นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวระหว่างประชุมสภากทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 5) ประจำปี 2567 ว่า วันนี้ (30 ก.ค.) เป็นการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำของปี 2568 กรอบวงเงินประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งหลักการของกทม. จะไม่มีการกู้เงิน แต่จะใช้เงินให้เท่ากับประมาณการรายรับ ซึ่งกทม.อาจใช้เงินเกินงบฯ เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต่อเนื่องมา
สำหรับงบประมาณปีนี้จะเน้นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในระดับเส้นเลือด ฝอย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการจัดสรรงบไปสู่สำนักงานเขตกว่า 20,000 ล้านบาท เพราะชีวิตประชาชนเกี่ยวข้องกับสำนักงานเขตในพื้นที่เป็นหลัก อาทิ น้ำท่วม ไฟฟ้า แสงสว่าง การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอของบประมาณโครงการขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ การก่อสร้างเขื่อน โรงงานกำจัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นการของบในโครงการที่ต่อเนื่อง
สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ กทม. พ.ศ.2568 ที่จะมีการเสนอบุคคลภายนอก ที่มีความรู้ความสามารถในการพิจารณางบและมีประสบการณ์ในการตรวจสอบทุจริตเข้าเป็นคณะกรรมการนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ผู้บริหารกทม. เป็นฝ่ายถูกตรวจสอบ ดังนั้น หากกทม.ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบัญญัติ และข้อบังคับต่างๆ ถูกต้อง ไม่มีการทุจริต ก็พร้อมให้มีการตรวจสอบและไม่ขัดข้องการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว แต่ตามขั้นตอนต้องเป็นเรื่องของสภากทม.ที่ตกลงกัน
ด้านนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากทม. กล่าวว่า ข้อบังคับการประชุมระบุชัดว่าสามารถตั้งคนนอกมาเป็นคณะกรรมการได้ โดยผ่านความเห็นของสภากทม. ซึ่งต้องมีการเสนอรายชื่อและโหวต
ทั้งนี้ การจะแต่งตั้งคนนอกเข้ามานั้น ขั้นแรกจะมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเข้าไปก่อน สัดส่วนที่ได้หารือกันไว้มีทั้งหมด 36 คน เป็น สก. 27 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 14 คน พรรคก้าวไกล 6 คน ประชาธิปัตย์ และไทยสร้างไทย 6 คน และอิสระ 1 คน และผู้บริหาร กทม. 9 คน ซึ่งทั้ง 36 คน จะพูดคุยกันและเลือกประธาน รองประธานและเลขาฯ เพื่อกำหนดว่าจะมีใครเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบในเรื่องใดบ้าง.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 ส.ค. 2567 (กรอบบ่าย)