วันหยุดสุดสัปดาห์ตลอดเดือนมกราคมนี้ สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ เปิดพื้นที่ต้อนรับเทศกาลดนตรีในสวน เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสกับบรรยากาศของสวนและสุนทรีย ศาสตร์ของดนตรีอย่างเต็มอิ่ม โดยจะมีกลุ่มศิลปินนักร้องและวงดนตรีหลากหลายแนวที่ตบเท้าเข้าร่วม เริ่มกิจกรรมไปแล้วที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ต่อด้วยสวนสันติชัยปราการเมื่อเย็นวันก่อน โดยเป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อ ด้านสร้างสรรค์ดี คือ กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง และนโยบายเทศกาล 3 เดือน Colorful Bangkok 2022 ซึ่งปักหมุดให้มกราคมเป็นเดือนแห่งเทศกาลดนตรี
ทั้งนี้ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะที่สวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร คึกคักด้วยการแสดงจากกลุ่มศิลปิน ประกอบด้วย ละครใบ้ & Jugglin Konnakhao, คณะหุ่นเจ้าขุนทอง, บอย ตัวตลก, มายากลโดย IMAGICA TH และ VK.Vich : Magic & Isolation โชว์ดีๆ จาก Object Theatre, การเต้นจาก Blind Rituals, ละครใบ้ BABY MIME, การแสดง Mini Bangkok Street Show ชุด Happy Garden ต่อด้วยเสวนาเรื่อง “ความท้าทายและนโยบายการขับเคลื่อนเมืองด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร ร่วมด้วย นายพงศ์สิริ เหตระกูล, นายตุล ไวฑูรเกียรติ และนายกฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ ผู้แทน คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้าง สรรค์กรุงเทพมหานคร แต่ละคนเห็นตรงกันสนับสนุนพื้นที่สำหรับดนตรีและการแสดงในเมือง
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในอนาคตดนตรีในสวนคงไม่ใช่เทศกาลที่มีแค่เดือนเดียว กทม.จะเปิดพื้นที่แบบนี้ต่อเนื่อง ถ้ามีกิจกรรมต่างๆ เราก็จะทำทั้งปี เนื่องจากกรุงเทพฯ มีพื้นที่ท่องเที่ยวเยอะ แต่เมื่อดูความหนาแน่นจะมีอยู่ประมาณ 10 สถานที่ที่นักท่องเที่ยวอยากมา ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น
“ส่วนหนึ่งจะต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ทำกิจกรรมให้มากขึ้น การเปิดสวนเป็นการสร้างทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว มากกว่านั้นเราพยายามจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น เพิ่มรถสาธารณะมากขึ้น สร้างความปลอดภัยทางด้านสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตอนนี้ทางกรุงเทพฯ ได้มีมาตรการจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการเปิดให้นักท่องเที่ยวและคนไทยได้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนความปลอดภัยทางด้านทรัพย์สิน ได้ประสานกับตำรวจท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ในการดูแลครบถ้วนทั้งเรื่องสร้างสรรค์ ความปลอดภัยและโรคภัยไข้เจ็บ” ศานนท์กล่าว
หากย้อนดูนโยบายกรุงเทพมหานครว่าด้วยเรื่องเมืองแห่งการสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯ ต้องการสนับสนุนให้คนกรุงทุกเพศทุกวัยออกมาใช้ชีวิต และทำกิจกรรมที่ตรงกับไลฟ์สไตล์บนพื้นที่สาธารณะ สร้างการเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม มีการผลักดันนโยบายหลายข้อเพื่อสร้างเสียงดนตรีให้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมเมือง สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม.ทำเทศกาลดนตรีในสวนสาธารณะของ กทม. จำนวน 12 สวน ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ครอบคลุม 6 โซนทั่วกรุงเทพมหานครตลอดปี 2566
มกราคมนี้ กทม.กำหนดจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีในสวนสาธารณะ 8 สวน คือ สวนวชิรเบญจทัศ สวนสันติชัยปราการ สวนรมณีนาถ สวนเบญจสิริ สวนเสรีไทย สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (เคหะร่มเกล้า) สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (บางกอกน้อย) และสวนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (สะพานพระราม 9) รวม 16 ครั้ง โดยเป็นการแสดงดนตรีจากวงดนตรีของเยาวชนและประชาชนที่สมัครผ่านช่องทางของ กทม. และผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการ และศิลปินค่ายเพลงต่างๆ เข้าร่วมมากมาย
นอกจากนี้ยังมีเทศกาลดนตรีในสวน ณ สวนหลวงพระราม 8 กทม. ร่วมกับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข จัดทุกวันอาทิตย์ 6 ครั้ง ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค.-12 ก.พ.2566 และกิจกรรมการแสดงดนตรีของกรุงเทพมหานคร ซึ่งบรรเลงโดย วงดนตรี กทม. เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 25 ธ.ค.2565 ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2566 ณ มิวเซียมสยาม และศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ศิลปะการแสดงเปิดหมวก Bangkok Street Performer กทม. ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดพื้นที่ให้แก่นักดนตรีและนักแสดงได้แสดงดนตรีบนสถานีรถไฟฟ้าและทางเดิน Sky Walk 7 จุด ทุกวันตลอดเดือนมกรา.นี้
ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นไป กทม.ได้ปลดล็อกสวนสาธารณะ 12 สวน เพื่อเปิดพื้นที่สวนสาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้าไปเล่นดนตรีได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เงื่อนไขหลักๆ คือ การเล่นดนตรีจะต้องไม่มีการหารายได้หรือผลประโยชน์แอบแฝง ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง หากเป็นการเล่นดนตรีที่ใช้เสียงดังเกิน 85 เดซิเบล จะต้องเล่นดนตรีในพื้นที่ที่สวนสาธารณะจัดเตรียมไว้
คนเมืองมารับชมและรับฟังดนตรีในกิจกรรมดนตรีในสวนเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ฟรี ติดตามตารางการแสดงได้ที่ FB Page ‘กรุงเทพมหานคร’.
บรรยายใต้ภาพ
เปิดพื้นที่สวนสาธารณะให้คณะละครหน้าขาว
คณะหุ่นเจ้าขุนทองร่วมสร้างสีสัน
รองผู้ว่าฯ กทม. เสวนาพื้นที่ดนตรีกับศิลปินนักแสดง
นักดนตรีสร้างความสุขให้คนเมืองที่สวนสันติชัยปราการ
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 12 ม.ค. 2566