Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567

กทม. ร่วมตรวจตรา-บังคับใช้กฎหมายกับผู้ค้าต่างด้าวตลอดแนวถนนสุขุมวิท

นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตพบผู้ค้าต่างด้าวเพิ่มขึ้นตลอดแนวถนนสุขุมวิท ตั้งแต่สยามสแควร์ถึงสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีอ่อนนุช พร้อมตั้งข้อสังเกตเจ้าหน้าที่เทศกิจจะมีกลุ่มไลน์ของผู้ค้าแจ้งเตือนล่วงหน้าหากมีการร้องเรียนจัดระเบียบผู้ค้าว่า อาชีพงานเร่ขายสินค้าเป็นหนึ่งในอาชีพที่กฎหมายกำหนดห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด โดยสงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น ซึ่งนายจ้างอาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดรับคนต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ให้ทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ รวมถึงเป็นการทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ฐานขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สนท. ได้ประชุมซักซ้อมชี้แจงให้ทุกสำนักงานเขตยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรา กวดขัน ไม่ให้ฝ่าฝืนขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ
ส่วนกรณีที่ระบุผู้ค้าต่างด้าวเพิ่มขึ้นตลอดแนวถนนสุขุมวิท ตั้งแต่สยามสแควร์ถึงสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีอ่อนนุช นั้น สนท. ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน สำนักงานเขตวัฒนา สำนักงานเขตคลองเตย สำนักงานเขตพระโขนง และสำนักงานเขตปทุมวัน เพื่อตรวจสอบและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งจะได้กำชับให้ทุกสำนักงานเขตตรวจสอบและบังคับการให้เป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดต่อไป ส่วนข้อสังเกตเจ้าหน้าที่เทศกิจแต่ละพื้นที่จะมีกลุ่มไลน์กับผู้ค้า เพื่อแจ้งข่าวสารข้อมูลผู้ค้า นั้น ปัจจุบันการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เป็นช่องทางที่รวดเร็ว รายงานได้ทั้งภาพ เสียง วิดีโอ และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งหากนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์จะช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย จึงได้กำชับให้สำนักงานเขตกวดขันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เทศกิจในการจัดระเบียบและบังคับการพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด

 

 

กทม. เตรียมพร้อมเฝ้าระวังน้ำเหนือ-น้ำหนุน ตรวจสอบความแข็งแรงแผงคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยา

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์จากมวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ ว่า สนน. ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งประชุมติดตามสถานการณ์กับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ ติดตาม คาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่น ๆ ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง รวมถึงจัดเตรียมกระสอบทราย พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำกับเสริมความมั่งคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงให้เกิดความปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำและบริเวณที่ยังไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร หรือแนวฟันหลอ ตลอดจนพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวริมแม่น้ำ อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังช่วงก่อนเวลาที่น้ำจะขึ้นทุกวันตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งตามบ่อสูบน้ำต่าง ๆ ตามแนวริมแม่น้ำทุกจุดให้พร้อมใช้งานได้ทันที

ขณะเดียวกันได้เตรียมแผนปฏิบัติการให้สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาลดระดับน้ำในคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำและเร่งสูบระบายหากเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ ตรวจสอบความพร้อมประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความพร้อมใช้งานทุกจุด สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมต้องติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิดผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook : @BKK.BEST, X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม. โทร.02 248 5115 หรือแจ้งปัญหาทางระบบ Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ คลองชักพระและคลองพระโขนงในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความยาวริมตลิ่งประมาณ 88.00 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวป้องกันตนเองของเอกชน หรือหน่วยงานอื่น ความยาวประมาณ 3.65 กิโลเมตร แนวฟันหลอ หรือแนวป้องกันตนเองที่มีระดับน้ำต่ำและความมั่นคงแข็งแรงไม่เพียงพอความยาวประมาณ 4.35 กิโลเมตร เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน กองทัพเรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถาน หรือศาลเจ้า ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือร้านค้า สถานประกอบการ ร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า เป็นต้น ซึ่งระดับความสูงคันกั้นน้ำแนวป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ความสูงประมาณ +2.80 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ถึงความสูงประมาณ +3.50 ม.(รทก.) โดยความจุลำน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯ สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือได้ประมาณ 2,500 – 3,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที โดยที่ไม่มีน้ำล้นข้ามแนวป้องกันน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ภาวะปกติ

นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า สปภ. ได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยในสังกัดจัดเจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และเรือท้องแบน พร้อมให้การสนับสนุนและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ กองโรงงานช่างกล และสำนักงานเขตพื้นที่ รองรับสถานการณ์จากมวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ระดับน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที อีกทั้ง ได้จัดเตรียมถุงยังชีพ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย ส่วนการฟื้นฟูเยียวยาสงเคราะห์ผู้ประสบภัยภายหลังจากอุทกภัยสิ้นสุดแล้วจะให้ความช่วยเหลือตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๓๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๓๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างรวดเร็วและทั่วถึงต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุอุทกภัยสามารถขอความช่วยเหลือมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

