กทม. เร่งติดตั้งประปาหัวแดงในพื้นที่เสี่ยง – พัฒนาระบบบริหารจัดการงานควบคุมอาคารในกรุงเทพฯ
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการรับมือสาธารณภัยในชุมชนเมืองเก่า หรือชุมชนดั้งเดิมว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีนโยบายสร้างความปลอดภัยในทุกมิติให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัล BKK Risk Map เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ สำหรับแผนที่จุดเสี่ยงอัคคีภัยในฐานข้อมูล ประกอบด้วย จุดเสี่ยงอัคคีภัย แผนที่ชุมชน 2,008 แห่ง สถานีดับเพลิงและกู้ภัย ประปาหัวแดง ชุมชนที่รถดับเพลิงเข้าไม่ถึง (ถนน หรือซอยแคบ) ถังดับเพลิงที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และข้อมูลทรัพยากรบรรเทาทุกข์ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีประปาหัวแดงในพื้นที่กรุงเทพฯ 24,693 จุด และในปีงบประมาณ 2567 ได้กำหนดจุดติดตั้งหัวแดงเพิ่มเติมในพื้นที่เสี่ยงก่อน 258 จุด แต่เนื่องจากมีปัญหาข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง เงินอุดหนุนของ กทม. พ.ศ. 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงข้อบัญญัติดังกล่าว คาดว่า จะเสนอต่อสภา กทม. ได้ภายในเดือน ต.ค. 67 อย่างไรก็ตาม ได้ประสานการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อขอให้เสนอคณะกรรมการและช่วยติดตั้ง จำนวน 44 จุด ตามลำดับความเสี่ยงให้ก่อน ส่วนที่เหลือจะดำเนินการหลังจากแก้ข้อบัญญัติฯ แล้วเสร็จ
สำหรับความคืบหน้าการจัดหาถังดับเพลิง ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุมัติแจกจ่ายให้กับชุมชนที่มีความเสี่ยง โดยในชุดแรกมี 9,204 ถัง และจะทยอยส่งมอบให้สำนักงานเขตที่แจ้งความต้องการมายัง สปภ. เพื่อจัดเตรียมทรัพยากรในการป้องกัน หรือบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานและกฎหมายที่กำหนด รวมถึงรองรับสถานการณ์หากเกิดเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติ กทม. เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ที่กำหนดให้อาคารแต่ละชนิด หรือแต่ละประเภทต้องมีวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและบรรเทาอัคคีภัยภายในอาคาร ตามหลักวิศวกรรม ซึ่งมีวิศวกรที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพตาม พ.ร.บ. วิชาชีพวิศวกร พ.ศ.2542 เป็นผู้รับผิดชอบออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคาร โดยจะควบคุม กำกับ ดูแลและตรวจสอบโดย สนย. และสำนักงานเขตพื้นที่ ปัจจุบัน สนย. อยู่ระหว่างจัดทำระบบบริหารจัดการงานควบคุมอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นระบบสารสนเทศ ซึ่งรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของอาคารในกรุงเทพฯ ในรูปแบบแผนที่ดิจิตอล สามารถสืบค้นที่ตั้งอาคาร แบบแปลนของอาคาร แบบแปลนงานระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคาร ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าไปบรรเทาอัคคีภัยโดยสะดวก คาดว่า จะใช้งานระบบได้ภายในปี 2568
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวว่า กทม. อยู่ระหว่างการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อชี้นำการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ และบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย (Public Safety) มีสุขอนามัย (Public Health) และมีสวัสดิภาพของสังคม (Public Welfare) รวมทั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ โดยผ่านการควบคุมด้วยแผนผัง ข้อกำหนด และมาตรการทางด้านผังเมือง ซึ่งผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมีการกำหนดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท ซึ่งจะกำหนดให้กิจกรรมในบริเวณต่าง ๆ มีความเหมาะสมกับระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ มีความสมดุลระหว่างจำนวนคนและความหนาแน่นของอาคารสิ่งปลูกสร้าง มีการห้ามกิจกรรมที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมและความเดือดร้อนรำคาญ รวมถึงห้ามกิจกรรมที่มีผลต่อความปลอดภัยชุมชน เป็นต้น
นอกจากนั้น การพัฒนาอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่จะต้องมีความสัมพันธ์กับขนาดความกว้างของถนนและการให้บริการของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อรองรับปริมาณการจราจรของถนนสาธารณะที่เป็นที่ตั้งของกิจการการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น ๆ จึงได้กำหนดให้การใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถกระทำได้ภายในระยะ ๕๐๐ เมตร จากสถานีรถไฟฟ้า หรือตั้งอยู่ติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร หรือ ๑๒ เมตร ๑๖ เมตร และ ๓๐ เมตร เพื่อประสิทธิภาพของการดับเพลิง ลดปัญหาการจราจร ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในอาคารและชุมชนดั้งเดิม ทั้งนี้ ชุมชนดั้งเดิมจะต้องจัดระเบียบภายในชุมชนไม่ให้รุกล้ำถนนสาธารณะ หรือมีสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่กรณีที่เกิดปัญหาอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
