กทม. แจงการจัดซ่อม-เปลี่ยนอะไหล่รถบัสของกองการกีฬา
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตพบความผิดปกติการใช้งบประมาณซ่อมแซมยานพาหนะของกองการกีฬาและรถบางคันมีการซ่อมหลายครั้งว่า การซ่อมแซมยานพาหนะครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท หน่วยงานสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องส่งให้กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง กทม. เป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซม ตามคำสั่ง กทม. ที่ 961/2556 ส่วนกรณีที่ระบุรถบัส หมายเลขทะเบียน 41-7765 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แจ้งซ่อมแซม 4 ครั้ง และมีรายงานการซ่อมเปลี่ยนอะไหล่ซ้ำ นั้น จากการตรวจสอบพบว่า รถบัสคันดังกล่าวได้ดำเนินการซ่อมจริง จำนวน 3 ครั้ง และรายการอะไหล่ที่ซ้ำกัน เนื่องจากไม่ได้กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน เช่น เปลี่ยนจารบี ลูกปืนคุมล้อ เพลาหน้า โดยไม่ระบุข้าง ซึ่งในการช่อมครั้งที่ 1 เป็นฝั่งซ้าย และครั้งที่ 2 เป็นฝั่งขวา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
กทม. เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม-เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนว่า สนน. มีแผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ปี 2567 โดยควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแก้มลิงทั้ง 36 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย เตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ รวมทั้งเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของ สนน. และเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขตให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่หน่วย BEST เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน
ขณะเดียวกันได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยตั้งขึ้นที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 เป็นต้นมา รวมถึงให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งแก้ไขปัญหาทันที อีกทั้งได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งประสานและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ กทม. ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม.ต่อไป
นอกจากนั้น ยังได้ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบระบายน้ำคูน้ำแนวถนนวิภาวดีรังสิต รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ กทม. ได้เปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ ตลอดจนช่องทางแจ้งเหตุเพื่อขอรับความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ https://dds.bangkok.go.th./, https://pr-bangkok.com/, Facebook : @BKK.BEST และ X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 02 248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue
เขตบางบอนเร่งตรวจสอบผลกระทบ-หาแนวทางป้องกันปลาหมอคางดำในพื้นที่
นายณันทพงศ์ สินมา ผู้อำนวยการเขตบางบอน กทม. กล่าวถึงการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครและเกษตรกรในพื้นที่เขตบางบอน พบว่า มีเกษตรกร 6 ราย ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง แต่มีการแจ้งจุดพบปลาหมอคางดำในบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ ได้แก่ คลองรางไผ่ คลองรางขี้เหล็ก และคลองหนามแดง โดยสำนักงานเขตฯ มีกำหนดลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพิ่มเติมร่วมกับสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 24 ก.ค. 67 เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งประสานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ) หรือปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้รับคำแนะนำเบื้องต้นจากสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำที่พบการระบาดและในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูปเป็นอาหาร พร้อมสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกร เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือหากมีการแพร่ระบาดในพื้นที่
กทม. ยัน “ค่าล้างแอร์” ไม่ถึง 7,000.- เผยเอกสารราคา รวมค่าอะไหล่ ค่าช่อมแซม และค่าวัสดุอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแล้ว
นายดำรงค์ รื่นสุข ผู้อำนวยการกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. เปิดเผยถึงกรณีมีข้อสังเกตโครงการจ้างเหมาล้างและซ่อมเครื่องปรับอากาศ จำนวน 62 เครื่อง โครงการที่ 6705945237 มีค่าล้างราคาเครื่องละ 7,000 บาท ว่า ข้อสังเกตดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากราคารวมของโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 455,060.30 บาท นั้น เป็นราคาของค่าแรงล้างเครื่อง รวมกับค่าอะไหล่ ค่าช่อมแซม และค่าวัสดุอื่น ๆ ที่เปลี่ยนด้วยแล้ว ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดโครงการได้ที่ https://egp.bangkok.go.th/home/detail/ 67059435237
สำหรับอัตราการจ้างเหมาล้างเครื่องปรับอากาศ จะแตกต่างกันตามขนาดของเครื่อง (บีทียู) ซึ่งเป็นราคาตามท้องตลาดทั่วไป ดังนี้ 1. เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนตั้งพื้นหรือแขวน ขนาด 12,000 บีทียู ค่าแรงล้างเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ราคา 800 บาท ขนาด 18,000 บีทียู ค่าแรงฯ 1,000 บาท ขนาด 36,000 บีทียู ค่าแรงฯ 1,000 บาท ขนาด 38,000 บีทียู ค่าแรงฯ 1,000 บาท ขนาด 44,000 บีทียู ค่าแรงฯ 2,000 บาท ขนาด 50,000 บีทียู ค่าแรงฯ 2,000 บาท และขนาด 60,000 บีทียู ค่าแรงฯ 2,000 บาท 2. เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนชนิดติดผนัง ขนาด 30,000 บีทียู ค่าแรงฯ 1,000 บาท และ 3. เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนชนิด 4 ทิศทาง ขนาด 24,200 บีทียู ค่าแรงฯ 1,500 บาท โดยค่าแรงดังกล่าวยังไม่รวมค่าอะไหล่ ค่าซ่อมแซม และค่าวัสดุอื่น ๆ