กทม. เดินหน้ามาตรการเชิงรุกป้องกันแก้ปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา-สถานประกอบการ-ชุมชน
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคมว่า กทม. โดย สนอ. ได้จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กทม. ทุกสัปดาห์ ติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน รวมทั้งหารือการขับเคลื่อนการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ โดยเฉพาะศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ขณะเดียวกันได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 51 แห่ง มีแนวทางการดำเนินงาน งบประมาณสนับสนุน และระบบรายงานที่เป็นรูปธรรม เชื่อมโยงกับระบบการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดทุกระบบ ได้แก่ ระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) การดูแลผู้ติดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment : CBTx) จากการค้นหา คัดกรอง นำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้ากระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมถึงการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือกระทรวงแรงงานช่วยเหลือด้านอาชีพ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส.กทม.) ช่วยเหลือด้านทุนประกอบอาชีพ ซึ่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 – 31 ก.ค. 67 ได้นำส่งต่อผู้ติดยาเสพติดเข้าศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมแล้ว 337 คน
       
นอกจากนั้น ได้จัดบริการคัดกรองบำบัดรักษาและฟื้นฟูฯ ผู้ติดยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยเปิดศูนย์คัดกรองการใช้ยาเสพติดเพื่อรองรับ จำนวน 72 แห่ง ให้ครอบคลุม 50 เขต บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูรูปแบบผู้ป่วยนอก 71 แห่ง อาทิ คลินิกก้าวใหม่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 52 แห่ง คลินิกก้าวใหม่ พลัส ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 แห่ง คลินิกก้าวใหม่พลัส ลาดพร้าว สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด เป็นต้น รวมถึงโปรแกรมการบำบัดสำหรับผู้ใช้ยาบ้า ไอซ์ ยาอี กัญชา กระท่อม และการใช้ยาในทางที่ผิด ให้การบำบัดด้วยโปรแกรมก้าวใหม่ (การดูแลแบบองค์รวม (holistic care) ) ระยะเวลา 1-4 เดือน ด้วยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา โปรแกรมการบำบัดสำหรับผู้ติดเฮโรอีน/ฝิ่น/อนุพันธุ์ของฝิ่น บำบัดด้วยการใช้สารทดแทน ได้แก่ ยาเมทาโดน ยา buprenorphine/naloxone (BNX) การติดตามดูแลหลังการบำบัด ผู้ใช้/ผู้เสพ/ผู้ติด สถานพยาบาลติดตามดูแลหลังการบำบัด 4-7 ครั้ง/ปี และส่งต่อศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 50 เขต เพื่อติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือด้านสังคม โดยมีผลการบำบัดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 – 1 ก.ค. 67 คัดกรอง 6,847 ราย เข้ารับการบำบัด 4,965 ราย


สำหรับมาตรการเชิงรุกขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กทม. มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาและสารเสพติด ทั้งในสถานศึกษา โดยเฝ้าระวังความเสี่ยงภายในและนอกสถานศึกษา คัดกรองโดยครูที่พบพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียน หากพบนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะประสานผู้ปกครองและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพื่อติดตามช่วยเหลือ สำหรับนักเรียนที่มีความเสี่ยงและสงสัยว่า อาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะตรวจปัสสาวะ โดยจัดทำหนังสือสัญญาและข้อตกลงร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อให้ความยินยอมก่อนตรวจปัสสาวะ ตลอดจนจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ทักษะ เสริมภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับนักเรียน ส่วนในสถานประกอบการ ได้ประสานสำนักงานเขต และกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติดให้กับพนักงาน สนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยยาเสพติด สนับสนุนการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ (มยส.) และโรงงานสีขาว และในชุมชน ได้จัดให้มีอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด กทม. และอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. เชี่ยวชาญยาเสพติดในพื้นที่ 50 สำนักงานเขต เพื่อเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และร่วมค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา สนับสนุนการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน 
 
นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้จัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจของเด็ก เยาวชน และประชาชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ขณะเดียวกันได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชน ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิ.ย. – 31 ส.ค. 67) ใช้การบำบัดฟื้นฟูผู้มีปัญหาการใช้ยาเสพติดในชุมชน และชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community Based Treatment and Care – CBTx) โดยดำเนินการรวม 3 โครงการ ชุมชนเป้าหมาย 217 ชุมชน ประกอบด้วย (1) โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (2) ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 5 ชุมชน (3) โครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 24 ชุมชน และ (3) โครงการ CBTx กองทุนแม่ของแผ่นดิน ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 188 ชุมชน โดยมีผลการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ค. 67 ดำเนินการแล้ว 209 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 96.31

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200