Flag
Search
Close this search box.
‘บีทีเอส’ลุ้นศาลจบหนี้1.2หมื่นล.

นัดอ่านคำพิพากษาวันนี้ – กทม.เล็งใช้เงินสะสมจ่ายเอกชน

“ชัชชาติ” รอดูคำสั่งศาล ชี้สัญญาจ้างที่เหลือถึงปี 80

กรุงเทพธุรกิจ “บีทีเอส” ลุ้นศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดหนี้จ้างเดินรถส่วนต่อขยาย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เม็ดเงินรวมสูงกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท อ่านคำพิพากษาคดีแรกวันนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท ลั่นหากได้รับชำระหนี้ จ่อนำไปจ่ายหนี้เสริมสภาพคล่อง พร้อมระบุเปิดกว้าง เจรจา กทม.หากต้องการขยายสัมปทานแลกหนี้ ด้าน กทม.เตรียมแผนจ่ายหนี้ค่าเดินรถ เล็งใช้ เงินสะสมที่มี 6.3 หมื่นล้านบาท

หลังจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้รับการชำระหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (E&M) ส่วนต่อขยาย รวม 23,000 ล้านบาท ไปเมื่อเดือน เม.ย.2567 จากกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ขณะนี้เหลือหนี้ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและ ซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายที่ยังอยู่ใน ศาลปกครอง 2 คดี รวมมูลหนี้ 39,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.คดีค่าจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งค้างชำระหนี้ พ.ค.2562-พ.ค.2564 รวม 2,348.65 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 2,199.09 ล้านบาท และดอกเบี้ย 149.56 ล้านบาท

สำหรับคดีดังกล่าว BTSC ได้ฟ้องศาลปกครองกลางให้กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ชำระหนี้ 11,755 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ค่าจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 1 และหนี้ค่าจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งนี้ให้ชำระพร้อมดอกเบี้ยของ ต้นเงินตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้า รายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ซึ่งประกาศโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดี ตุลาการผู้แถลงคดีให้ยืนตามศาลปกครองกลาง โดยในวันที่ 26 ก.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565

2.คดีค่าจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยาย ที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งค้างชำระ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564-ต.ค.2565 รวม11,068.50 ล้านบาท

สำหรับคดีนี้ BTSC ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 และปัจจุบัน อยู่ในการวินิจฉัย และการจัดทำคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

กทม.เตรียมแผนจ่ายหนี้ค่าเดินรถ

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรุงเทพมหานครได้ติดตามผลการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.ค.2567 โดยจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องกรุงเทพมหานคร ไปรับฟังคำพิพากษา พร้อมด้วยนายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด

ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดที่จะต้องดูผลของสัญญาที่ดำเนินการไปแล้ว ควบคู่กับการดำเนินการตามสัญญาที่จะครบในปี 2580 ว่าจะดำเนินการอย่างไร

รวมทั้งต้องดูผู้ที่ต้องชำระหนี้เพราะสัญญาจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง โดยกรุงเทพฯ จ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการเดินรถไฟฟ้า หลังจากนั้นบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า

ส่วนสัญญาจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยต่างจากส่วนต่อขยายที่ 1 เพราะเป็นการที่กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการ หลังจากนั้นบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้พิจารณาแนวทางการชำระหนี้ O&M ในทิศทางเดียวกับการชำระหนี้ E&M ส่วนต่อขยาย รวม 23,000 ล้านบาท เมื่อเดือน เม.ย.2567 ซึ่งขออนุมัติ ใช้เงินสะสมปลอดภาระจากสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งสิ้นงบปีงบประมาณ 2566 (30 ก.ย.2566 ) มีวงเงินส่วนนี้รวม 63,000 ล้านบาท

“บีทีเอส”พร้อมเจรจาเคลียร์หนี้

แหล่งข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้ค่าจ้าง O&M รถไฟฟ้า สายสีเขียวส่วนต่อขยาย มีจำนวนรวม 39,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คดีที่ศาลปกครองสูงสุดนัดพิพากษาในวันที่ 26 ก.ค.2567 เป็นคดี O&M 1 ที่บริษัทได้ยื่นฟ้องไว้รวมมูลหนี้ 12,000 ล้านบาท ส่วนคดี O&M 2 ซึ่งเป็นคดีที่บริษัทได้ยื่นฟ้องเพิ่ม ปัจจุบันศาลปกครองกลางยังไม่มีกำหนดนัด

แหล่งข่าว กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทยังไม่ได้มีการหารือรายละเอียดจำนวนหนี้ หรือแนวทางการจ่ายหนี้กับทางกรุงเทพมหานคร คงต้องรอดูผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดก่อน หลังจากนั้นน่าจะมีการเจรจารายละเอียด

ทั้งนี้หากบริษัทได้รับชำระหนี้ส่วนนี้ มีแผนจะนำไปเสริมสภาพคล่องด้วยการชำระหนี้ที่ออกหุ้นกู้ไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งคงต้องเจรจาเกี่ยวกับยอดคงค้างที่อัปเดต ณ ปัจจุบันด้วยว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร

“ตอนนี้ต้องรอผลการพิจารณาของศาลก่อนว่าจะมีทิศทางอย่างไร ซึ่งทาง บีทีเอสอยากได้รับเงินค่าจ้าง เพราะจำนวนยอดก็เพิ่มขึ้นในทุกวัน” แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับกรณีที่ก่อนหน้านี้ภาครัฐเคยมีข้อเสนอเจรจาแลกหนี้กับการขยาย สัมปทานนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการเจรจามานานแล้ว แต่อย่างไรก็ดี บริษัทไม่เคย ปิดกั้นในการเจรจาทุกรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่า การจ่ายค่าจ้างงานกับภาคเอกชน ปัจจุบันก็มีความเป็นไปได้ใน 2 รูปแบบ คือ การจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญา และการเจรจาขยายสัมปทานเพื่อชดเชยตามมูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทพร้อมเจรจาได้ทั้งหมด

“กทม.-กรุงเทพธนาคม”จ้างบีทีเอส

สำหรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

หลังจากนั้นมีนโยบายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการเพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของสัมปทานและเป็นผู้ลงทุนส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง

ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2559 หลังจากนั้นกรุงเทพมหานครได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ให้เดินรถและติดตั้ง E&M โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้มาจ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า

 



ที่มา:  นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 ก.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200