แนะทำประกันสุขภาพก่อนเข้าไทย
กทม.ประชุมมาตรการด้านสุขภาพ นักท่องเที่ยว แนะทำประกันสุขภาพระยะสั้นก่อนเข้าไทย
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok Health Emergency Operations Center (ศฉส.กทม. : BHEOC) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และผ่านระบบออนไลน์ เกี่ยวกับมาตรการด้านสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวว่า วันนี้เป็นการประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือกันในการดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของพื้นที่ ได้เสนอขอเข้าร่วมศูนย์ประสานงานร่วม 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม เพื่อประสานข้อมูลในการดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเกิดการ
ทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ
จากการ ติดตามสถานการณ์ ของ ศฉส.กทม. ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นมา จะเห็นว่าตัวเลขการติดเชื้อโควิดในประเทศลดลงต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ เป็นผู้ป่วยสีเขียว แสดงว่าภูมิคุ้มกันของประชาชนมีสถานะดีขึ้น ค่อนข้างแข็งแรง หากแต่ยังเป็นห่วงกลุ่ม 608 และผู้ที่ยังไม่ได้ รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งปัจจุบัน กทม. ยึดหลัก 4-4 คือประชาชนจะต้องได้รับ วัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม หรือหากครบ แล้วแต่เกิน 4 เดือน ให้มารับเข็มกระตุ้น
“โควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เทียบเคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ การผ่อนคลายก็เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมา ซึ่งเราเองก็พึ่งพาเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวเยอะ และกทม.ก็ เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ เป็นทางผ่านในการท่องเที่ยว เราก็อยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามา กทม.พร้อมทำให้และพร้อมฟังเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวและทุกภาคส่วน” รศ.ดร.ทวิดา กล่าวและว่า แต่แม้จะมีการผ่อนคลาย แต่ก็ต้องทำมาตรการของเราให้เข้มแข็งขึ้น เน้นการฉีดวัคซีนให้มาก เพราะเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตอบได้ว่า ในขณะที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่กว่า 90% เป็นสีเขียว และอัตราการเสียชีวิตใน ผู้ป่วยเหลือง-แดงก็ลดลง อย่างไรก็ตาม กทม.ขอความร่วมมือคนที่แข็งแรงอย่างพวกเราว่า เวลาไปที่ไหนให้ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการนำโรคไปถึงกลุ่ม 608 ที่บ้าน
บรรยายใต้ภาพ
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 12 ม.ค. 2566