Search
Close this search box.
เสริมความรู้เด็กมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร นำแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ไปต่อยอดออกแบบผลิตภัณฑ์สาธารณะให้ชาวกรุงฯ

 

 

 

(7 ส.ค. 67) เวลา 13.30 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงานของคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะวิทยากรบรรยาย เรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร 9 ด้าน 9 ดี เพื่อเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยมีนายวิฑูรย์ อภิสิทธิ์ภูวกุล รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจารย์และนักศึกษาคณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 38 คน ร่วมกิจกรรม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร 

 

คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำหนดให้นักศึกษาในรายวิชา 363 301 การออกแบบผลิตภัณฑ์ 4 รายวิชาบังคับ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ศึกษาการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมประสบการณ์ผู้ใช้ โดยคำนึงถึงข้อมูลวิจัยภาคสนาม ข้อมูลเชิงพฤติกรรม และระบบบริการผลิตภัณฑ์ โดยกำหนดให้นักศึกษาปฏิบัติโครงการออกแบบผลิตภัณฑ์สาธารณะในโจทย์ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร 9 ด้าน 9 ดี เพื่อเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ที่สอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งวิเคราะห์จุดยืนทางยุทธศาสตร์ต่อทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เป็น “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ตามวิสัยทัศน์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) 

 

การบรรยายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษานำข้อมูลมาออกแบบผลิตภัณฑ์สาธารณะได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยให้นักศึกษาได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรับข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร 9 ด้าน 9 ดี ในการนี้มี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากร พร้อมด้วยข้าราชการที่มีประสบการณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักงานเขต ร่วมบรรยายให้ความรู้ 

 

สำหรับยุทธศาสตร์ ที่สำคัญในการต่อยอดความเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการเรียนรู้ อยู่ในยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจดี โดยเน้นการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) และเศรษฐกิจระดับย่าน ซึ่งมีการคัดเลือกสินค้าและบริการ Made in Bangkok (MIB) ที่ตรงตามบริบทอัตลักษณ์ของชุมชนในแต่ละพื้นที่ 50 เขต ด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่าง ผู้เชี่ยวชาญ คนในพื้นที่ และหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร คือ สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และสำนักงานเขต ในการจัดทำกระบวนการกลุ่มเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ย่านและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในย่าน 

 

 

ทั้งนี้ ในการบรรยายให้ความรู้ ได้มีการกล่าวถึงระบบสารสนเทศของกรุงเทพมหานครเพื่อให้คณะศึกษาดูงานได้เข้าชมและศึกษา ซึ่งประกอบด้วย Bangkok Open Policy สำหรับติดตาม 226 นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ http://openpolicy.bangkok.go.th/ แผนที่รวมจุดเสี่ยงกรุงเทพมหานครทั้งหมด หรือ BKK Risk Map ที่ https://cpudapp.bangkok.go.th/riskbkk/index.html และระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลโครงการ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร เพื่อตามติดนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (2567) ที่ https://policy.bangkok.go.th/tracking/frontend/web/


———–

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200