กทม. – สำนักงานประมงฯ เร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ – พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบว่า สพส. ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่พบการระบาด 3 เขต ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตบางบอน รวมทั้งพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นในด้านต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจำนวนมาก ซี่งคณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำหนังสือขอหารือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมบัญชีกลางเรื่องการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติว่า สามารถประกาศได้หรือไม่ หากประกาศได้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายและขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง (กปม.) จะได้รับความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กรณีเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กปม. จะได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณของ กทม. ตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๓๗ และฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งชณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเรื่องการประกาศฯ
ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตและสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย กษ. ได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 และ กปม. เร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ดังนี้ (1) ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด และพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ (2) กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง (3) นำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูป (4) สำรวจและฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ ลงพื้นที่สำรวจลำน้ำที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อเฝ้าระวัง (5) ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด และ (6) ติดตามประเมินผลและนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา เช่น การผลิตปลาหมัน เพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำให้ไปผลมพันธุ์กับปลาหมอคางดำในธรรมชาติ เพื่อให้เป็นหมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้ในระยะยาว
นอกจากนั้น กษ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานคณะทำงาน หัวหน้าหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ผู้อำนวยการแขตทุ่งครุ ประธานสภาเกษตรกร กทม. ผู้แทนสภาทนายความจังหวัดธนบุรี ผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนภาคการประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในส่วนของ กทม. ได้จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นการเกษตรพระนครและธนบุรี เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 67 มีคณะกรรมการฯ อาทิ ผู้แทนสำนักการระบายน้ำ เกษตรกรุงเทพมหานคร ประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร สถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สำนักงานเกษตรพื้นที่ 1-4 สำนักงานสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต 26 เขตชั้นนอก ซึ่งได้เน้นย้ำให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ เพื่อเตรียมป้องกันการระบาดชองปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจเยี่ยมและให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ตลอดจนให้โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ลงพื้นที่เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน และเขตทุ่งครุ เพื่อให้ความรู้เรื่องการแปรรูปปลาหมอคางดำ เช่น ปั้นสิบไส้ปลา ปลาแดดเดียว เป็นต้น
เขตลาดกระบังเฝ้าระวังรถบรรทุกขยะมาทิ้งในพื้นที่-แจ้งเจ้าของที่ดินรกร้างปรับปรุงที่ดินให้เรียบร้อย
นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบพื้นที่และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่รกร้างริมทางในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบพื้นที่บริเวณซอยขุมทอง-ลำต้อยติ่ง 1 แขวงขุมทอง โดยลักษณะพื้นที่เป็นที่ดินส่วนบุคคล มีประตูเปิด-ปิด มีการคัดแยกขยะเศษวัสดุ เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น จึงได้แนะนำให้ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อเข้าตรวจสอบและพิจารณาออกใบอนุญาต และหากจะถมที่ดินเกิน 2,000 ตารางเมตร ให้แจ้งการถมดิน ตาม พ.ร.บ. การขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 ที่ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตฯ ต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่สายตรวจเทศกิจ ตรวจตรา เฝ้าระวังรถบรรทุกที่ขนขยะมาทิ้งในพื้นที่เอกชน ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้แก้ไขปรับปรุงที่ดินให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามประกาศ กทม. เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างเปล่าในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดกวดขันและบังคับใช้กฎมายที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด ทั้งความผิดที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และความผิดที่มีโทษทางอาญา นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการคักแยกขยะและทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อให้เกิดความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง