Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567

กทม. เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บขยะจากแหล่งน้ำ นำนวัตกรรมดูแลความสะอาดแม่น้ำ-คูคลอง
 
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะจากแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สสล. มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 33.25 กิโลเมตร และคลองบางกอกน้อย ระยะทาง 4.20 กิโลเมตร โดยจัดเก็บระหว่างเวลา 08.00 – 16.00 น. มีอัตรากำลังข้าราชการและลูกจ้างที่จัดเก็บ 180 คน ปริมาณขยะและวัชพืชที่จัดเก็บได้ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 ดังนี้ ปี 2565 จัดเก็บได้ 3,146.16 ตัน เฉลี่ย 8.62 ตัน/วัน ปี 2566 จัดเก็บได้ 3,113.70 ตัน เฉลี่ย 8.53 ตัน/วัน และปี 2567 (ข้อมูลเดือน มิ.ย. 67) จัดเก็บได้ 2,046.53 ตัน เฉลี่ย 7.47 ตัน/วัน

      ทั้งนี้ สสล. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะจากแหล่งน้ำ โดยจัดเจ้าหน้าที่พร้อมเรือและอุปกรณ์ตรวจสอบบริเวณท่าเรือสำคัญต่าง ๆ แก้ไขปัญหาขยะตกค้าง กีดขวางการสัญจรของเรือและทางน้ำไหล ปรับรูปแบบการเก็บขยะตามสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในช่วงฤดูน้ำหลากจะสกัดกั้นและจัดเก็บขยะและวัชพืชทางตอนบน ส่วนเวลาน้ำทะเลหนุนจะสกัดกั้นและจัดเก็บขยะและวัชพืชทางตอนล่าง ขณะเดียวกันได้จัดหาเรือเก็บขนมูลฝอยไฟเบอร์กลาสทดแทนเรือเก่าที่มีสภาพชำรุด จัดหาวัสดุอุปกรณ์ดักขยะ พร้อมติดตั้งรอบแหล่งกำเนิดขยะริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

นอกจากนั้น ได้จัดกิจกรรมรณรงค์สื่อสารสร้างความร่วมมือดูแลรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาและให้ความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ดูแลความสะอาดแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางกอกน้อย เช่น ความร่วมมือโครงการเรือดักขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) ประสานความร่วมมือกับจังหวัดต้นน้ำในการจัดเก็บขยะในแม่น้ำและคูคลอง รวมถึงรณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผักตบชวาและกำจัดผักตบชวาที่แหล่งกำเนิด

 

 

 

กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหนุน เร่งเสริมความสูงแนวคันกั้นน้ำจุดเสี่ยง
 
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่น ๆ ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง จัดเตรียมกระสอบทรายพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำกับเสริมความมั่งคงแข็งแรงให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงให้เกิดความปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำและบริเวณที่ยังไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร หรือแนวฟันหลอ พื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวริมแม่น้ำ รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังในช่วงก่อนเวลาที่น้ำจะขึ้นทุกวันตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งตามบ่อสูบน้ำต่าง ๆ ตามแนวริมแม่น้ำทุกจุดให้พร้อมใช้งานได้ทันที 

ทั้งนี้ กทม. มีแผนปฏิบัติการให้สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาปฏิบัติการลดระดับน้ำในคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำและเร่งสูบระบายหากเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ ตรวจสอบประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความพร้อมใช้งานทุกจุด สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด ผ่านเว็บไซต์ https://dds.bangkok.go.th./, https://pr-bangkok.com/, Facebook : @BKK.BEST และ X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 02 248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue ตลอด 24 ชั่วโมง

          ส่วนแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ คลองชักพระและคลองพระโขนงในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความยาวริมตลิ่งประมาณ 88.00 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวป้องกันตนเองของเอกชน หรือหน่วยงานอื่น ความยาวประมาณ 3.65 กิโลเมตร แนวฟันหลอ หรือแนวป้องกันตนเองที่มีระดับน้ำต่ำและความมั่นคงแข็งแรงไม่เพียงพอความยาวประมาณ 4.35 กิโลเมตร เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน กองทัพเรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถาน หรือศาลเจ้า ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้า สถานประกอบการ ร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า เป็นต้น ซึ่งระดับความสูงคันกั้นน้ำแนวป้องกันน้ำท่วมความสูงประมาณ +2.80 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ถึงความสูงประมาณ +3.50 ม.(รทก.) โดยขนาดของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯ สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือได้ประมาณ 2,500 – 3,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที โดยไม่มีปัญหาน้ำล้นตลิ่ง

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200