหมอชิต ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรากวดขัน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน นอกจากนั้น ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณสะพานลอยคนข้ามหน้าวัดเสมียนนารี ถนนวิภาวดีรังสิตและปากซอยวิภาวดีรังสิต 9 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง และไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณถนนกำแพงเพชร 6 อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานเขตฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200