Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567

กทม. จัดหาพื้นที่เปิดตลาด – พัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้า กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
 
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือและเยียวยาผู้เช่าแผงค้าและผู้เช่าอื่นภายในตลาดที่อยู่ในความดูแลของ กทม. เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาลว่า สพส. ได้ดำเนินการช่วยลดต้นทุนการจำหน่ายสินค้าของประชาชน โดยจัดหาพื้นที่เอกชนและส่วนราชการ เช่น ตลาดสุขใจ Farmer Market ที่สวนลุมพินี สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เขตลาดกระบัง โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (อาทร สังขะวัฒนะ) ซึ่งได้เปิดตลาดโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าใช้จ่าย 

ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงผู้ประกอบการชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน อาทิ ร่วมกับบริษัท ลาซาด้า จำกัด นำผลิตภัณฑ์ กทม. Bangkok Brand ผลิตภัณฑ์ OTOP ผลิตภัณฑ์ชุมชน ขึ้นจัดจำหน่ายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Lazada และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้รับรู้และเข้าร่วมโครงการ พร้อมอบรมผู้ประกอบการใช้แพลตฟอร์ม Lazada เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงผู้ประกอบการชุมชน โดยมียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 10 ล้านบาท รวมทั้งประสานความร่วมมือบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำโครงการส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้าสู่ Online Market Place เพื่อนำสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (Made In Bangkok) ผลิตภัณฑ์ กทม. Bangkok Brand ผลิตภัณฑ์ชุมชน กทม. (OTOP) และสินค้าชุมชน ขึ้นจัดจำหน่ายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Shopee

      นอกจากนั้น ได้จัดมหกรรมสินค้า BKK Market เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับผู้ผลิต/ผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงผู้ประกอบการชุมชน เดือนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ส.ค. – ต.ค. 67 และสำนักงานเขต 50 เขต จัดงานถนนคนเดินเขต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เขต 50 เขต ตั้งแต่เดือน ส.ค. – ต.ค. 67

 

 

กทม. เผย “ไม่เทรวม” ลดขยะเศษอาหารได้เกินเป้า พร้อมเดินหน้า “บ้านนี้ไม่เทรวม”
 
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงสถานการณ์ปริมาณขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ และแนวทางการบริหารจัดการขยะของ กทม. ว่า แนวโน้มปริมาณมูลฝอยในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีปริมาณเฉลี่ย 8,775 ตัน/วัน ลดลงจากปี 2565 ซึ่งมีปริมาณเฉลี่ย 8,979 ตัน/วัน ทั้งนี้ กทม. มีระบบบริหารจัดการมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างถูกสุขลักษณะ โดยมุ่งเน้นการลด คัดแยก การนำกลับมาใช้ประโยชน์ และกำจัดมูลฝอยที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดการคัดแยกมูลฝอย 4 ประเภท ประกอบด้วย มูลฝอยอินทรีย์ นำไปใช้เลี้ยงสัตว์ หมักทำปุ๋ย หรือทำน้ำขยะหอมและน้ำหมักชีวภาพ มูลฝอยรีไซเคิล แยกขายเพื่อเป็นรายได้ มูลฝอยทั่วไป แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของ กทม. และมูลฝอยอันตราย รณรงค์ส่งเสริมให้คัดแยกเป็นการเฉพาะ เพื่อไปกำจัดตามหลักสุขาภิบาล ขณะเดียวกัน กทม. ได้ลดขยะเศษอาหาร โดยดำเนินโครงการ “ไม่เทรวม” ตั้งแต่ปี 2565 โดยปัจจุบันภาพรวมของโครงการฯ สามารถลดขยะเศษอาหารได้วันละ 277 ตัน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายปี 2567 ที่ตั้งไว้ที่วันละ 200 ตัน โดยมีร้านอาหารกว่า 1,059 แห่ง เข้าร่วมโครงการ ซึ่งสำนักงานเขตจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ทั้งการหมักทำปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ และประสานเกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงต่อไป

        นอกจากนั้น กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจัดการมูลฝอย อาทิ ชุมชน โดยมุ่งเน้นให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมคิด วางแผน และจัดการมูลฝอยตามบริบทพื้นที่ เช่น แยกขยะอินทรีย์และเศษอาหารทำปุ๋ย หรือน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและชุมชน ในสถานศึกษาจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์มูลฝอย เช่น ธนาคารขยะ การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การทำสิ่งประดิษฐ์จากขยะ เป็นต้น ส่วนตลาดสด ร้านอาหาร ภัตตาคาร และห้างสรรพสินค้า รวบรวมเศษอาหาร เศษผักและเปลือกผลไม้ เพื่อให้สำนักงานเขตจัดเก็บและนำไปหมักทำปุ๋ยใช้ประโยชน์ในพื้นที่ หรือส่งโรงงานหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงได้ดำเนินการกิจกรรม “บ้านนี้ไม่เทรวม” ส่งเสริมการคัดแยก ส่งต่อขยะคืนสู่ระบบ สนับสนุนการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากขยะโดยไม่ทิ้งรวม ภายใต้แนวคิดของทุกอย่างมีทางไป ร่วมกับเครือข่ายสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนสามารถเข้าร่วมโครงการไม่เทรวม โดยลงทะเบียนเพื่อให้ กทม. เข้าไปรับขยะผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อจัดสรรเส้นทางและรับขยะจากทุกบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

กทม. เร่งแก้ปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง พร้อมจัดเทศกิจตรวจตราทางเดินยกระดับสะพานเขียว
 
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวจากการสำรวจทางเดินบนสะพานเขียว พบไฟฟ้าส่องสว่างชำรุดและแสงสว่างไม่เพียงพอว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสะพานเขียว พบปัญหาไฟฟ้าขัดข้องเกี่ยวกับระบบวงจรไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับทั้งสะพาน หรือหลอดไฟติดอยู่ในบางส่วนของสะพาน จึงได้ประสานสำนักการโยธา เพื่อดำเนินการซ่อมแซม ขณะเดียวกันได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจชุดสายตรวจ คอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและตรวจจุดเสี่ยงภัย (ตู้เขียว) ร่วมกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ลุมพินี เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงตรวจสอบกล้องวงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่เขตปทุมวัน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับการประมวลผลของระบบ AI เพื่อเฝ้าระวังและเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน


นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจสอบกวดขันบริเวณสะพานเขียว ซึ่งเป็นทางเดินยกระดับเชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิตติ ระยะทางประมาณ 600 เมตร โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้มาใช้บริการ พร้อมทั้งติดตั้งตู้เขียว ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจหมุนเวียนตรวจสอบบริเวณสะพานเขียวเป็นประจำทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน นอกจากนั้น ได้ตรวจสอบการติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณสะพานเขียว พบว่า สภาพใช้การได้ทุกกล้อง ส่วนไฟฟ้าส่องสว่างดับบางดวง ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักการโยธาเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200